In Focusย้อนรอย 65 ปีโศกนาฏกรรมฮิโรชิม่า-นางาซากิ จากบาดแผลในอดีตสู่บทเรียนแห่งอนาคต

ข่าวต่างประเทศ Wednesday August 11, 2010 14:40 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

เมื่อวันที่ 6 และ 9 สิงหาคมที่ผ่านมา เป็นวันครบรอบ 65 ปีของเหตุการณ์ทิ้งระเบิดปรมาณูที่เมืองฮิโรชิม่าและเมืองนางาซากิของญี่ปุ่น ซึ่งถือเป็นการสังหารหมู่ที่โหดร้ายและรุนแรงที่สุดครั้งหนึ่งในหน้าประวัติศาสตร์โลก

ญี่ปุ่นได้จัดงานรำลึกถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ณ อนุสรณ์สถานสวนสันติภาพ เมืองฮิโรชิมา เมื่อวันที่ 6 สิงหาคมที่ผ่านมา โดยมีการลั่นระฆังในเวลา 08.15 น. ซึ่งเป็นเวลาที่มีการทิ้งระเบิด ทุกคนภายในงานต่างๆยืนสงบนิ่งเป็นเวลา 1 นาที ปีนี้มีประชาชนและตัวแทนจากกว่า 70 ประเทศเข้าร่วมพิธีถึง 55,000 คน รวมทั้งนายบัน กี-มูน เลขาธิการสหประชาชาติ (ยูเอ็น) และนายจอห์น รูส ทูตสหรัฐประจำญี่ปุ่น นับเป็นครั้งแรกที่สหรัฐและยูเอ็นส่งผู้แทนเข้าร่วม นอกจากนั้นยังมีอังกฤษและฝรั่งเศสที่ส่งตัวแทนเข้าร่วมเป็นครั้งแรกเช่นกัน

นายกรัฐมนตรี นาโอโตะ คัง ของญี่ปุ่น กล่าวว่า มนุษยชาติต้องไม่ให้ความหวาดกลัวและความทุกข์เข็ญจากระเบิดปรมาณูเกิดขึ้นอีก และญี่ปุ่นจะทำหน้าที่เป็นผู้นำการรณรงค์ให้โลกปลอดอาวุธนิวเคลียร์ ในฐานะที่เป็นชาติเดียวที่ถูกโจมตีด้วยระเบิดปรมาณูในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง

หลายฝ่ายถือว่าการที่สหรัฐอเมริกาในฐานะ “ผู้กระทำ" ส่งตัวแทนมาร่วมพิธีถือเป็นนิมิตหมายที่ดี อย่างไรก็ตาม นี่อาจเป็นเพียงการหว่านพืชหวังผลเนื่องจากสหรัฐกำลังพยายามหาทางแก้ปัญหาการย้ายฐานทัพสหรัฐในโอกินาว่าอยู่ เห็นได้ชัดจากการที่สหรัฐยังคงไม่เอ่ยคำขอโทษซึ่งเป็นสิ่งที่ชาวญี่ปุ่นต้องการมาตลอด โดยนายฟิลิป โครวลีย์ โฆษกกระทรวงต่างประเทศสหรัฐ ถึงขั้นเขียนลงในทวิตเตอร์ว่า “สหรัฐไม่มีอะไรต้องขอโทษ" นอกจากนั้นนายจอห์น รูส ทูตสหรัฐประจำญี่ปุ่น ยังไม่เดินทางไปร่วมพิธีรำลึกที่นางาซากิ โดยให้เหตุผลว่าติดภารกิจ ซึ่งอาจมองได้ว่า ดินแดนแห่งเสรีภาพอาจจะไม่ได้ให้ความสำคัญกับเหตุการณ์นี้อย่างจริงจัง และไม่ได้ตระหนักว่าได้กระทำสิ่งที่ไม่สมควรลงไป

อย่างไรก็ดี ชาวญี่ปุ่น รวมถึงผู้รอดชีวิตจากเหตุระเบิดปรมาณูบางรายมองว่า แม้ว่า ทูตสหรัฐจะไม่ได้เดินทางมาร่วมงานที่จัดขึ้นที่นางาซากิ แต่การที่สหรัฐส่งตัวแทนมาร่วมงานเป็นครั้งแรกได้นั้น ก็ถือเป็นสัญญาณที่ดี และหวังว่า สหรัฐจะส่งตัวแทนมาร่วมงานรำลึกที่นางาซากิในพิธีที่จะจัดขึ้นครั้งต่อๆไป เพราะการมาร่วมงงานด้วยตนเอง จะได้เห็นสภาพความเป็นจริงภายในเมืองซึ่งถูกระเบิดปรมาณูถล่ม

ญี่ปุ่นคงยากที่จะลืมเลือนเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นได้ เราขอพาท่านย้อนรอยไปกับอีกฉากของสงครามและต้นตออาวุธสังหารที่ทำลายล้างชีวิตและความเป็นอยู่ในแดนซากุระ

กำเนิดอาวุธสังหาร

ระหว่างที่สงครามโลกครั้งที่ 2 กำลังดำเนินไปอย่างดุเดือดนั้น สหรัฐอเมริกา อังกฤษ และแคนาดา ได้ร่วมกันพัฒนาระเบิดปรมาณูแบบลับๆ ภายใต้โครงการแมนฮัตตัน (Manhattan Project) โดยการนำของ เจ. โรเบิร์ต ออพเพนไฮเมอร์ นักฟิสิกส์ชาวอเมริกัน ซึ่งมีนายพลเลสลี่ อาร์. โกรฟส์ ควบคุมดูแล หลังจากที่ได้ข่าวว่านาซีเยอรมันกำลังพยายามพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์เช่นกัน โครงการพัฒนาอาวุธสังหารจึงก่อตัวขึ้นในปี พ.ศ.2482 ในฐานะโครงการวิจัยขนาดเล็ก จนในที่สุดมีการจ้างแรงงานกว่า 130,000 คน และใช้เงินลงทุนเกือบ 2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในขณะนั้น

เวลาล่วงเลยผ่านไปจนกระทั่งวันที่ 16 กรกฎาคม พ.ศ.2488 กองทัพสหรัฐตัดสินใจเริ่มปฏิบัติการทรินิตี้ (Trinity) เพื่อทำการทดสอบอาวุธสังหารที่ใช้แรงงานและแรงเงินจำนวนมหาศาลในการพัฒนาขึ้นมา บรรดาผู้มีส่วนร่วมในโครงการแมนฮัตตันต่างมารวมตัวกันที่ทะเลทรายซึ่งอยู่ห่างจากเมืองโซคอร์โร รัฐนิวเม็กซิโก ไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ราว 50 กิโลเมตร จากการทดสอบพบว่าแรงระเบิดของระเบิดปรมาณูก่อให้เกิดความร้อนมหาศาล จนทำให้ทรายในทะเลทรายหลอมละลายกลายเป็นแก้วปกคลุมไปทั่วบริเวณ แรงระเบิดประมาณได้ว่ารุนแรงเท่าระเบิดไดนาไมต์ 67 ล้านแท่ง หรือทีเอ็นที 20 กิโลตัน

เดิมทีสหรัฐอเมริกาตั้งใจใช้ระเบิดปรมาณูกับนาซีเยอรมัน แต่ในเวลานั้นนาซีพ่ายแพ้สงครามแล้ว สงครามในยุโรปสิ้นสุดลงแล้ว แต่สงครามกับญี่ปุ่นในมหาสมุทรแปซิฟิกยังคงดำเนินต่อไปอย่างดุเดือด

ญี่ปุ่นจึงตกเป็นเป้าหมายใหม่ของอาวุธสังหารชิ้นนี้

ฝันร้ายที่ฮิโรชิม่า-นางาซากิ

สหรัฐอเมริกาอ้างว่าญี่ปุ่นไม่ยอมจำนน และการสู้รบต่อไปรังแต่จะทำให้ทั้งสองฝ่ายสูญเสียชีวิตเป็นจำนวนมหาศาล จึงจำเป็นต้องยุติสงครามอย่างเด็ดขาดด้วยอาวุธทรงอานุภาพ เรือยูเอสเอส อินเดียนาโพลิส (USS Indianapolis) บรรทุกระเบิดเดินทางจากซานฟรานซิสโกไปยังเกาะทิเนียน ซึ่งเป็นฐานทัพอากาศที่ใหญ่ที่สุดในโลก เพื่อเตรียมนำไปทิ้งที่ฮิโรชิม่า นาวาเอกพอล ทิบเบ็ตส์ ในฐานะผู้บัญชาการหน่วยทิ้งระเบิด ตัดสินใจเป็นผู้ขับเครื่องบินทิ้งระเบิดที่เขาตั้งชื่อว่า “อีโนล่า เกย์" (Enola Gay) ด้วยตัวเอง

วันที่ 6 สิงหาคม พ.ศ.2488 เครื่องบินอีโนล่า เกย์ บินเหนือเมืองฮิโรชิม่า และทิ้งระเบิดปรมาณูหนัก 4 ตันชื่อ “ลิตเติล บอย" (Little Boy) ลงสู่เบื้องล่าง ระเบิดทำงานก่อนถึงพื้นตามที่กำหนดไว้ แรงระเบิดทำให้เกิดลูกไฟขนาดมหึมาที่ปล่อยความร้อนสูงถึง 4,000 องศาเซลเซียส ทุกอย่างที่อยู่ในรัศมีต่างหลอมละลายหรือไม่ก็กลายเป็นเถ้าถ่าน ขณะที่ความประหวั่นพรั่นพรึงและความโศกเศร้ายังไม่ทันจางหาย ในวันที่ 9 สิงหาคม หรืออีกเพียง 3 วันให้หลัง สหรัฐอเมริกาก็ทิ้งระเบิดประมาณูลูกที่สองชื่อ “แฟต แมน" (Fat Man) ใส่เมืองนางาซากิ การสังหารหมู่ทั้งสองครั้งทำให้มีผู้เสียชีวิตรวมกันกว่า 200,000 คน ซึ่งเกือบทั้งหมดเป็นพลเรือน

บาดแผลหลังสงคราม

ความสูญเสียอย่างใหญ่หลวงที่เกิดขึ้นทำให้ญี่ปุ่นประกาศยอมแพ้ในวันที่ 15 สิงหาคม พ.ศ. 2488 และลงนามในตราสารประกาศยอมแพ้สงครามมหาสมุทรแปซิฟิกอย่างเป็นทางการในวันที่ 2 กันยายน พ.ศ. 2488 ในที่สุดสงครามโลกครั้งที่ 2 ก็สิ้นสุดลง แต่บาดแผลที่เกิดขึ้นยากจะเยียวยา ญี่ปุ่นต้องใช้เวลาไม่น้อยในการฟื้นฟูบ้านเรือนที่เสียหายอย่างหนัก ที่สำคัญคือมีชาวญี่ปุ่นผู้รอดชีวิตนับแสนคนที่ต้องทนทุกข์ทรมานแสนสาหัสเนื่องจากการได้รับสารกัมมันตรังสี หลายคนเป็นโรคมะเร็ง ขณะที่อีกหลายคนเกิดความผิดปกติทางพันธุกรรมจนทำให้ลูกหลานที่เกิดมามีความพิการ

ตัวอย่างอันโด่งดังที่แสดงให้เห็นถึงความโหดร้ายของการสังหารหมู่ผู้บริสุทธิ์ครั้งนี้คือ เด็กหญิงที่ชื่อ ซาดาโกะ ซาซากิ เธออายุ 2 ขวบตอนระเบิดลงที่ฮิโรชิม่า หลังจากนั้น 9 ปีเธอเริ่มมีอาการป่วย แพทย์วินิจฉัยว่าเป็นโรคลูคิเมีย เธอได้แต่อยู่อย่างซึมเศร้าที่โรงพยาบาล จนเพื่อนรักของเธอนำกระดาษมาให้พับนกกระเรียน เนื่องจากมีความเชื่อว่าการพับนกกระเรียนได้ถึง 1,000 ตัวจะทำให้หายจากอาการป่วย หลังจากนั้นซาดาโกะตั้งใจพับนกกระเรียนอย่างเต็มที่ แต่แล้วเธอก็จากไปขณะพับนกได้แค่ 644 ตัว หลังการจากไปของเธอ เพื่อนๆได้ช่วยกันพับนกจนครบ 1,000 ตัวและใส่ลงไปในโลงศพของเธอ เมื่อเรื่องของซาดาโกะแพร่ออกไป ได้มีการบริจาคเงินสร้างอนุสาวรีย์เพื่อรำลึกถึงซาดาโกะและเด็กๆ ที่เสียชีวิตจากระเบิดปรมาณู อนุสาวรีย์ดังกล่าวตั้งอยู่ใจกลางสวนสาธารณะสันติภาพฮิโรชิม่า เป็นรูปของซาดาโกะกำลังยืน มือทั้งสองข้างชูขึ้นไปบนฟ้า ในมือมีนกกระเรียนสีทอง

ระเบิดปรมาณูไม่ได้ส่งผลกระทบต่อญี่ปุ่นเท่านั้น แต่ยังสร้างความประหวั่นพรั่นพรึงให้กับทั่วโลก เนื่องจากแต่ละประเทศตระหนักแล้วว่ามีอาวุธที่น่ากลัวอยู่ในโลกนี้ ประเทศที่มีอาวุธนิวเคลียร์อยู่ในครอบครองก็เกรงว่าประเทศอื่นจะพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ขึ้นมาบ้าง ส่วนประเทศที่ไม่มีอาวุธนิวเคลียร์ในครอบครองก็หวาดกลัวว่าจะถูกคุกคามจากประเทศที่มีอาวุธนิวเคลียร์ กล่าวได้ว่าการทิ้งระเบิดที่ฮิโรชิม่าและนางาซากิทำให้ประชาคมโลกไม่สามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างสนิทใจอีกต่อไป

บทเรียนแห่งอนาคต

ปัจจุบันประเทศที่ครอบครองอาวุธนิวเคลียร์ประกอบด้วยสหรัฐอเมริกา รัสเซีย ฝรั่งเศส อังกฤษ จีน อิสราเอล อินเดีย และปากีสถาน โดยทั้งหมดมีอาวุธนิวเคลียร์อยู่ในประจำการรวมกันเกือบ 10,000 ลูก ส่วนประเทศล่าสุดที่เชื่อกันว่าน่าจะมีอาวุธนิวเคลียร์อยู่ในครอบครองคือเกาหลีเหนือ นอกจากนั้นยังมีอีกหลายประเทศที่ต้องสงสัยว่ากำลังทำการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์อย่างอิหร่านและพม่า เป็นต้น เมื่อพิจารณาจากข้อมูลดังกล่าวแล้ว ดูเหมือนว่าความฝันที่จะเห็นโลกที่ปราศจากอาวุธนิวเคลียร์คงยังอีกยาวไกล

เราก็ได้แต่หวังว่าพิธีที่ญี่ปุ่นจัดขึ้นทุกปีจะไม่เป็นเพียงแค่การระลึกถึงความสูญเสียในอดีต แต่จะเป็นเครื่องเตือนใจสำหรับอนาคตว่าเหตุการณ์เช่นนี้ไม่ควรเกิดขึ้นอีก เพราะไม่ว่าใครก็ไม่สมควรถูกกระทำอย่างโหดร้ายทารุณเช่นนี้


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ