(เพิ่มเติม) ผู้ว่าธปท.มองเศรษฐกิจไทยเข้าสู่สมดุล เงินเฟ้อ-การเมืองเป็นความเสี่ยงปีนี้

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday January 26, 2011 14:59 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) แถลงทิศทางเศรษฐกิจการเงินของไทย และแนวทางการดำเนินนโยบายว่า จากแรงส่งทางเศรษฐกิจของปีก่อน กอปรกับปัจจัยพื้นฐานของเศรษฐกิจไทยในปัจจุบันที่แข็งแกร่ง ธปท.จึงประเมินว่าในปีนี้ เศรษฐกิจไทยจะสามารถเติบโตต่อเนื่องและจะขยายตัวได้ร้อยละ 3-5

ถือว่าเป็นอัตราการเจริญเติบโตที่กลับมาสอดคล้องกับภาวะทางเศรษฐกิจที่เป็นปกติ คือไม่สูงหรือไม่ต่ำเกินไป แต่เป็นไปตามศักยภาพระยะยาวของประเทศ แม้ว่าจะดูเหมือนเป็นการชะลอลงจากปีก่อน แต่ก็เพียงเพราะว่า การขยายตัวที่สูงในปีก่อนนั้นเป็นการคำนวณมาจากฐานที่ต่ำผิดปกติ

"คิดว่าปี 2554 นี้จะเป็นปีที่เศรษฐกิจไทยกลับเข้าสู่ภาวะสมดุลอีกครั้งหนึ่ง หลังจากที่ได้เร่งขึ้นมากตามกระบวนการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจในปีที่ผ่านมา"นายประสาร กล่าว

ผู้ว่าธปท. กล่าวว่า ภาวะเศรษฐกิจที่สมดุลขึ้นนี้จะเพิ่มแรงกดดันจากอุปสงค์ต่อราคา (demand-pull) ทำให้อัตราเงินเฟ้อมีโอกาสปรับสูงขึ้นกว่าในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา ประกอบกับ หากราคาสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดโลกปรับสูงขึ้นตามที่หลายฝ่ายได้คาดการณ์ไว้ก็จะเป็นอีกช่องทางสำคัญที่ส่งผลเพิ่มแรงกดดันต่อเงินเฟ้อได้ (cost-push)

ดังนั้น ในปีนี้จึงมองว่าแนวโน้มเงินเฟ้อจะกลับมาเป็นความเสี่ยงสำคัญสำหรับเศรษฐกิจไทยอีกครั้งหนึ่ง ในขณะที่ความเสี่ยงต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจจะค่อยๆ ทยอยลดความน่ากังวลลง ซึ่งก็เป็นไปในทิศทางเดียวกับเศรษฐกิจของหลายประเทศในภูมิภาคเอเชียด้วยกัน

ขณะเดียวกัน ปัจจัยที่เคยสร้างความกังวลในปีที่แล้ว ก็ยังมีโอกาสกลับมาสร้างความท้าทายในปีนี้อีกครั้ง ไม่ว่าจะเป็นปัจจัยด้านภาวะการเงินระหว่างประเทศและการเคลื่อนย้ายของเงินทุน ที่ผันผวนตามพัฒนาการเศรษฐกิจโลกระหว่างขั้วประเทศพัฒนาแล้วกับขั้วเศรษฐกิจเกิดใหม่ หรือในด้านความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทย ซึ่งยังต้องมีการพัฒนาต่อเนื่อง

นายประสาร กล่าวว่า ปัญหาการเมืองก็มีผลกระทบต่อการเติบโตของเศรษฐกิจ เห็นได้ชัดในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาที่เกิดปัญหาความไม่สงบทางการเมืองได้ขยายผลไปสู่ความรุนแรงและส่งผลต่อเศรษฐกิจ แต่ขณะที่มองว่าความไม่แน่นอนทั้งจากการเลือกตั้งและหลังการเลือกตั้งอาจจะมีผลต่อเศรษฐกิจ แต่หวังว่าการเลือกตั้งจะเป็นไปตามกฎกติกาด้วยความเรียบร้อย และทุกฝ่ายเคารพกติกาตามที่ตกลงไว้ ซึ่งหากเป็นไปตามที่คาดหวังปัจจัยเสี่ยงดังกล่าวอาจกลายเป็นปัจจัยบวกทำให้เรื่องต่าง ๆ ดำเนินต่อไปได้อย่างต่อเนื่องและเข้มแข็ง

สำหรับเป้าหมายทางเศรษฐกิจปี 54 แบ่งได้เป็น 2 ส่วนหลัก คือ การรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจโดยรวมให้คงอยู่ไว้ และ ประการที่สองคือ การส่งเสริมพัฒนาความเข้มแข็งของเศรษฐกิจไทยอย่างต่อเนื่อง ในระดับมหภาค (Macroeconomic stability) ครอบคลุมไปถึงทั้งการมีเสถียรภาพทางด้านราคา เสถียรภาพทางการเงิน และการมีเสถียรภาพทางด้านการคลังด้วย จึงมีความหมายที่กว้าง เช่นเดียวกัน ความเข้มแข็งของเศรษฐกิจนั้นก็มีหลากหลายมิติ ทั้งความเข้มแข็งของภาคเอกชน และภาครัฐ ความเข้มแข็งของสถาบันการเงิน ความสามารถในการแข่งขันของประเทศ และความยืดหยุ่นของเศรษฐกิจในการรองรับความผันผวนต่างๆ เป็นต้น

"การจะบรรลุเป้าหมายทั้ง 2 ประการนี้ ทุกฝ่ายไม่ว่าจะเป็นภาครัฐหรือเอกชนต่างก็มีบทบาทหน้าที่ความรับผิดชอบที่เกี่ยวข้อง และมีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าบทบาทของแบงก์ชาติเอง เช่น รัฐบาลเองก็มีหน้าที่ดูแลฐานะทางการคลังของประเทศให้อยู่ในกรอบวินัยทางการคลังที่เข้มงวดและมั่นคงในระยะยาว เพื่อรักษาสมดุลและเสถียรภาพด้านการคลังให้กับประเทศ ในขณะเดียวกัน ก็จำเป็นต้องดูแลให้การใช้งบประมาณเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด เพื่อเป็นแรงสนับสนุนในการสร้างความเข้มแข็งให้กับภาคเศรษฐกิจโดยรวม"นายประสาร กล่าว

นโยบายการเงินในส่วนหน้าที่ความรับผิดชอบของธปท.นั้น ความสมดุลนับเป็นหัวใจหลัก เพราะเป็นพื้นฐานที่สำคัญมากอันดับต้นๆ สำหรับการมีเสถียรภาพทางเศรษฐกิจในระดับมหภาค เมื่อเศรษฐกิจกำลังกลับเข้าสู่ภาวะปกติที่มีความสมดุลแล้วก็มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่นโยบายการเงินจะต้องปรับเข้าสู่ภาวะสมดุลให้สอดคล้องกัน เพราะหากนโยบายการเงินยังคงผ่อนคลายเกินพอดีแม้ว่าเศรษฐกิจจะเข้าสู่ภาวะปกติแล้ว ก็จะส่งแรงผลักดันต่ออัตราเงินเฟ้อจนในที่สุดแล้วเป็นเหตุให้ระบบเศรษฐกิจเสียความสมดุลเสียเอง

ดังนั้น ในปี 54 นี้ จึงเป็นปีที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.)ยังมีความจำเป็นต้องทยอยปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายขึ้นไปอีกระยะหนึ่ง เพื่อนำนโยบายการเงินเข้าสู่ภาวะปกติให้สอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจ แต่การปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายในปีนี้จะเป็นไปใน อัตราและขนาดที่เหมาะสมกับแนวโน้มเศรษฐกิจ เงินเฟ้อ และความเสี่ยงด้านต่างๆ ทั้งจากภายในและภายนอกประเทศ โดยอยู่บนพื้นฐานของความรอบคอบตามแนวทางที่ กนง. ได้ปฏิบัติเสมอมา

ทั้งหมดเป็นไปเพื่อบรรลุพันธกิจหลักที่มีต่อสังคม คือการรักษาเสถียรภาพด้านราคาและดูแลให้เงินเฟ้อพื้นฐานนั้นอยู่ในกรอบเป้าหมาย แต่ทั้งนี้โดยธรรมชาติของภาวะเศรษฐกิจ ย่อมมีทั้งปัจจัยระยะสั้นและปัจจัยเชิงโครงสร้างเข้ามากระทบตลอดเวลา จึงเป็นการยากที่จะระบุล่วงหน้าได้ว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่เหมาะสมสำหรับปีนี้ควรจะอยู่ที่ระดับใด แต่อย่างน้อยคิดว่าอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงที่เป็นลบนั้น ไม่เป็นระดับที่เอื้อต่อความสมดุลทางเศรษฐกิจของประเทศในภาวะปกติ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ