HSBC คาดปี 54 ศก.โต 5.3% เงินเฟ้อ 3.8% ดอกเบี้ยอาร์พีสิ้นปีเป็น 3%

ข่าวเศรษฐกิจ Monday February 28, 2011 15:43 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายเวลเลียน วิรานโต นักเศรษฐศาสตร์ ประจำภูมิภาคเอเซีย ธนาคารเอสชเอสบีซี คาดการณ์เศรษฐกิจไทยปี 54 เติบโตในอัตรา 5.3% มากกว่าที่หลายสำนักคาดการณ์ไว้ โดยมาจากการฟื้นตัวของภาคการส่งออก และการบริโภภาคเอกชนเป็นหลัก ขณะที่ภาคการท่องเที่ยวของไทยเริ่มฟื้นตัวได้ดี หลังจากที่จำนวนนักท่องเที่ยวลดลงอย่างมากในช่วงเดือน เม.ย.-พ.ค.53

ทั้งนี้ มองว่าในปีนี้อัตราเงินเฟ้อจะเป็นความเสี่ยงต่อการเติบโตเศรษฐกิจ เนื่องมาจากการขึ้นดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ตั้งแต่ช่วงปลายปี 53 เพื่อควบคุมเงินเฟ้อ ทำให้คาดว่าแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อจะปรับสูงขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง หลังจากรัฐบาลยกเลิกมาตรการพยุงราคา โดยทั้งปีคาดว่าเงินเฟ้อทั่วไปจะปรับสูงขึ้นไปอยู่ที่ 3.8% โดยอยู่บนสมมติฐานที่ราคาน้ำมันในตลาดโลกอยู่ที่ 90-100 ดอลลาร์/บาร์เรล แต่เงินเฟ้อมีโอกาสปรับสูงขึ้นเกิน 4% ได้หากราคาน้ำมันยังปรับสูงขึ้นต่อเนื่อง

ขณะที่การส่งออกปีนี้ คาดว่าจะยังเติบโตได้ดี แต่อยู่ในอัตราชะลอลงจากปีก่อน โดยคาดว่าการส่งออกขยายตัวได้ไม่ถึง 10% ส่วนค่าเงินบาท ยังมีแนวโน้มแข็งค่าจากการที่มีเงินทุนไหลเข้าในภูมิภาค แต่เงินบาทยังเคลื่อนไหวในทิศทางเดียวกับค่าเงินในภูมิภาค จึงไม่น่ามีผลกระทบต่อความสามารถของผู้ส่งออก ขณะที่เศรษฐกิจและการค้าของโลกที่ดียังช่วยหนุนภาคการส่งออกของไทย

"มุมมองการเติบโตของเศรษฐกิจไทยไม่น่าห่วง เพราะมีพื้นฐานจากการเติบโตที่ดีจากการบริโภคภาคเอกชนที่ความเชื่อมั่นผู้บริโภคยังดี แต่การส่งออกยังเติบโตได้ดี แต่มองปัจจัยเสี่ยงจากเงินเฟ้อ ซึ่งครึ่งปีแรกเงินเฟ้อยังต่ำ โดยคาดว่าอยู่ที่ 3.2% แต่จะสูงขึ้นในครึ่งปีหลัง" นายเวลเลียน กล่าว

สำหรับดอกเบี้ยนโยบายของ ธปท. คาดว่าจะมีการปรับขึ้นอีก 3 ครั้งในปีนี้ โดยสิ้นปี 54 ดอกเบี้ยนโยบายจะปรับขึ้นจากปัจจุบันอยู่ที่ 2.25% เป็น 3% และทรงตัวต่อเนื่องจนถึงปี 55 ซึ่งที่ผ่านมามองว่า ธปท.สามารถใช้นโยบายเพื่อควบควบุมดูแลเงินเฟ้อได้ดี เมื่อเทียบกับหลายประเทศในภูมิภาค ทั้งอินโดนีเซีย และเวียดนามที่ยังล่าช้า

นายเวลเลียน มองว่า ปัจจัยการเมืองในประเทศยังเป็นปัจจัยที่คาดการณ์ได้ยาก ซึ่งเห็นได้จากปี 53 ที่ผ่านมาที่มีปัญหาการเมืองรุนแรง แต่เศรษฐกิจไทยยังเติบโตได้ดี ดังนั้น ในปีนี้แม้จะมีการเลือกตั้ง ซึ่งหากมองอีกด้านอาจมีผลในเชิงบวกให้เศรษฐกิจเติบโตได้ดีกว่าที่คาดได้ แต่มองปัจจัยการเมืองจะเป็นความเสี่ยงอัตราเงินเฟ้อมากกว่า หากมีการเปลี่ยนแปลงนโยบาย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ