(เพิ่มเติม) นายกฯ เผยจะปรับครม.หรือไม่รอหารือพรรคร่วมรัฐบาล หลังการอภิปรายฯ

ข่าวการเมือง Thursday May 27, 2010 10:38 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ระบุว่า การปรับคณะรัฐมนตรีจะหารือกับพรรคร่วมรัฐบาลอีกครั้งหลังการอภิปรายไม่ไว้วางใจเสร็จสิ้นแล้ว นายกฯ กล่าวถึงเรื่องดังกล่าวจากการที่นายกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ เลขาธิการนายกรัฐมนตรี ได้ทวิตเตอร์ว่า นายกรัฐมนตรีอาจจะมีการปรับ ครม.หลังเสร็จสิ้นการอภิปรายไม่ไว้วางใจ

โดยยอมรับว่าก่อนหน้านี้เคยได้หารือกับพรรคร่วมฯ แต่พอมีเหตุการณ์เกิดขึ้นจึงยังไม่ได้หารือกัน

"ก่อนหน้านี้ทางพรรคร่วมก็ได้มีการปรึกษาหารือกันว่าจะดำเนินการปรับรัฐมนตรีหลังการอภิปรายฯ แต่เมื่อมีเหตุการณ์เกิดขึ้น ตอนนี้ก็มีการอภิปรายฯก็จะมีการพูดคุยกันอีกครั้งหนึ่ง"นายกรัฐมนตรี กล่าว

นายกรัฐมนตรี กล่าวต่อว่า ในส่วนของการอภิปรายไม่ไว้วางใจ เชื่อว่า ทุกฝ่ายจะใช้เวทีทางสภาชี้แจงข้อมูลข้อเท็จจริงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น รวมถึงข่าวลือข่าวปล่อยจำนานมาก ซึ่งเป็นโอกาสดีที่จะใช้เวทีสภาเป็นเวทีในการตรวจสอบ

ส่วนกรณีที่นายจตุพร พรหมพันธุ์ ส.ส.พรรคเพื่อไทย แกนนำกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ที่จะมีการร่วมอภิปรายร่วมกับฝ่ายค้าน ยังไม่ทราบว่านายจตุพรจะร่วมอภิปรายด้วยหรือไม่ ซึ่งอาจจะติดขัดทางข้อกฎหมายตามที่ได้บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ แต่หากนายจตุพรจะมีการอภิปรายจริงก็ต้องรอดูว่าจะนำความจริงมาพูดในสภาหรือไม่ รวมถึงกรณีจะมีการนำคลิปภาพต่างๆ มาเปิดในระหว่างการอภิปรายนั้นคงต้องเป็นหน้าที่ของวิปทั้งสองฝ่ายที่จะนำไปหารือกับประธานสภาฯ ว่ามีความเหมาะสมเพียงใด

กรณีที่ พ.ต.ท.ทักษิณ จะฟ้องศาลโลกเรื่องการยุติการการชุมนุมนั้น เรื่องนี้เป็นยุทธศาสตร์ที่พ.ต.ท.ทักษิณวางไว้ตั้งแต่ต้น แต่ยืนยันว่ารัฐบาลไม่มีเหตุผลอะไรเลยที่จะทำร้ายประชาชน และเชื่อว่าการที่ พ.ต.ท.ทักษิณ จะฟ้องศาลโลกเพื่อหวังผลให้ต่างประเทศเข้ามาแทรกแซงกิจการภายในของไทย แต่ทุกอย่างขึ้นอยู่กับข้อเท็จจริง

รัฐบาลยืนยันว่า ก่อนหน้านี้รัฐบาลไม่เคยกล่าวผู้ชุมนุมที่มาชุมนุมด้วยความบริสุทธิ์ใจ ซึ่งต้องยอมรับว่ากลุ่มผู้ชุมนุมบางส่วนอาจจะตกเป็นเครื่องมือของพ.ต.ท.ทักษิณหรือกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบที่หวังผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลง

ทั้งนี้ หวังว่าการที่จะมีการชี้แจงกับทูตานุกทูตในวันเสาร์นี้ จะเป็นการพิสูจน์ข้อเท็จจริง รวมถึงพร้อมจะตอบคำถามกับทูตและสื่อมวลชนต่างประเทศด้วย

ส่วนกรณีที่ ส.ว.สหรัฐอเมริกาจะออกมาสนับสนุนแนวทางการปรองดองนั้น ถือว่าเป็นการยืนยันถึงการสนับสนุนตามแผนการปรองดองของรัฐบาลไทย และเป็นโอกาสดีที่จะมีโอกาสชี้แจงต่อนานาชาติด้วย

ทั้นนี้ เงื่อนไขในการยุบสภานั้น ยังคงยืนยันในหลักการเดิมว่ารัฐบาลต้องการทำให้บ้านเมืองเกิดความสงบสุขและให้ทุกฝ่ายเข้าสู่กระบวนการปรองดองก่อน แต่ขณะนี้ยอมรับว่ายังมีบางคนที่ยังประกาศตัวชัดเจนว่ายังต้องการต่อสู้ในรูปแบบต่างๆ ซึ่งเรื่องนี้เป็นเรื่องยากที่จะนำไปสู่ความปรองดองได้

ทั้งนี้ สิ่งที่รัฐบาลจะดำเนินการตามแผนปรองดองเป็นสิ่งที่สำคัญทีสุด คือ การทำพิสูจน์ข้อมูลขี้อเท็จจริงจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และนอกเหนือจากนี้ ขั้นตอนของกระบวนการต่างๆ เช่นการปฏิรูปสื่อ หรือการลดปัญหาความเดือร้อนในสังคมก็จะดำเนินการต่อไป

นายกฯ กล่าวว่า อยากให้ทุกฝ่ายร่วมมือและทำความเข้าใจซึ่งกันและกันในการนำพาบ้านเมืองกลับสู่ภาวะปกติ และเมื่อมาตรการต่างๆออกมา ทุกคนก็ต้องให้ความร่วมมือ แต่ยังยอมรับว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจยังถือเป็นหน่วยงานหลักที่ยังต้องดูแลรักษาความปลอดภัยให้บ้านเมือง


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ