พ.ร.บ.กู้ 4 แสนลบ.สะดุด วุฒิสภาแก้สาระสำคัญต้องแจงโครงการให้รัฐสภาพิจารณา

ข่าวการเมือง Monday September 21, 2009 18:00 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ที่ประชุมวุฒิสภา(ส.ว.) พิจารณาร่าง พ.ร.บ.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อฟื้นฟูและเสริมสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจจำนวน 4 แสนล้านบาท ที่คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาเสร็จแล้ว โดยที่ประชุมให้แก้ไขมาตรา 3 เพื่อให้คณะรัฐมนตรีเสนอกรอบการใช้จ่ายเงินกู้ตามพ.ร.บ.นี้ต่อรัฐสภาเพื่อพิจารณาก่อนเริ่มดำเนินการ โดยแสดงรายละเอียดของโครงการที่จะนำเงินกู้ไปใช้จ่าย จากเดิมที่กำหนดให้เสนอรัฐสภาเพื่อรับทราบเท่านั้น

นายกรณ์ จาติกวนิช รมว.คลัง ในฐานะกรรมาธิการร่วมฯ กล่าวต่อที่ประชุมว่า ขอให้คงไว้ตามร่างที่สภาผู้แทนราษฎรเห็นชอบ คือ ให้ครม.เสนอกรอบการใช้จ่ายเงินกู้ตามพ.ร.บ.นี้ต่อรัฐสภาเพื่อทราบ โดยระบุว่าแผนไทยเข้มแข็ง มีเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในทันที เพื่อให้เม็ดเงินลงไปถึงประชาชนรวดเร็ว โดยเฉพาะผู้ประกอบการขนาดเล็กและขนาดกลาง ซึ่งเม็ดเงินจะตามตามพ.ร.ก.กู้เงิน 4 แสนล้านบาท ไปติดๆ ทำให้รัฐบาลต้องเสนอในลักษณะการรายงานให้รัฐสภาเพื่อทราบเท่านั้น

นอกจากนี้ ยังกังวลว่า หากเสนอรัฐสภาเพื่อพิจารณา จะขัดต่ออำนาจหน้าที่สภาในฐานะเป็นฝ่ายนิติบัญญัติ ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ยืนยันว่า หากเสนอให้รัฐสภาเพื่อพิจารณา จะขัดรัฐธรรมนูญมาตรา 171 อย่างไรก็ดี เรื่องการตรวจสอบ รัฐธรรมนูญให้อำนาจฝ่ายนิติบัญญัติในการควบคุมวิธีการบริหารของครม.ไว้ ได้แก่ ยื่นกระทู้ และขอเปิดอภิปรายทั่วไป

หาก ส.ว.ยังยืนยันแก้ไข ทางรัฐบาลก็จะต้องส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย เมื่อส่งศาลรัฐธรรมนูญ ก็เป็นไปได้ว่า ศาลจะต้องดูว่าการแก้ไขนั้น ส่งผลต่อสาระสำคัญของร่างพ.ร.บ.โดยรวมหรือไม่ และถ้าศาลเห็นตามรัฐบาลและกฤษฎีกา ก็จะทำให้ร่างตกไป ซึ่งจะสร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจในระดับที่ไม่สามารถคำนวณได้

ทั้งนี้ไม่ใช่การข่มขู่หรือบีบบังคับ แต่เป็นแนวโน้มข้อกฎหมายที่อาจเป็นไปได้ และยืนยันว่า รัฐบาลมีความจริงใจในการยกร่าง พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าว โดยจะส่งรายละเอียดของโครงการให้ภายหลังวุฒิสภารับหลักการในวาระที่ 1 ซึ่งก็เป็นไปตามที่ปรากฏ มีการตั้งคณะอนุกรรมการขึ้น 5 ชุด ในชั้นกรรมาธิการวิสามัญ และรัฐบาลก็นำข้อเสนอไปพิจารณา และยินดีจะถอนคำแปรญัตติของตนเองที่ให้คงตามร่างเดิมของสภาผู้แทนฯ และยินดีจะเพิ่มว่า "ให้แสดงรายละเอียดของโครงการที่จะนำเงินกู้ไปใช้จ่าย" แต่ขอให้ใช้คำว่า "เสนอให้รัฐสภาเพื่อทราบ" เหมือนเดิม

ด้านนายกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ต้องมองในแง่ของการปฏิบัติได้หรือไม่ได้ ซึ่งเห็นว่าหากต้องเสนอให้รัฐสภาเพื่อพิจารณาแต่ละโครงการ กว่าจะออกจากรัฐบาลมาถึงสภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภาก็ใช้เวลานานกว่าจะใช้เม็ดเงินได้ และหากสภาฯ ไม่เห็นชอบ ก็ต้องกลับไปครม.ใหม่ ซึ่งไม่เคยมี

จากนั้นส.ว. หลายคนที่สงวนคำแปรญัตติได้อภิปราย โดยส่วนใหญ่เห็นด้วยกับร่างที่กมธ.แก้ไข เพียงแต่เสนอปรับปรุงถ้อยคำบางคำ นอกจากนี้ ยังอภิปรายโจมตีกรรมาธิการจากรัฐบาลในเรื่องการสงวนคำแปรญัตติในมาตรา 3 อาทิ พล.ต.ท.มาโนช ไกรวงศ์ ส.ว.สุราษฎร์ธานี นายคำนูณ สิทธิสมาน นายตวง อันทะไชย ส.ว.สรรหา ต่างระบุว่า ที่นายกรณ์ และนายกอร์ปศักดิ์ สงวนคำแปรญัตติ แล้วมาขู่ว่าจะยื่นศาลรัฐธรรมนูญตีความหากวุฒิสภายังยืนยันตามที่กรรมาธิการเสียงส่วนใหญ่แก้ไขนั้น แล้วแต่มุมมองของกฎหมาย แต่คิดว่า โครงการทั้งหลายควรให้รัฐสภาพิจารณา เพราะสภาไม่ได้เป็นเพียงสภาตรายาง การมาขู่ทั้งเรื่องอาจขัดรัฐธรรมนูญ หรืออ้างว่าหากกฎหมายตกไปจะส่งผลต่อเศรษฐกิจมหาศาลนั้น คงไม่เป็นเหตุผล และวุฒิสภาแห่งนี้มาขู่กันไม่ได้ ลองดูจากกฎหมายก่อนหน้านี้ที่วุฒิสภาคว่ำไปหลายฉบับก็เป็นข้อพิสูจน์

นอกจากนั้น การพิจารณาในวาระ 2 เป็นการพิจารณาเป็นรายมาตรา ซึ่งนายคำนูณ สิทธิสมาน ส.ว.สรรหา ได้ขอสงวนคำแปรญัตติในทุกมาตรา เนื่องจากเห็นว่า ร่าง พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าวไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญมาตรา 169 เนื่องจากไม่มีการเสนอรายละเอียดให้ตรวจสอบว่จะนำเงินไปใช้อะไรบ้าง

พร้อมมองว่าแม้ในการพิจารณาวาระ 1 ที่ผ่านมา ส.ว.กว่า 80% จะคัดค้านร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว แต่สุดท้ายก็รับหลักการไปเพื่อที่จะให้มีการแก้ไขในชั้นกรรมาธิการ ซึ่งเป็นไปตามคาดว่ารัฐบาลจะไม่ให้มีการแก้ไขในหลักการของร่าง ซึ่งทำให้วุฒิสภาไม่สามารถควบคุมการใช้งบประมาณได้ ทั้งที่นายกรัฐมนตรีได้กล่าวกลางที่ประชุมวุฒิสภาเมื่อวันที่ 10 ส.ค.ว่าขอให้ส.ว.รับไปก่อนและค่อยแก้ไขในชั้นกรรมาธิการ ซึ่งทำให้ตนเชื่อโดยบริสุทธิ์ว่านี่คือการขอใช้เงินนอกงบประมาณ ที่ชื่อร่างเป็น พ.ร.บ.แต่หัวใจเป็น พ.ร.ก

นายคำนูณ ระบุว่า หากร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ผ่านความเห็นชอบจากวุฒิสภา ก็จะมีการเข้าชื่อ ส.ว.จำนวนหนึ่งเพื่อยื่นเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัยว่าร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ว่าชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือไม่


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ