นายกฯ ย้ำจุดยืนค้านขึ้นทะเบียนเขาพระวิหาร ลุ้นคกก.มรดกโลกเลื่อนพิจารณา

ข่าวการเมือง Wednesday July 28, 2010 15:44 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ย้ำจุดยืนว่ารัฐบาลไทยจะคัดค้านหากคณะกรรมการมรดกโลกมีการพิจารณาเรื่องของกรณีที่ทางกัมพูชาจะเสนอวาระในการเข้าไปบริหารจัดการพื้นที่โดยรอบปราสาทเขาพระวิหาร ทั้งนี้ยอมรับว่ามีความเป็นไปได้ที่รัฐบาลอาจจะจำเป็นต้องมีการทบทวนการเข้าร่วมการเป็นสมาชิกภาคีคณะกรรมการมรดกโลก ภายใต้องค์การการศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ(ยูเนสโก)

"โดยรวมเรายืนยันจุดยืนเดิม โดยย้ำให้ทางคุณสุวิทย์(คุณกิตติ รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม) เดินหน้าคัดค้านวาระนี้เข้าที่ประชุม หากมีการพิจารณาเราจะคัดค้านอย่างชัดแจ้ง ถ้ามีการลงมติ เราจะไม่เข้าร่วมการลงมติ และถ้าหากมีปัญหาเราจะทบทวนการเป็นภาคีคณะกรรมการมรดกโลก" นายกรัฐมนตรี กล่าว

ทั้งนี้ จากการพุดคุยกับ รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมา พบว่าข้อเสนอของทางกัมพูชายังมีหลายจุดที่ทำให้รัฐบาลไทยไม่สามารถยอมรับได้ เพราะมีการแนบแผนผังของพื้นที่ที่ขึ้นทะเบียนเข้าสู่การพิจารณาด้วย ซึ่งในขณะนี้เองนายสุวิทย์เองยังเดินหน้าที่จะเจรจาและทำความเข้าใจกับคณะกรรมการมรดกโลกต่อไป โดยในส่วนของรัฐบาลไทยได้ยื่นข้อเสนอที่จะให้มีการขึ้นทะเบียนร่วมกัน 2 ประเทศ ซึ่งเป็นสิ่งที่เราจะแสดงจุดยืนในวาระนี้ด้วย

พร้อมกันนี้ นายกรัฐมนตรีได้เรียกร้องให้สมาชิกคณะกรรมการมรดกโลกทุกคนได้คำนึงถึงเจตนารมย์ในการดำเนินงานของคณะกรรมการมรดกโลก ที่ควรจะต้องทำหน้าที่เป็นองค์กรที่สร้างความเข้าใจและคำนึงถึงวัฒนธรรมของแต่ละประเทศ ไม่ใช่องค์กรที่เพิ่มความตึงเครียดและเพิ่มความขัดแย้ง

อย่างไรก็ตาม สำหรับแนวความคิดที่จะทบทวนการเป็นประเทศภาคีสมาชิกฯ ยังจำเป็นต้องใช้เวลา เพราะตามขั้นตอน หากมีการถอนตัวต้องผ่านกระบวนการทางรัฐสภา ซึ่งกว่าจะมีผลก็อาจจะนานถึง 1 ปี แต่ผลกระทบที่จะตามมาคือ ทางประเทศไทยจะไม่สามารถขอขึ้นทะเบียนสถานที่สำคัญเป็นมรดกโลกได้อีก แต่นายกรัฐมนตรียังหวังว่าทางคณะกรรมการมรดกโลกจะเลื่อนการพิจารณาในวาระนี้ออกไปก่อน

นายอภิสิทธิ์ กล่าวอีกว่า ได้มีการสอบถาม รมว.กลาโหมถึงสถานการณ์ตามแนวชายแดนไทย-กัมพูชาในขณะนี้ โดยได้รับคำยืนยันว่าทางเจ้าหน้าที่ทหารได้มีการตรึงกำลังอย่างเพียงพอ แต่นายกรัฐมนตรียอมรับว่ามีความเป็นกังวลว่าเรื่องนี้จะเพิ่มความตึงเครียดตามแนวชายแดนมากยิ่งขึ้น ซึ่งเชื่อว่าทางกัมพูชาเองก็ต้องการจะหลีกเลี่ยงไม่ต้องการให้เกิดการปะทะกันเกิดขึ้น

ส่วนการทำความเข้าใจกับประชาชนในประเทศนั้น รัฐบาลพยายามทำความเข้าใจกับทุกฝ่ายเพื่อให้ทุกคนเข้าใจถึงความจำเป็นที่ต้องมีการรักษาอธิปไตยของไทย โดยจะใช้ช่องทางทุกวิถีทางในการทำความเข้าใจกับเพื่อนบ้าน รวมทั้งหลีกเลี่ยงไม่ให้เกิดความรุนแรงเกิดขึ้น

"เรื่องนี้รัฐบาลไม่มีผลประโยชน์อื่นใดทั้งสิ้น นอกเหนือจากการรักษาความเป็นอธิปไตยของไทย" นายกรัฐมนตรี ระบุ

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ