เอแบคโพลล์เผย ต.ค.ดัชนีความสุขคนไทยสูงขึ้นจากการแสดงความจงรักภักดี

ข่าวการเมือง Wednesday November 4, 2009 11:01 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

เอแบคโพลล์ เผยดัชนีความสุขของคนไทยประจำเดือน ต.ค.52 อยู่ที่ 7.50 ขยับเพิ่มขึ้นจาก 7.18 ที่ได้จากการสำรวจครั้งก่อนเมื่อเดือน ส.ค.52 ซึ่งดัชนีปรับดีขึ้นทุกตัว โดยเฉพาะความสุขที่เห็นคนไทยแสดงความจงรักภักดี แต่น่าเป็นห่วงเรื่องจิตสำนึกคำนึงถึงความอยู่รอดของประเทศชาติ

ทั้งนี้ ดัชนีความสุขของคนไทยทุกตัวดีขึ้น โดยเฉพาะความสุขที่เห็นคนไทยแสดงความจงรักภักดีสูงถึง 9.84 จากคะแนนเต็ม 10 รองลงมาคือความสุขต่อบรรยากาศของคนในครอบครัวสูงขึ้นจาก 8.44 มาอยู่ที่ 9.00, ความสุขต่อวัฒนธรรมประเพณีสูงขึ้นจาก 8.19 มาอยู่ที่ 8.22, ความสุขต่อสุขภาพใจสูงขึ้นจาก 7.73 มาอยู่ที่ 7.90, ความสุขต่อสุขภาพกายสูงขึ้นจาก 7.69 มาอยู่ที่ 7.77, ความสุขต่อหน้าที่การงานสูงขึ้นจาก 7.63 มาอยู่ที่ 7.67,

ความสุขต่อสภาพแวดล้อมที่พักอาศัยสูงขึ้นจาก 7.50 มาอยู่ที่ 7.64, ความสุขต่อบรรยากาศความสัมพันธ์ของคนในชุมชนสูงขึ้นจาก 7.17 มาอยู่ที่ 7.54, ความสุขต่อสภาวะเศรษฐกิจของตนเองและครอบครัวสูงขึ้นจาก 6.56 มาอยู่ที่ 6.92 และความสุขต่อความเป็นธรรมทางสังคมสูงขึ้นจาก 6.18 มาอยู่ที่ 6.99 ยกเว้นความสุขของประชาชนต่อบรรยากาศทางการเมืองที่ยังต่ำกว่าครึ่งคือได้ 4.74 จากคะแนนเต็ม 10 แต่สูงขึ้นจาก 4.63 มาอยู่ที่ 4.74

"ความสุขของคนไทยที่ค้นพบในการวิจัยครั้งนี้สูงกว่าการสำรวจครั้งก่อนๆ ที่ผ่านมา เพราะคนไทยได้ทราบข่าวในหลวงทรงมีพระพลานามัยแข็งแรงขึ้น การแสดงความจงรักภักดีของไทย และดัชนีความสุขของคนไทยทุกตัวมีแนวโน้มดีขึ้น ยกเว้นบรรยากาศทางการเมือง"นายนพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยความสุขชุมชน ระบุในเอกสารเผยแพร่

สิ่งน่าเป็นห่วงคือจิตสำนึกคำนึงถึงความอยู่รอดของประเทศชาติ โดยกลุ่มพ่อค้าและกลุ่มคนว่างงานที่ส่วนใหญ่จะเห็นแก่ประโยชน์ของตัวเองและครอบครัวต้องมาก่อนประโยชน์ของประเทศชาติ ขณะที่กลุ่มข้าราชการและพนักงานรัฐวิสาหกิจจะมีสัดส่วน 1 ใน 3 ที่เห็นแก่ประโยชน์ของตัวเองและครอบครัวต้องมาก่อนประโยชน์ของประเทศชาติ

"ไม่มีกลุ่มอาชีพใดที่โดดเด่นในเรื่องความรักชาติ เอาความอยู่รอดของประเทศชาติมาก่อนผลประโยชน์ส่วนตัว แม้แต่กลุ่มข้าราชการก็ยังค้นพบเพียงครึ่งหนึ่งเท่านั้น และถ้ามองไปที่กลุ่มพ่อค้าก็พบว่าส่วนใหญ่จะเอาผลประโยชน์ของตนเองและครอบครัวมากกว่าความอยู่รอดของประเทศ กลุ่มคนที่พอจะพึ่งได้ คือ กลุ่มผู้เกษียณอายุที่คำนึงถึงความอยู่รอดของประเทศมากกว่าผลประโยชน์ส่วนตัวแต่ก็เป็นเพียงคนส่วนน้อยเท่านั้น" นายนพดล กล่าว

ทั้งนี้ เอแบคโพลล์ทำการสำรวจเรื่องดังกล่าวในรูปแบบเรียลไทม์เมื่อวันที่ 3 พ.ย.ที่ผ่านมา จากกลุ่มตัวอย่างใน 17 จังหวัดทั่วประเทศ จำนวนทั้งสิ้น 1,245 ครัวเรือน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ