Analysis: รีพับลิกันส่อเค้าคว้าชัยครั้งใหญ่ศึกเลือกตั้งกลางเทอมสหรัฐ แต่ปัญหาเดิมๆยังคงค้างคาอยู่

ข่าวต่างประเทศ Tuesday November 2, 2010 14:03 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

หลังจากที่ตัวเลขอัตราว่างงานยังอยู่ในระดับสูงและเศรษฐกิจซบเซา ประชาชนชาวอเมริกันเริ่มไม่พอใจกับสถานการณ์ที่เป็นอยู่มากขึ้นเรื่อยๆ รวมทั้งต่อต้านการกระทำที่ไม่รับผิดชอบ ส่งผลให้มีการคาดการณ์ว่า ชาวอเมริกันจำนวนมากจะแห่ไปใช้สิทธิลงคะแนนเสียงในการเลือกตั้งกลางเทอมของสหรัฐที่เปิดฉากขึ้นในวันนี้ (2 พ.ย.) ด้วยหมายมั่นปั้นมือว่า จะเขี่ยพรรคเดโมแครตให้ตกขอบเวทีเลือกตั้ง

สมาชิกพรรครีพับลิกันมีแนวโน้มว่า จะได้ครองเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎร และได้ที่นั่งมากขึ้นในวุฒิสภา ในขณะที่สมาชิกของรีพับลิกันอาจจะไม่สามารถรวบรวมคะแนนเสียงเพื่อครองเสียงข้างมากในสภาคองเกรส เพื่อที่จะปูทางไปสู่การขวางการออกฎหมายของพรรคเดโมแครตได้อย่างสะดวกสบาย

นักเศรษฐศาสตร์มองว่า ผู้มีสิทธิลงคะแนนเสียงต่างเหนื่อยหน่ายกับอัตราว่างงานที่อยู่ในระดับสูงอันเนื่องมาจากภาวะเศรษฐกิจถดถอยครั้งรุนแรง นับตั้งแต่ทศวรรษที่ 19 พร้อมกับกล่าวโทษว่า ตัวเลขว่างงานที่อยู่ในระดับสูงนี้เป็นผลงานของสภาคองเกรสในยุคเดโมแครตบริหารงาน ขณะที่เศรษฐกิจฟื้นตัวขึ้นจากเหวลึกของภาวะถดถอย แต่การฟื้นตัวของเศรษฐกิจนั้นก็เปราะบางเสียเหลือเกิน และอัตราว่างงานก็มีแนวโน้มว่า จะยังอยู่ที่ระดับสูงต่อไปในอีกไม่กี่ปีข้างหน้านี้

โพลล์ของยูเอสเอ ทูเดย์และแกลลัพ ชี้ว่า พรรครีพับลิกันมีคะแนนนำเหนือพรรคเดโมแครต และคาดว่าจะสามารถกวาดคะแนนเสียงที่จำเป็นสำหรับการครองเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐได้กว่า 40 คะแนนเสียง

ผลการสำรวจพบว่า ผู้มีสิทธิลงคะแนนเสียง 52-55% นิยมชมชอบผู้สมัครจากพรรครีพับลิกัน ขณะที่พรรคเดโมแครตได้รับคะแนนนิยมเพียง 40-42%

โพลล์แกลลัพชี้ว่า คะแนนสนับสนุนสภาคองเกรสนั้นอยู่ที่ระดับต่ำเป็นประวัติการณ์ โดยชาวอเมริกันเพียง 21% เท่านั้นที่พอใจกับการทำงานของคองเกรส อีก 22% พอใจกับสถานการณ์ที่เป็นอยู่ในประเทศขณะนี้

ผู้เชี่ยวชาญมองว่า คะแนนนิยมในตัวโอบามาที่ร่วงลงมาอยู่ที่ 45% จากระดับสูงสุดที่ใกล้กับระดับ 70% ในช่วงหลังจากที่โอบามาเข้ารับตำแหน่งได้ไม่นานนักนั้น จะส่งผลกระทบต่อฐานเสียงของเดโมแครตในสภาคองเกรส

ผู้ลงสมัครรับเลือกตั้งของเดโมแครตหลายรายตีตัวออกห่างจากโอบามา แม้ว่าคะแนนนิยมของผู้นำสหรัฐจะไม่ได้อยู่ที่ระดับต่ำเหมือนกับอดีตผู้นำคนก่อนในช่วงหมดวาระการดำรงตำแหน่ง

ความโกรธเคืองนี้ไม่ได้พุ่งเป้าไปที่พรรคเดโมแครตเท่านั้น แต่ยังแพร่กระจายไปในวงกว้างอีกด้วย

โพลล์ของรัสมุสเซนชี้ว่า ผู้มีสิทธิลงคะแนนเสียง 65% คิดว่า การยุบสภาคองเกรสน่าจะดีกว่าการปล่อยให้คองเกรสยังคงสามารถทำหน้าที่ต่อไปได้ แม้ว่าโอกาสที่จะเกิดเหตุการณ์ดังกล่าวนั้นจะไม่มีเลยก็ตาม

จอห์น ฟอร์เทียร์ สมาชิกของสถาบันวิสาหกิจอเมริกัน กล่าวว่า จริงๆแล้วเราอยู่ในสถานการณ์ที่จัดได้ว่าแปลกประหลาด เมื่อพรรครีพับลิกันซึ่งไม่ได้รับความนิยมสักเท่าไหร่ กลับมีสิทธิที่จะชนะการเลือกตั้งอย่างท่วมท้น

สภาคองเกรสหน้าใหม่กับปัญหาเดิมๆ

แม้ว่าจะมีการคาดการณ์กันในวงกว้างว่า การที่พรรครีพับลิกันมีแนวโน้มจะได้ที่นั่งในสภามากขึ้นเพราะอีกพรรคยังไม่สามารถกระตุ้นเศรษฐกิจได้นั้น การทำงานของสภาในระยะกลางนั้น ก็คงไม่มีการเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมมากนัก

ผู้เชี่ยวชาญมองว่า คองเกรสจะยิ่งต้องถกเถียงกันมากยิ่งขี้น และคองเกรสยุคนี้ก็เป็นสภาที่มีความแตกแยกกันมากที่สุดในรอบหลายปีที่ผ่านมาเลยทีเดียว

ดาร์เรล เอ็ม เวสท์ รองประธานและผู้อำนวยการสถาบันบรู๊กกิ้งฝ่ายการศึกษา กล่าวว่า ต่อไปการผลักดันเรื่องใดๆให้ผ่านการพิจารณาของสภาคองเกรสนั้นคงจะเป็นเรื่องที่ลำบาก รีพับลิกันคงจะขวางทางและทำให้เจ้าหน้าที่ย่ำแย่ไปตามๆกัน แม้ว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น คองเกรสคงจะไม่ได้รับความนิยมต่อไป และสภาคองเกรสชุดใหม่ก็คงจะต้องเอาใจประชาชนผู้มีสิทธิลงคะแนนเสียง หากสภาพเศรษฐกิจยังไม่ดีขึ้น

จริงๆแล้ว อัตราว่างงานมีแนวโน้มที่จะอยู่ที่ระดับสูงต่อไปอีกหลายปี นักเศรษฐศาสตร์บางรายมองว่า ตัวเลขว่างงานอาจจะสูงค้างเติ่งต่อไปอีกถึง 10 ปี ขณะที่กองทุนการเงินระหว่างประเทศคาดการณ์ว่า อัตราว่างงานจะอ่อนตัวลงมาอยู่ที่ระดับ 8% เท่านั้นภายในปี 2556 ซึ่งถือว่าเป็นสถิติที่อยู่ห่างไกลจากระดับก่อนที่จะเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยอย่างมาก

เวสท์กล่าวต่อไปว่า ผู้มีสิทธิลงคะแนนเสียงนั้น ให้ความสนใจไปที่ผลของงาน หากสมาชิกหน้าใหม่ที่ครองเสียงข้างมากในสภาคองเกรสไม่สามารถทำงานได้ตามที่ประชาชนฝากความหวังไว้ สภาคองเกรสหน้าใหม่ก็คงจะไม่ได้รับความนิยมเหมือนกับสภาคองเกรสชุดปัจจุบัน

การถกเถียงกันเกี่ยวกับเรื่องภาษี งบประมาณการใช้จ่าย และระบบประกันสุขภาพ

หลังจากที่ทราบผลการเลือกตั้ง วาระการทำงานกลางเทอมแรกที่จะต้องหยิบมาดูกันก็คงจะเป็นเรื่องของภาษีและงบประมาณ ฟอร์เทียร์ กล่าวว่า สภาคาดว่า จะต้องถกเถียงอย่างหน้าดำคร่ำเครียดเกี่ยวกับนโยบายการลดภาษีที่สืบเนื่องมาจากรัฐบาลยุคประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิ้ลยู บุช หรือการต่อเวลาในการใช้มาตรการลดภาษีต่อไปอีก

การลดภาษีที่อดีตประธานาธิบดีบุชได้ริเริ่มนำมาใช้นั้น ใกล้จะหมดอายุลงในเร็ววันนี้ เดโมแครตเองต้องการคงนโยบายการลดภาษีต่อไป ยกเว้นผู้ที่มีรายได้สูง ขณะที่รีพับลิกันนั้นต้องการให้มีการใช้นโยบายลดภาษีกับทุกคน

ฟอร์เทียร์กล่าวต่อไปว่า รีพับลิกันอาจจะผลักดันให้มีการออกพรบ.งบประมาณ เพื่อที่วงเงินการใช้จ่ายของรัฐบาลจะได้มีจำนวนน้อยกว่าที่รัฐบาลต้องการจะใช้ ซึ่งสถานการณ์เช่นนี้เองที่อาจจะทำให้เกิดการโต้เถียงกันอย่างดุเดือดเกี่ยวกับงบประมาณการใช้จ่าย

สมาชิกเดโมแครตหลายรายมองว่า งบประมาณการใช้จ่ายนั้นเป็นเรื่องที่จำเป็นสำหรับการกระตุ้นเศรษฐกิจท่ามกลางสถานการณ์แวดล้อมที่ย่ำแย่ ขณะที่รีพับลิกันเองก็กังวลเกี่ยวกับเรื่องปัญหาขาดดุล

เวสท์กล่าวว่า พรรครีพับลิกันอาจจะใช้ความพยายามเพื่อยกเลิกโครงการปฎิรูประบบประกันสุขภาพของโอบามา ซึ่งเป็นต้นตอของการอภิปรายที่ร้อนแรงของทั้ง 2 พรรคเมื่อปีที่แล้ว

อย่างไรก็ดี การยกเลิกแผนการยกเครื่องระบบการประกันสุขภาพนั้น คงจะไม่มีโอกาสเข้าสู่วาระการพิจารณาของวุฒิสภาได้ และหากเรื่องดังกล่าวผ่านเข้าสู่การประชุมในระดับวุฒิสภามาได้ ประธานาธิบดีก็คงใช้สิทธิวีโต้ยับยั้ง

ฟอร์เทียร์ กล่าวว่า พรรครีพับลิกันเองคงจะนำประเด็นต่างๆที่เกี่ยวข้องกับระบบประกันสุขภาพขึ้นมา ซึ่งบางเรื่องก็อาจจะได้รับการสนับสนุน แต่บางเรื่องก็คงแค่ถูกหยิบยกขึ้นมาได้แค่นั้น

ขณะที่ การปฏิรูประบบประกันสุขภาพถูกกำหนดไว้เป็นขั้นเป็นตอนในช่วงหลายปีข้างหน้า สภาคองเกรสเองก็คงจะต้องสู้ต่อไปเพื่อให้ได้มาซึ่งงบประมาณ

แมทธิว รุสลิง จากสำนักข่าวซินหัวรายงาน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ