ไทยฮั้วฯเตรียมร่วมทุนจีนผุดรง.ล้อยางในไทย ทำสัญญาซื้อขายมูลค่า 5 พันลบ.

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday December 1, 2010 17:57 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายหลักชัย กิตติพล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.ไทยฮั้วยางพารา เปิดเผยว่า บริษัทได้ตกลงทำสัญญาซื้อขายยางพารากับ Hangzhou Zhongce Rubber Co.,LTD. ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจของจีน โดยเป็นยางประเภท STR20/STR compound/RSS/RSS compound ในปริมาณ 500,000 ตัน มูลค่า 5,000 ล้านบาท

พร้อมทั้งมีแผนร่วมทุนตั้งโรงงานผลิตล้อยางในประเทศไทย โดย Hangzhou Zhongce Rubber Co.,LTD. จะลงทุนในสัดส่วน 85% และ บมจ. ไทยฮั้วยางพารา จะลงทุน 15% ใช้เงินทุนหมุนเวียนภายในกิจการ

นายหลักชัย กล่าวว่า ขณะนี้กำลังมองหาทำเลที่ตั้งโรงงานในประเทศไทย คาดว่าจะมีกำลังผลิตล้อยางปีละประมาณ 10 ล้านเส้น แต่เฉพาะปีแรกน่าจะผลิตได้ไม่ต่ำกว่า 3 ล้านเส้น โดยจะเป็นการส่งออกทั้งหมด ซึ่งน่าจะเป็นอาเซียน 10% เนื่องจากได้สิทธิทางภาษี 0% นอกนั้นก็จะส่งออกไปยุโรป และที่อื่นๆ

ส่วนวัตถุดิบที่จะใช้ผลิตในโรงงานยางแห่งใหม่จะใช้ยางจากในประเทศทั้งหมด ประมาณ 1 แสนตัน/ปี คาดว่าจะสามารถคืนทุนได้ภายใน 5 ปี

สาเหตุที่จีนเลือกมาลงทุนในประเทศไทยเนื่องจากประเทศมีศักยภาพทางด้านการเพาะปลูกยางและการผลิตยาง ประกอบกับต้นทุนที่ถูกกว่า เมื่อเทียบกับที่อื่นๆ ยิ่งทำให้ต่างประเทศสนใจที่จะเข้ามาลงทุนในประเทศไทยมากขึ้น ซึ่งนอกจากการตกลงร่วมลงทุนกับจีนในครั้งนี้แล้ว บริษัทยังอยู่ระหว่างการเจรจาธุกิจกับพันธมิตรประเทศญี่ปุ่นและยุโรปด้วย คาดว่าน่าจะได้เห็นความร่วมกันในอนาคต

นายหลักชัย กล่าวต่อว่า ตลาดยางพารายังมีแนวโน้มที่ดีจากความต้องการที่ยังมีอยู่ โดยเฉพาะความต้องการจากจีน ซึ่งถือเป็นผู้ใช้รายใหญ่ที่สุดของโลก แต่ยอมรับว่าปัญหาเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นกับจีนในขณะนี้อาจจะสร้างกดดันให้แก่ราคายางได้ในบางช่วงจังหวะเวลา

"เศรษฐกิจจีนยังเป็นอะไรที่ต้องติดตามอยู่เรื่อยๆ ความต้องการใช้ยางของจีนก็ยังมีอยู่ แต่ปัญหาเรื่องเศรษฐกิจภายในก็อาจจะกดดันราคายางได้ในบางช่วง เพราะถ้าราคายางแพงมาก จีนก็อาจจะชะลอการซื้อ และก็อาจจะกดดันทำให้ยางปรับตัวลดลงมา"นายหลักชัย กล่าว

ทั้งนี้ เชื่อมั่นว่าราคายางในปีหน้ายังมีทิศทางที่ดีอยู่ ถ้าเศรษฐกิจจีนไม่ย่ำแย่ไปกว่านี้ คาดว่าราคายางเฉลี่ยปี 54 คงไม่ต่ำกว่า 100 บาท/กก. ส่วนราคายางจะสูงกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบันมากน้อยแค่ไหน ไม่สามารถคาดการณ์ได้ ขึ้นอยู่กับความต้องการและปัจจัยแวดล้อมด้วย

ด้านการส่งออกยางพารา นายหลักชัย กล่าวว่า ปีนี้ไทยน่าจะส่งออกยางพาราได้ใกล้เคียงปี 52 ในด้านปริมาณ แต่มูลค่าส่งออกสูงกว่าปี 52 ส่วนปี 54 ก็คาดว่าน่าจะยังเป็นปีทองของยางพาราไทย

"ส่งออกช่วงนี้ยังดี ราคาส่งออกก็ยังดี หวังว่าปีหน้าจะไม่มีอะไรมาทำให้สะดุด"นายหลักชัย กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ