ศูนย์วิจัยกสิกรฯ คาดส่งออกปี 54 โตเหลือ 6-10%จากปีนี้โตสูงสุดรอบ 22 ปี

ข่าวเศรษฐกิจ Friday November 19, 2010 17:30 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด คาดว่า การส่งออกของไทยในปี 54 มีแนวโน้มอ่อนตัวลง โดยการส่งออกในรูปดอลลาร์ฯ อาจมีอัตราการขยายตัวชะลอลงเหลือเป็นตัวเลขหลักเดียวในช่วง 6-10% จากที่คาดว่าอาจขยายตัวเกือบ 27% ในปี 53 จากสภาพเศรษฐกิจโลกที่ยังคงมีความไม่แน่นอนสูง ประกอบกับค่าเงินบาทที่ยังมีแนวโน้มแข็งค่า

"มูลค่าส่งออกในรูปเงินบาทอาจเริ่มมีอัตราการเติบโตติดลบในช่วงปลายปีนี้ ต่อเนื่องถึงครึ่งแรกของปี 54"

วันนี้ กระทรวงพาณิชย์ ประกาศตัวเลขเดือนต.ค. 53 โดยมีมูลค่า 17,133 ล้านดอลลาร์ฯ ขยายตัว 15.7% ชะลอตัวลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (Year-on-Year) และชะลอลงจาก 21.2% ในเดือนก่อนหน้า

ทั้งนี้ เศรษฐกิจโลกอยู่ท่ามกลางการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจที่ไม่เท่าเทียมกัน ระหว่างฟากฝั่งประเทศพัฒนาแล้วที่เศรษฐกิจยังตกอยู่ในภาวะซบเซา และกลุ่มเศรษฐกิจเกิดใหม่ในเอเชียที่เศรษฐกิจยังคงขยายตัวในระดับที่ดีแต่เงินเฟ้อเร่งตัวสูงขึ้น นอกจากนี้ ปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจที่มีความแตกต่างกันนี้ยังนำมาสู่การดำเนินนโยบายและมาตรการทางเศรษฐกิจในรูปแบบที่แตกต่างกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ที่เป็นที่จับตามองคือ การออกมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณรอบสอง หรือ QE2 (Quantitative Easing II) ของธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือ FED โดยการอัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบรวมมูลค่า 6 แสนล้านดอลลาร์ฯ นับจากเดือนพฤศจิกายน 53 ถึงเดือนมิถุนายน 54

มาตรการดังกล่าวอาจเพิ่มความยุ่งยากซับซ้อนมากขึ้นให้แก่การดำเนินนโยบายเศรษฐกิจของประเทศในภูมิภาคเอเชีย ที่แม้ว่าไม่มีมาตรการ QE ก็ต้องเผชิญโจทย์ใหญ่ในการแก้ไขปัญหาการไหลเข้าของเงินทุนระยะสั้น ที่ผลักดันในค่าเงินแข็งค่าขึ้นอย่างมาก อีกทั้งหลายประเทศเผชิญภาวะเงินเฟ้อสูงอยู่ก่อนแล้ว เมื่อมีมาตรการ QE อาจยิ่งสร้างความวิตกว่าปัญหาเงินทุนเคลื่อนย้ายระหว่างประเทศจะกระทบต่อเสถียรภาพทางเศรษฐกิจทั้งในด้านอัตราแลกเปลี่ยน เงินเฟ้อ และโอกาสที่จะเกิดภาวะฟองสบู่ในสินทรัพย์ ซึ่งอาจกลายเป็นแรงกดดันให้ธนาคารกลางของประเทศเหล่านี้ จำเป็นต้องใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดขึ้น

ขณะเดียวกันก็อาจต้องมีมาตรการในการดูแลเงินทุนเคลื่อนย้ายระหว่างประเทศที่มีประสิทธิผลมากขึ้น และผลสุดท้ายอาจนำมาซึ่งการชะลอตัวทางเศรษฐกิจในระดับที่แรงกว่าที่คาดในประเทศกำลังพัฒนา จากเดิมที่คาดหวังประเทศกลุ่มนี้จะเป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลกที่สำคัญในปี 54 ขณะที่ประเทศพัฒนาแล้วยังคงมีปัจจัยฉุดรั้งจากปัญหาการว่างงานที่ยังมีแนวโน้มอยู่ในระดับสูง ซึ่งจะสร้างข้อจำกัดต่อการฟื้นตัวของภาคการบริโภค รวมทั้งความกังวลที่ยังคงไม่สิ้นสุดต่อปัญหาวิกฤตหนี้ของบางประเทศในภูมิภาคยุโรป

"แม้ว่าในช่วงที่ผ่านมาของปี 53 การส่งออกมีอัตราการเติบโตสูงเกินความคาดหมายอย่างต่อเนื่อง ซึ่งคาดว่าจะหนุนให้มูลค่าการส่งออกทั้งปีขยายตัวในระดับสูงสุดในรอบ 22 ปี นับตั้งแต่ปี 32 ในอัตราใกล้เคียง 27% อย่างไรก็ตาม การส่งออกล่าสุดมีสัญญาณชะลอตัว ขณะที่แนวโน้มในระยะข้างหน้ายังคงเผชิญปัจจัยความไม่แน่นอนหลายด้านที่จะมีผลต่อทิศทางเศรษฐกิจโลกและทิศทางอัตราแลกเปลี่ยน ซึ่งย่อมส่งผลสะท้อนกลับมาสู่ภาวะการส่งออกของไทยอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยง" เอกสารเผยแพร่ ระบุ
ทั้งนี้ หากค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นไปสู่ระดับ 28.0 บาท/ดอลลาร์ฯ ภายในสิ้นปี 54 และปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจ นโยบายของทางการที่มีผลต่ออัตราแลกเปลี่ยน รวมทั้งปัจจัยด้านราคา ไม่เปลี่ยนจากปัจจุบันอย่างมีนัยสำคัญ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า มีความเป็นไปได้ที่อัตราการเติบโตของการส่งออกในรูปเงินบาทอาจหดตัวประมาณ 1.5-5.0% ในปี 54 จากที่คาดว่าอาจขยายตัวประมาณ 17% ในปี 2553 โดยเป็นผลมาจากการที่ค่าเงินบาทต่อดอลลาร์ฯ เฉลี่ยทั้งปีอาจแข็งค่าขึ้นประมาณ 11-12% เป็นสำคัญ

จากปัญหาดังกล่าว ภาครัฐควรหามาตรการบรรเทาผลกระทบ หรือช่วยเหลือผู้ประกอบการส่งออกโดยเฉพาะเอสเอ็มอีให้สามารถปรับตัวต่อแนวโน้มที่จะมาถึงนี้ อาทิ การผลักดันการขยายการส่งออกในเชิงปริมาณ โดยการส่งเสริมให้ผู้ส่งออกมีขยายการส่งออกไปยังตลาดใหม่ๆ ที่มีศักยภาพ โดยเฉพาะการใช้ประโยชน์จากความได้เปรียบทางภาษีภายใต้กรอบความตกลงการค้าเสรี หรือ FTA เพื่อเข้าถึงตลาดการค้าที่ใหญ่ขึ้น ซึ่งการส่งออกไปยังประเทศที่มีความตกลง FTA กับไทยส่วนใหญ่ขยายตัวสูงกว่าอัตราเฉลี่ยที่ 29.2% (YoY) ในช่วง 10 เดือนแรกของปี 53

นอกจากนี้ ตลาดใหม่ที่มีศักยภาพน่าจับตามองยังได้แก่ กลุ่มรัสเซียและ CIS และกลุ่มลาตินอเมริกา ซึ่งในช่วง 10 เดือนแรกของปีนี้มีการเติบโตมากกว่า 70% ซึ่งในกรณีลาตินอเมริกา การที่ความตกลงการค้าเสรีไทย-เปรู น่าจะมีผลบังคับใช้ได้ภายในต้นปี 2554 นั้น นับเป็นช่องทางสำหรับไทยในการขยายตลาดในลาตินอเมริกาและทวีปอเมริกาเหนือ เนื่องจากเปรูมีความตกลงเขตการค้าเสรีกับกลุ่มประเทศดังกล่าว

ขณะเดียวกัน ภาครัฐควรสนับสนุนผู้ประกอบการในการสร้างมูลค่าเพิ่มหรือการยกระดับราคาสินค้าส่งออกของไทย ซึ่งในส่วนนี้อาจต้องอาศัยการปรับตัวของผู้ประกอบการในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ไปสู่สินค้าที่มีมูลค่าเพิ่มสูง และยกระดับคุณภาพมาตรฐานให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงกฎระเบียบทางการค้าของประเทศคู่ค้า ที่มีแนวโน้มใช้มาตรการที่ไม่ใช่ภาษีในรูปแบบใหม่ๆ ที่หลากหลายขึ้น ทั้งมาตรการด้านสิ่งแวดล้อม และมาตรการด้านความรับผิดชอบต่อสังคมและธรรมาภิบาล หรือ CSR (Corporate Social Responsibility)

สำหรับ ในส่วนของผู้ส่งออกรายย่อยที่อาจไม่มีความยืดหยุ่นเพียงพอในการปรับตัวอย่างทันท่วงที ภาครัฐอาจต้องมีการใช้มาตรการบรรเทาผลกระทบจากการแข็งค่าของเงินบาท เช่น มาตรการทางภาษี การสนับสนุนสภาพคล่อง และการเข้าถึงเครื่องมือในการลดความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน เป็นต้น


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ