นางสุทธินีย์ พู่ผกา ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม(MPI) เดือนตุลาคม 2553 ขยายตัวเพิ่มขึ้น 6.24% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ถือเป็นการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง เป็นเดือนที่ 12 ติดต่อกัน หลังจากเผชิญภาวะวิกฤตเศรษฐกิจโลก โดยอัตราการใช้กำลังการผลิต 64.11%
อุตสาหกรรมที่ส่งผลต่อการขยายตัวของ MPI เดือน ต.ค.เมื่อเทียบกับเดีอนเดียวกันของปีก่อน ที่สำคัญได้แก่ การผลิตรถยนต์-รถจักรยานยนต์ ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องปรับอากาศ (แอร์) เม็ดพลาสติก ผงซักผ้า เป็นต้น ขณะที่ การผลิต Hard disk drive ปรับฐานเล็กน้อย
อนึ่ง ดัชนีผลผลิต (มูลค่าเพิ่ม) อยู่ที่ระดับ 191.57 เพิ่มขึ้น 6.24% จากระดับ 180.32 ดัชนีการส่งสินค้า อยู่ที่ระดับ 194.08 เพิ่มขึ้น 5.32% จากระดับ 184.27 ดัชนีสินค้าสำเร็จรูปคงคลัง 190.53 เพิ่มขึ้น 11.46% จากระดับ 170.94 ดัชนีแรงงานในภาคอุตสาหกรรมอยู่ที่ระดับ 121.83 เพิ่มขึ้น 4.94% จากระดับ 116.09 ดัชนีผลิตภาพแรงงานในภาคอุตสาหกรรม อยู่ที่ระดับ 137.34 เพิ่มขึ้น 2.91% จากระดับ 133.46 โดยอัตราการใช้กำลังการผลิตอยู่ที่ 64.11%
การผลิตรถยนต์ เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน การผลิตและจำหน่ายรถยนต์เพิ่มขึ้น 21.4% และ 22.3%ตามลำดับ ขณะที่ การผลิตรถจักรยานยนต์ มีทิศทางการขยายตัวที่สอดคล้องกัน โดยยอดการผลิตและจำหน่ายเพิ่มขึ้น 13.4%และ 11.0% ตามลำดับ ซึ่งเป็นผลมาจากเศรษฐกิจของโลกและของประเทศที่ปรับตัวดีขึ้น สำหรับตลาดภายในประเทศได้รับผลดีจากค่ายรถยนต์ต่างมีการเปิดตัวรถรุ่นใหม่ออกมาเสนอเพื่อเป็นทางเลือกให้ผู้บริโภคอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งราคาพืชผลทางการเกษตรปรับตัวได้ดีจึงส่งผลให้เกษตรกรมีกำลังซื้อรถยนต์และรถจักรยานยนต์เพิ่มขึ้น
การผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน การผลิตและจำหน่ายเพิ่มขึ้น 9.8%และ6.8% ตามลำดับ เนื่องจากการขยายตัวของตลาดโลก โดย Semiconductor Industry Association : SIA ได้รายงานสถานการณ์ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ในไตรมาสที่ 3/2553 เทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนขยายตัวเพิ่มขึ้น 26.2%ยอดขายยังคงเติบโตทั่วโลก และระดับสินค้าคงคลังอยู่ในระดับที่สมดุลกับความต้องการบริโภคสินค้า สินค้าที่มียอดขายสูงสุดได้แก่ คอมพิวเตอร์โน๊ตบุค โทรทัศน์จอแบบ และโทรศัพท์มือถือ โดยคาดว่าในปี 2553 อุตสาหกรรมการผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์มีโอกาสขยายตัวได้สูงถึง 28.4%
การผลิตเครื่องปรับอากาศ เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน การผลิตและจำหน่ายเพิ่มขึ้น 39.6%และ30.0% ตามลำดับ เนื่องจากเศรษฐกิจโลกฟื้นตัวผู้ประกอบการได้ส่งสินค้ารุ่นใหม่ออกสู่ตลาดอย่างต่อเนื่อง โดยเน้นพัฒนาสินค้าที่มีคุณภาพประหยัดพลังงาน และรักษาสิ่งแวดล้อมเป็นสำคัญ นอกจากนี้ปัจจัยหนึ่งเอื้อต่อการขยายตัว คือ การยกเว้นภาษีสรรพสามิตแอร์เป็น 0% จากเดิม 15% อย่างไรก็ตามในไตรมาสสุดท้าย หากต้องเผชิญกับปัจจัยเรื่องเงินบาทแข็งค่าขึ้นและราคาวัตถุดิบที่มีการปรับตัวสูง อาจส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการรายย่อย เนื่องจากไม่ได้ทำประกันความเสี่ยงค่าเงินเหมือนบริษัทใหญ่ๆ ซึ่งผู้ประกอบการเห็นว่าภาครัฐควรต้องเร่งหามารตการอย่างใดอย่างหนึ่ง เพื่อลดผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น
การผลิตเม็ดพลาสติก เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน การผลิตและจำหน่ายเพิ่มขึ้น 23.2%และ17.7% ตามลำดับ เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจโลกฟื้นตัว จึงมีความต้องการใช้เม็ดพลาสติกเพิ่มขึ้นในอุตสาหกรรมต่อเนื่อง เช่น ชิ้นส่วนรถยนต์ บรรจุภัณฑ์พลาสติกต่างๆ รวมทั้งเครื่องใช้ในครัวเรือน เป็นต้น นอกจากนี้ยังเป็นผลสืบเนื่องมาจากการขยายกำลังการผลิตของผู้ประกอบการเพื่อรองรับความต้องการที่มีสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง
การผลิตสบู่และผงซักฟอก เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน การผลิตและจำหน่ายเพิ่มขึ้น 34.5%และ31.2% ตามลำดับ เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวผู้บริโภคมีความเชื่อมั่นยิ่งขึ้น ผู้ผลิตได้มีปรับปรุงและพัฒนาผลิตภัณฑ์อย่างต่อเนื่อง เพื่อสนองความต้องการของผู้บริโภคภายใต้แนวคิดสะอาดคุ้มค่า อีกทั้งกิจกรรมส่งเสริมการขายช่วยกระตุ้นให้ผู้บริโภคพร้อมจับจ่ายสินค้าในกลุ่มนี้ยิ่งขึ้น จึงส่งผลต่ออัตราการขยายตัวดังกล่าว