(เพิ่มเติม) ครม.ไฟเขียวแก้บาทแข็ง เก็บภาษีบอนด์-เสริมสภาพคล่อง-หนุนทำฟอร์เวิร์ด

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday October 12, 2010 14:22 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายกรณ์ จาติกวณิช รมว.คลัง แถลงว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.)มีมติเห็นชอบมาตรการเพื่อลดผลกระทบจากการแข็งค่าของเงินบาท แบ่งเป็น 3 มาตรการย่อย 1.มาตรการชะลอ capital inflow คือการยกเลิกยกเว้นการจัดเก็บภาษี 15% จากกำไรและดอกเบี้ยในพันธบัตรที่ถือโดยนักลงทุนต่างชาติที่เป็นธุรกรรมใหม่ ซึ่งครอบคลุมพันธบัตรรัฐบาลและรัฐวิสาหกิจ และธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)

2.มาตรการส่งเสริม capital outflow ด้วยการ ให้หน่วยงานรัฐบาลและรัฐวิสาหกิจเร่งเบิกจ่ายงบลงทุนที่ใช้เงินตราต่างประเทศและจัดซื้อเงินตราต่างประเทศล่วงหน้า(ฟอร์เวิร์ด)

และ 3.มาตรการช่วยเหลือเอสเอ็มอีผู้ส่งออกที่ได้รับผลกระทบ โดยในส่วนของมาตรการเปิดช่องทางการทำฟอร์เวิร์ดนั้น จะให้ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย(เอ็กซิมแบงก์) ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย(ibank) ธนาคารเพื่อวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม(SME Bank) และ ธนาคารกรุงไทย(KTB) สนับสนุนให้ทำประกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนให้กับผู้ส่งออกรายย่อยรายละไม่เกิน 500,000 เหรียญสหรัฐ(ประมาณ 15 ล้านบาท)ในการทำธุรกรรมกับสถาบันการเงินของรัฐ รวมทั้งทำฟอร์เวิร์ดในอัตราแลกเปลี่ยนที่ดีขึ้น และอนุมัติได้ใน 3 วัน ระยะเวลาโครงการ 1 ปี

นอกจากนั้น บรรษัทค้ำประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.)จะเปิดโครงการสนับสนุนหลักประกันในการทำฟอร์เวิร์ดกับธนาคารพาณิชย์ ค้ำประกันตั๋วสัญญาที่ใช้เป็นหลักประกันในการทำฟอร์เวิร์ดเพื่อให้ผู้ส่งออกมีหลักประกันเพิ่มเติมในการทำฟอร์เวิร์ด โดยเอสเอ็มอีที่ส่งออกจ่ายค่าธรรมเนียมการค้ำประกันเพียง 0.75%

ส่วนมาตการเพิ่มสภาพคล่อง ก็จะทำให้เอ็กซิมแบงก์, SME Bank, ibank, KTB และ ธนาคารออมสิน ในโครงการสินเชื่อเพื่อช่วยเหลือ SME ที่ส่งออกผ่าน SFIs โดยมีโครงการ packing credit วงเงิน 5 พันล้านบาท โดยบสย.จะค้ำประกันหากผู้ส่งออกไม่มีหลักประกัน , โครงการเสริมสภาพคล่องวงเงิน 1 หมื่นล้านบาท โดยบสย.จะค้ำประกัน 50% ของวงเงินที่ขอสินเชื่อเพิ่มเติมหากผู้ส่งออกไม่มีหลักประกัน วงเงินสินเชื่อต่อรายไม่เกิน 10% ของมูลค่าส่งออก 3 เดือนที่ผ่านมา ทั้งนี้ไม่เกินรายละ 5 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ยพิเศษ MLR ของธนาคารออมสิน -1.5% ระยะเวลา 2 ปี หลังจากนั้นเป็นอัตราปกติ ชำระหนี้คืนได้ภายใน 5 ปี

และโครงการสินเชื่อเงินเหรียญสหรัฐเพื่อเอสเอ็มอีที่ส่งออก วงเงิน 200 ล้านเหรียญสหรัฐ รายละไม่เกิน 300,000 เหรียญสหรัฐ อัตราดอกเบี้ย Libor +3% ระยะเวลา 1 ปี อนุมัติได้ใน 3 วัน

นายกรณ์ กล่าวว่า มาตรการทั้งหมดยังไม่กำหนดเวลาว่าจะสิ้นสุดเมื่อใด ส่วนมาตรการที่เกี่ยวข้องกับธนาคารจะมีผลทันที ขณะที่มาตรการภาษีหัก ณ ที่จ่าย จะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่พรุ่งนี้


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ