นายโดมินิค สเตราส์-คาห์น ผู้จัดการกองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือไอเอ็มเอฟ กล่าวว่า ในช่วงที่เกิดวิกฤตเศรษฐกิจโลกรุนแรงนั้น มีการร่วมมือกันของทุกฝ่ายอย่างเห็นได้ชัด แต่ปัจจุบัน การร่วมมือกันระหว่างนานาประเทศนั้นดูเหมือนว่า จะต้องเผชิญกับความท้าทายมากกว่าเดิม
สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า ผู้จัดการไอเอ็มเอฟกล่าวว่า ในช่วงที่เกิดวิกฤตนั้น การร่วมมือกันในด้านนโยบายต่างประเทศเป็นเรื่องที่ทำได้ง่าย เพราะแต่ละประเทศก็ต้องเผชิญกับสถานการณ์ที่ใกล้เคียงกัน นอกจากนี้ ผลกระทบที่เกิดขึ้นอย่างชัดเจนจากวิกฤตนั้นก็ทำให้ผู้นำประเทศต่างร่วมมือกัน ดังนั้น ในช่วงปี 2552 และช่วงครึ่งปีแรกของปี 2553 ความตั้งใจที่จะร่วมมือกันจึงแข็งแกร่ง แต่สถานการณ์ปัจจุบันนั้นมีความซับซ้อนมากยิ่งขึ้น จึงทำให้การประสานงานกันของนานาประเทศนั้นเป็นเรื่องที่ท้าทายมากขึ้นกว่าเดิม
ผู้จัดการไอเอ็มเอฟกล่าวว่า ประเทศต่างๆฟื้นตัวจากวิกฤตด้วยความเร็วที่แตกต่างกันไป ดังนั้น สถานการณ์ทางเศรษฐกิจที่ประเทศเหล่านี้กำลังเผชิญอยู่จึงแตกต่างกันไปด้วย ผู้นำของประเทศจึงต้องกลับมาดูสถานการณ์และแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นในประเทศ ซึ่งท่าทีดังกล่าวทำให้รัฐบาลในหลายประเทศไม่ได้ตระหนักว่า การมุ่งแต่จะแก้ปัญหาภายในประเทศไม่สามารถทำให้ปัญหาทั่วโลกได้รับการแก้ไขไปด้วย เพราะปัจจุบันโลกมีการเชื่อมโยงกันมากขึ้น
นายสเตราส์-คาห์นกล่าวต่อไปว่า การให้ความสำคัญกับ 3 สถานการณ์หลักๆ จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง โดยสถานการณ์แรกคือ สถานการณ์ที่การเปลี่ยนแปลงด้านนโยบายในประเทศใดประเทศหนึ่งจะช่วยยกระดับผลประโยชน์ของทั่วโลก สถานการณ์แบบที่ 2 คือ สถานการณ์ที่การดำเนินการในระดับพหุภาคีจะช่วยให้สถานการณ์ของประเทศดีขึ้น แต่ก็อาจจะทำให้ประเทศอื่นๆย่ำแย่ เมื่อประเทศต่างๆมีปฏิกริยาต่อการเปลี่ยนแปลงด้านนโยบายของประเทศที่ใช้นโยบาย
ส่วนสถานการณ์ที่ 3 ก็คือ เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงด้านนโยบายเกิดขึ้นในประเทศใดประเทศหนึ่ง ซึ่งจะช่วยให้ประเทศนั้นๆหลุดพ้นจากภาวะเลวร้าย แต่เศรษฐกิจโลกจะดีขึ้นได้ ซึ่งสถานการณ์เช่นนี้เรียกได้ว่าเป็นสถานการณ์ที่ซับซ้อน