รายงาน The Global MetroMonitor ชี้การขยายตัวทางเศรษฐกิจที่เปลี่ยนขั้วจากสหรัฐและยุโรปไปยังกลุ่มประเทศในเอเชียและลาตินอเมริกานั้นดำเนินไปอย่างรวดเร็วมากขึ้น หลังผ่านพ้นภาวะตกต่ำทางเศรษฐกิจ
"ในยามที่เศรษฐกิจโลกเริ่มฟื้นตัวจากวิกฤตเศรษฐกิจที่เลวร้ายที่สุดนับตั้งแต่ยุคเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่นั้น เกือบครึ่งหนึ่งของผลผลิตมวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ทั่วโลกมาจากเมืองใหญ่ 150 แห่ง ซึ่งการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่รวดเร็วในประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ของเอเชียและลาตินอเมริกาช่วยเพิ่มโอกาสทางธุรกิจได้ดีกว่ามากเมื่อเทียบกับเมืองใหญ่ในยุโรปและสหรัฐ"ทั้งนี้ รายงาน Global MetroMonitor เป็นรายงานร่วมฉบับใหม่ของ Brookings Metropolitan Policy Program และ LSE Cities ซึ่งเป็นรายงานวิจัยฉบับแรกที่เกี่ยวข้องกับภาวะเศรษฐกิจในเขตเมืองต่างๆทั่วโลกทั้งช่วงก่อน ระหว่าง และหลังจากยุคเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่
"รายงานฉบับนี้เป็นเครื่องยืนยันว่า การขยายตัวของจีน อินเดีย บราซิล และประเทศอื่นๆ ได้รับปัจจัยพื้นฐานมาจากการขยายตัวของเมืองใหญ่ๆ" อลัน เบรูบี สมาชิกโครงการ Brookings และผู้ร่วมจัดทำรายงานกล่าว
"ความเป็นเมืองทั้งในแบบที่เป็นเมืองอยู่ก่อนแล้ว และเพิ่งพัฒนาขึ้นเป็นเมืองใหม่นั้น เป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่สุดในการปรับโครงสร้างของระบบเศรษฐกิจโลก โดยรายงานการวิจัยของเราบ่งชี้ให้เห็นว่า เมืองใหญ่ในเอเชียและลาตินอเมริกาเริ่มฟื้นตัวจากวิกฤตเศรษฐกิจโลกอย่างเต็มตัวแล้ว ขณะที่หลายเมืองในสหรัฐและยุโรปยังต้องต่อสู้กับภาวะเศรษฐกิจที่ซบเซาเพื่อให้ประเทศฟื้นตัวขึ้นต่อไป" เบรูบีเสริมนอกจากนี้ รายงาน The Global MetroMonitor ยังระบุด้วยว่า ในบรรดาเมืองใหญ่ๆ ชั้นนำของโลก 30 แห่งที่ขยายตัวดีขึ้นในช่วงไม่กี่ที่ผ่านมา (2552 - 2553) นั้น พบว่า 29 เมืองอยู่นอกประเทศสหรัฐและยุโรป ขณะที่ 30 เมืองใหญ่ที่มีการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจต่ำสุดนั้น เป็นเมืองที่อยู่ในยุโรปหรือสหรัฐถึง 28 แห่ง รวมทั้งยังมีการประเมินข้อมูลผลผลิตทางเศรษฐกิจและสถานการณ์จ้างงานใน 150 เมืองใหญ่ของโลกใน 53 ประเทศระหว่างปี 2536 - 2553