ผู้ว่าธปท.มองเศรษฐกิจไทยเข้าสู่สมดุล เงินเฟ้อ-การเมืองเป็นความเสี่ยงปีนี้

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday January 26, 2011 14:29 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) แถลงทิศทางเศรษฐกิจการเงินของไทย และแนวทางการดำเนินนโยบายว่า จากแรงส่งทางเศรษฐกิจของปีก่อน กอปรกับปัจจัยพื้นฐานของเศรษฐกิจไทยในปัจจุบันที่แข็งแกร่ง ธปท.จึงประเมินว่าในปีนี้ เศรษฐกิจไทยจะสามารถเติบโตต่อเนื่องและจะขยายตัวได้ร้อยละ 3-5

ถือว่าเป็นอัตราการเจริญเติบโตที่กลับมาสอดคล้องกับภาวะทางเศรษฐกิจที่เป็นปกติ คือไม่สูงหรือไม่ต่ำเกินไป แต่เป็นไปตามศักยภาพระยะยาวของประเทศ แม้ว่าจะดูเหมือนเป็นการชะลอลงจากปีก่อน แต่ก็เพียงเพราะว่า การขยายตัวที่สูงในปีก่อนนั้นเป็นการคำนวณมาจากฐานที่ต่ำผิดปกติ

"คิดว่าปี 2554 นี้จะเป็นปีที่เศรษฐกิจไทยกลับเข้าสู่ภาวะสมดุลอีกครั้งหนึ่ง หลังจากที่ได้เร่งขึ้นมากตามกระบวนการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจในปีที่ผ่านมา"นายประสาร กล่าว

ผู้ว่าธปท. กล่าวว่า ภาวะเศรษฐกิจที่สมดุลขึ้นนี้จะเพิ่มแรงกดดันจากอุปสงค์ต่อราคา (demand-pull) ทำให้อัตราเงินเฟ้อมีโอกาสปรับสูงขึ้นกว่าในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา ประกอบกับ หากราคาสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดโลกปรับสูงขึ้นตามที่หลายฝ่ายได้คาดการณ์ไว้ก็จะเป็นอีกช่องทางสำคัญที่ส่งผลเพิ่มแรงกดดันต่อเงินเฟ้อได้ (cost-push)

ดังนั้น ในปีนี้จึงมองว่าแนวโน้มเงินเฟ้อจะกลับมาเป็นความเสี่ยงสำคัญสำหรับเศรษฐกิจไทยอีกครั้งหนึ่ง ในขณะที่ความเสี่ยงต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจจะค่อยๆ ทยอยลดความน่ากังวลลง ซึ่งก็เป็นไปในทิศทางเดียวกับเศรษฐกิจของหลายประเทศในภูมิภาคเอเชียด้วยกัน

ขณะเดียวกัน ปัจจัยที่เคยสร้างความกังวลในปีที่แล้ว ก็ยังมีโอกาสกลับมาสร้างความท้าทายในปีนี้อีกครั้ง ไม่ว่าจะเป็นปัจจัยด้านภาวะการเงินระหว่างประเทศและการเคลื่อนย้ายของเงินทุน ที่ผันผวนตามพัฒนาการเศรษฐกิจโลกระหว่างขั้วประเทศพัฒนาแล้วกับขั้วเศรษฐกิจเกิดใหม่ หรือในด้านความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทย ซึ่งยังต้องมีการพัฒนาต่อเนื่อง

นายประสาร กล่าวว่า ปัญหาการเมืองก็มีผลกระทบต่อการเติบโตของเศรษฐกิจ เห็นได้ชัดในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาที่เกิดปัญหาความไม่สงบทางการเมืองได้ขยายผลไปสู่ความรุนแรงและส่งผลต่อเศรษฐกิจ แต่ขณะที่มองว่าความไม่แน่นอนทั้งจากการเลือกตั้งและหลังการเลือกตั้งอาจจะมีผลต่อเศรษฐกิจ แต่หวังว่าการเลือกตั้งจะเป็นไปตามกฎกติกาด้วยความเรียบร้อย และทุกฝ่ายเคารพกติกาตามที่ตกลงไว้ ซึ่งหากเป็นไปตามที่คาดหวังปัจจัยเสี่ยงดังกล่าวอาจกลายเป็นปัจจัยบวกทำให้เรื่องต่าง ๆ ดำเนินต่อไปได้อย่างต่อเนื่องและเข้มแข็ง


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ