(เพิ่มเติม) บอร์ดป.ป.ช.ชี้มูลผิดอาญา"สมัคร-นพดล"หนุนเขมรขึ้นทะเบียนเขาพระวิหารฯ

ข่าวการเมือง Tuesday September 29, 2009 18:50 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.)มีมติชี้มูลความผิดนายสมัคร สุนทรเวช อดีตนายกรัฐมนตรี และนายนพดล ปัทมะ อดีตรมว.ต่างประเทศ กรณีการออกแถลงการณ์ร่วมไทย-กัมพูชา เพื่อสนับสนุนให้ประเทศกัมพูชาขึ้นทะเบียนเขาพระวิหารเป็นมรดกโลกโดยไม่ผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภา ซึ่งขัดกับกฎหมายรัฐธรรมนูญ โดยเป็นความผิดตามกฎหมายอาญา และให้ดำเนินการถอดถอนออกจากตำแหน่ง

ส่วนรัฐมนตรีที่เหลือในคณะรัฐมนตรีสมัยนายสมัคร และข้าราชการอีก 6 คน คณะกรรมการ ป.ป.ช.ให้ยกคำร้อง เนื่องจากเห็นว่าไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง

ป.ป.ช.ได้ให้ความเห็นจากการชี้มูลความผิดของนายนพดลว่า การลงนามในแถลงการณ์ร่วมดังกล่าวมีความสุ่มเสี่ยงต่อผลกระทบในเรื่องอาณาเขตของประเทศและผลกระทบทางสังคม นอกจากนี้ ยังเห็นได้ชัดว่านายนพดลกระทำไปโดยรู้อยู่แล้วเป็นอย่างดีในความเสียหาย ซึ่ง ป.ป.ช.อ้างอิงตามที่ศาลรัฐธรรมนูญเคยวินิจฉัยไว้ว่านายนพดล มีการดำเนินการที่ปิดบังอำพรางไม่โปร่งใส เช่น ทั้งที่เสนอว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องที่มีความอ่อนไหวทางการเมืองและความสัมพันธ์ระหว่างไทย-กัมพูชา ซึ่งเป็นเรื่องผลประโยชน์อย่างใหญ่หลวงของประเทศชาติ แต่นายนพดลยังกำชับมิให้หน่วยงานใดให้ข่าวนอกจากกระทรวงการต่างประเทศ

นอกจากนี้ ยังมีพยานหลักฐานแสดงให้เห็นว่านายนพดล มีมูลเหตุจูงใจอย่างอื่นแอบแฝงอยู่ จึงเชื่อได้ว่านายนพดลรู้อยู่แล้วว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องที่มีความสำคัญยิ่งยวดเกินกว่าที่รัฐธรรมนูญ มาตรา 190 วรรค 2 จะให้ฝ่ายบริหารดำเนินการได้โดยปราศจากการตรวจสอบของรัฐสภาที่ประกอบด้วยสมาชิกทั้งฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้าน

"สภาวะสุ่มเสี่ยงต่อผลกระทบในเรื่องอาณาเขตของประเทศไทย และผลกระทบทางสังคมของการลงนามในร่างคำแถลงการณ์ร่วม ตลอดจนความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการลงนามดังกล่าว ทำให้เห็นได้ชัดเจนว่าผู้ถูกกล่าวหาที่ 12(นายนพดล)กระทำไปโดยรู้อยู่แล้วเป็นอย่างดีในความเสียหายดังคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ จึงถือว่าในการปฏิบัติหน้าที่หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบของผู้ถูกกล่าวหาที่ 12 กระทำไปเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ประเทศไทย และคนไทยทุกคน ผู้ถูกกล่าวหาที่ 12 จึงมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157"ป.ป.ช.ระบุ

ส่วนการชี้มูลความผิดของนายสมัคร ระบุว่า ในฐานะที่นายสมัครเป็นหัวหน้ารัฐบาลและผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 ต้องทราบดีถึงความอ่อนไหวของประเด็นที่จะทำให้เกิดสภาวะสุ่มเสี่ยงต่อผลกระทบในเรื่องอาณาเขตและวิกฤติกาณ์ทางสังคม ซึ่งนายสมัครเป็นฝ่ายขอให้นายนพดลดำเนินการเพื่อช่วยเหลือนายฮุนเซนในการเลือกตั้งที่จะมีขึ้นในวันที่ 27 ก.ค.51

"การนำผลประโยชน์ของประเทศชาติมาใช้เป็นเครื่องมือหาเสียงของพรรคการเมืองต่างประเทศอย่างนี้ หากมองถึงสถานะทางการเมืองของผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 ที่ได้รับความไว้พระราชหฤทัยให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีแล้ว เห็นได้ว่าเป็นสิ่งเหลือเชื่อที่จะมีนักการเมืองไทยคนใดจะมีความคิดเช่นนี้ ผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 จึงมีเจตนาร่วมกระทำความผิดกับผู้ถูกกล่าวหาที่ 12" ป.ป.ช.ระบุ

สำหรับรัฐมนตรีที่เข้าร่วมประชุมคณะรัฐมนตรี ครั้งที่ 19/2551 ป.ป.ช.เห็นว่า การรับรู้ข้อเท็จจริงและพฤติการณ์ต่างๆ เป็นการรับรู้ตามที่นายสมัครและนายนพดลแจ้งในที่ประชุมในเวลาอันสั้น จึงไม่น่าจะรู้ถึงข้อเท็จจริงและพฤติการณ์ที่ทำให้คำแถลงการณ์ร่วมเกิดสภาวะสุ่มเสี่ยงต่อผลกระทบในเรื่องอาณาเขตของประเทศไทย หรือมีผลกระทบต่อความมั่นคงของประเทศอย่างกว้างขวางตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ดังนั้น ผู้ถูกกล่าวหาเหล่านี้จึงไม่มีเจตนากระทำความผิด

ขณะที่ผู้ถูกกล่าวหาที่เป็นข้าราชการนั้น ป.ป.ช.ให้ความเห็นว่า ล้วนปฏิบัติงานทางวิชาการและทางเทคนิคในหน้าที่การงานด้วยลักษณะของงานราชการประจำที่เคยปฏิบัติสืบเนื่องกันตลอดมา ไม่ปรากฎว่าได้ล่วงรู้ถึงมูลเหตุจูงใจทางการเมืองของนายสมัครและนายนพดลที่จะช่วยเหลือพรรคการเมืองที่นำโดยนายฮุนเซนในการเลือกตั้งตามที่นายฮุนเซนขอความอนุเคราะห์ ดังนั้นผู้ถูกกล่าวหาเหล่านี้จึงไม่มีเจตนากระทำความผิด

หลังจากนี้ จะส่งมติของ ป.ป.ช.ไปให้ประธานวุฒิสภาเพื่อถอดถอนนายสมัคร และนายนพดล ออกจากตำแหน่งและส่งเรื่องให้อัยการสุงสุดทำเป็นสำนวนส่งต่อให้กับศาลฎีกา แผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เพื่อเอาผิดทางอาญาต่อไป



เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ