ฝ่ายวิจัยคาดแบงก์พาณิชย์พร้อมขยับขึ้นดบ.ตาม กนง.แต่ยังไม่กระทบต้นทุนมาก

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday January 11, 2011 10:28 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

น.ส.เกวลิน หวังพิชญสุข ผู้จัดการฝ่ายวิจัยการเงิน การธนาคาร ศูนย์วิจัยกสิกรไทย กล่าวว่า หลายสำนักคาดการณ์ในทิศทางเดียวกันว่าคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.) วันที่ 12 ม.ค.54 จะปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายอีก 0.25% ซึ่งธนาคารพาณิชย์เองก็คงจะปรับดอกเบี้ยตาม โดยในขาดอกเบี้ยฝากอาจเป็นการปรับขึ้นในอัตราเดียวกันหรือใกล้เคียงกับอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ส่วนดอกเบี้ยเงินกู้อาจเป็นการปรับขึ้นในอัตราที่ต่ำกว่า แต่ช่วงเวลาของการปรับขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารพาณิชย์แต่ละแห่งขึ้นอยู่กับสภาพคล่องและภาวะการแข่งขันด้วย

"ศูนย์วิจัยกสิกรฯคาดว่าปีนี้ กนง.จะปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย 0.75% เป็นการทยอยปรับขึ้นในช่วงครึ่งปีแรกมากกว่า เพื่อควบคุมเงินเฟ้อ ขณะที่ภาพรวมเศรษฐกิจไทยยังเติบโตได้แม้เป็นอัตราที่ชะลอกว่าปีก่อน ขณะที่ภาพรวมเศรษฐกิจต่างประเทศ ทั้งสหรัฐ จีน มีแนวโน้มดีขึ้น แบงก์ชาติก็ต้องมีการประเมินสถานการณ์" น.ส.เกวลิน กล่าว

อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่าการปรับขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารพาณิชย์ ย่อมทำให้ต้นทุนของผู้ประกอบการ ภาคธุรกิจเอกชนปรับขึ้นตาม แต่เชื่อว่าภาคเอกชนคงมีการปรับตัวก่อนหน้านี้แล้ว เนื่องจากธนาคารแห่งประเทศไทยได้ส่งสัญญาณการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ช่วงปลายปี 53 ดังนั้น ผู้ประกอบการจึงต้องมีการประเมินผลที่จะเกิดขึ้น ทั้งในแง่ต้นทุน ดอกเบี้ย ค่าเงิน ราคาสินค้าโภคภัณฑ์และพลังงาน ที่ต้องมีการป้องกันความเสี่ยง

นายพงศ์พัฒน์ คุโรวาท ผู้ช่วยผู้จัดการฝ่ายวิจัย ธนาคารกรุงเทพ มองว่า ธนาคารพาณิชย์คงต้องมีการปรับขึ้นดอกเบี้ยในระบบให้สอดคล้องกับการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย ซึ่งช่วงหลังจะพบว่าธนาคารพาณิชย์จะมีการปรับขึ้นดอกเบี้ยในอัตราที่ต่ำกว่าดอกเบี้ยนโยบาย โดยขึ้นอยู่กับเงื่อนไขของตลาดและการแข่งขัน

ประกอบกับ สภาพคล่องในระบบธนาคารพาณิชย์ขณะนี้เริ่มลดลงแล้ว เพราะความต้องการสินเชื่อเพื่อการลงทุนของภาคเอกชนเริ่มมีมากขึ้น โดยเฉพาะในช่วงที่การเมืองเริ่มสงบไม่มีปัญหาขัดแย้งรุนแรง ขณะที่เศรษฐกิจในภูมิภาคที่เติบโตดีขึ้น และมีทิศทางดอกเบี้ยขาขึ้นเช่นกัน

"เชื่อว่าแบงก์คงจะมีการปรับขึ้นดอกเบี้ยตาม กนง. ทั้งเงินกู้และเงินฝาก ส่วนจะปรับขึ้นมากน้อยแค่ไหนขึ้นเงื่อนไขของตลาด" นายพงศ์พัฒน์ กล่าว

ทั้งนี้ การปรับขึ้นดอกเบี้ยในระบบธนาคารพาณิชย์ อาจทำให้ภาระต้นทุนของผู้ประกอบการ ภาคเอกชนปรับสุงขึ้น ดังนั้น ภาคเอกชนจึงต้องมีการบริหารต้นทุนให้มีประสิทธิภาพ เพราะรัฐบาลคงไม่สามารถช่วยเหลือได้ทั้งหมด ขณะที่ต้องมองภาพรวมที่ภาวะเงินเฟ้อที่สูงที่จะกระทบต่อผู้บริโภค

ขณะเดียวกันหากมองอีกด้านดอกเบี้ยที่สูงขึ้น จะเป็นโอกาสที่ราคาสินค้าปรับขึ้นตามจากความต้องการที่เพิ่มขึ้น เนื่องจากเศรษฐกิจโดยรวมในเอเซียเติบโตขึ้น และเศรษฐกิจประเทศแถบตะวันตกอาจจะเติบโตได้ดีขึ้นเช่นกัน

นายพงศ์พัฒน์ คาดการณ์ว่า กนง.จะมีการทยอยปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายในปีนี้ รวม 0.50-1% ส่วนจะปรับขึ้นในช่วงเวลาใด ขึ้นอยู่กับความกังวลเกี่ยวกับอัตราเงินเฟ้อ และการขึ้นดอกเบี้ยไม่ได้สร้างแรงกดดันต่อการเติบโตเศรษฐกิจไทย แต่เป็นการสร้างความสมดุลในระบบเศรษฐกิจ เพราะหากคงดอกเบี้ยในระดับต่ำต่อไป เงินเฟ้อที่ปรับสูงขึ้น อาจทำให้เกิดภาวะฟองสบู่และกระทบต่อเศรษฐกิจโดยรวมได้

"การประชุม กนง.วันที่ 12 ม.ค.นี้ ยังไม่แน่ใจว่าจะมีการขึ้นดอกเบี้ยนโยบายหรือไม่ เพราะหากดูเงินเฟ้อตั้งแต่ปีที่แล้วยังไม่สูงมากนัก ซึ่งส่วนหนึ่งอาจมาจากเงินบาท และมีราคาสินค้าควบคุมหลายประเภท แต่กนง.ก็ต้องดูราคาที่แท้จริง...แบงก์ชาติคงต้องพยายามทำให้การปรับเปลี่ยนโยบายดอกเบี้ยไม่ทำให้นักลงทุนตื่นตระหนก" นายพงศ์พัฒน์ กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ