"กรณ์"โต้ฝ่ายค้าน 8 ข้อกล่าวหาล้มเหลวแก้ปัญหาศก.-ปล่อยให้เกิดการทุจริต

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday March 16, 2011 13:24 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ ส.ส.เชียงใหม่ พรรคเพื่อไทย อภิปรายข้อกล่าวหาในญัตติไม่ไว้วางใจ นายกรณ์ จาติกวนิช รมว.คลังว่า ล้มเหลวในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ โดยเฉพาะอัตราแลกเปลี่ยนและอัตราเงินเฟ้อ อีกทั้งทำให้หนี้สาธารณะสูงสุดเป็นประวัติการณ์ถึง 1.49 ล้านล้านบาทในเวลา 2 ปีที่เข้ามาบริหารประเทศ ไม่สามารถเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศเมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน

การบริหารงานของรัฐบาลยังทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ ประชาชนส่วนใหญ่ยังมีรายได้น้อยและเกิดปัญหาปากท้อง ทั้งจากราคาน้ำมัน และราคาสินค้าที่สูงขึ้น การบริหารกองทุนน้ำมันก็ประสบความล้มเหลว แบะมีการตั้งงบประมาณเพื่อรักษาเสถียรภาพของรัฐบาลเป็นหลัก ไม่ใช่เพื่อแก้ปัญหาเศรษฐกิจ

อีกทั้ง มีการทุจริตคอร์รัปชั่นเกิดขึ้นหลายจุด โดยเฉพาะจัดสรรงบประมาณให้พรรคร่วมรัฐบาลและหน่วยงานด้านความมั่นคง ส่วนงบโครงการไทยเข้มแข็งกว่า 4 แสนล้านบาท มีความผิดพลาดทั้งการทุจริต ความหละหลวม การเบิกจ่ายล่าช้า การจัดงบประมาณให้หน่วยราชการไม่ดูกำลังความสามารถในการทำงาน ขณะที่การจัดงบประมาณให้ท้องถิ่นไม่เพียงพอต่อการพัฒนา

นอกจากนั้น ยังปล่อยให้เกิดทุจริตของสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลในโครงการออกสลากการกุศล 1 แสนเล่ม มูลค่ากว่า 13,900 ล้านบาท โดยสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลจัดสรรสลากดังกล่าว 60,000 เล่มให้นิติบุคคล 3 ราย ซึ่งเป็นเรื่องผิดปกติและมีคำครหาว่ ผู้ได้เป็นญาติพี่น้องกับกลุ่มผู้จำหน่ายสลากรายใหญ่ที่สี่แยกคอกวัว ทั้ง ๆที่ทางมูลนิธิที่เป็นผู้ออกสลากแสดงความจำนงค์ที่จะจัดสรรเอง

ขณะที่นายกรณ์ จาติกวณิช รมว.คลัง ชี้แจงว่า เรื่องปัญหาหนี้สาธารณะ รมว.คลัง ระบุว่า ระดับของหนี้สาธารณะได้ปรับลดลงมาตลอดอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ ก.ย.53 จนถึงปัจจุบันหนี้สาธารณะอยู่ที่ระดับประมาณ 41% ต่อจีดีพี รวมทั้งภาระหนี้ต่องบประมาณก็ปรับตัวลดลงมาตลอดตั้งแต่ปี 53 โดยยืนยันว่าไม่มีผลกระทบต่อเสถียรภาพและความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศในระยะยาว

"ระดับหนี้สาธารณะเมื่อเทียบกับ GDP ถือว่าไม่มีปัญหา อีกทั้งยังต่ำกว่าระดับที่เคยต่ำสุดของรัฐบาลก่อน...เราสามารถรับภาระหนี้สาธารณะโดยไร้ปัญหา ยืนยันว่าเป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่จะต้องรับภาระนี้แทนประชาชนได้ โดยไม่มีผลกระทบต่อเสถียรภาพและความมั่นคงทางเศรษฐกิจในระยะยาว"รมว.คลัง กล่าว

ประเด็นที่สอง การยกระดับขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศนั้น หลังจากที่รัฐบาลได้แก้ปัญหาเฉพาะหน้าในเรื่องวิกฤติเศรษฐกิจไปแล้ว สิ่งสำคัญอันดับต่อมาคือการให้ความสำคัญกับการยกระดับโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ ซึ่งรัฐบาลได้ให้ความสำคัญกับการลงทุนในโครงการต่างๆ เช่น การขนส่งระบบราง, รถไฟความเร็วสูง, ระบบชลประทาน และระบบสื่อสารโทรคมนาคม

ขณะเดียวกัน รัฐบาลได้ให้ความสำคัญกับผู้ประกอบการในระดับ SMEs เพราะถือเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศได้ ดังนั้น จึงมีนโยบายเพิ่มทุนให้แก่สถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ ซึ่งเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพให้สามารถปล่อยสินเชื่อให้แก่ SMEs ได้มากขึ้น จากที่ก่อนหน้านี้ธนาคารพาณิชย์กังวลต่อการปล่อยสินเชื่อให้ SMEs หลังจากที่เกิดวิกฤติเศรษฐกิจโลก

ประเด็นที่สาม การบริหารอัตราแลกเปลี่ยน ยืนยันว่าอัตราแลกเปลี่ยนในระดับปัจจุบันมีเสถียรภาพดีพอและไม่ได้กระทบต่อความสามารถทางการแข่งขันของผู้ส่งออก เพราะจากที่กระทรวงพาณิชย์ได้หารือกับผู้ส่งออกแต่ละกลุ่มแล้ว ในภาพรวมยังเชื่อว่าการส่งออกในปีนี้ยังคงขยายตัวได้ต่อเนื่องจากปีที่ผ่านมา แม้หลายฝ่ายจะมีความกังวลว่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นจะมีผลกระทบต่อความสามารถในการส่งออกของไทย

ส่วนแนวนโยบายของรัฐบาลที่จะปรับขึ้นอัตราค่าจ้างขั้นต่ำอีก 25% ภายใน 2 ปีนั้น ถือว่ามีความเหมาะสมและเชื่อว่าไม่ส่งผลกระทบให้ขีดความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการส่งออกต้องลดลง ซึ่งผู้ประกอบการต่างมีความเข้าใจถึงความจำเป็นดังกล่าว

ประเด็นที่สี่ การแก้ปัญหาความยากจนและความเหลื่อมล้ำในสังคมนั้น นายกรณ์ กล่าวว่า ถือเป็นนโยบายแรกๆ ที่รัฐบาลได้พยายามดำเนินการให้ประสบผลสำเร็จตั้งแต่เข้ามาเป็นรัฐบาลใหม่ๆ ไม่ว่าจะเป็นกรณีการให้เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ, โครงการเรียนฟรี 15 ปี ขณะเดียวกันรัฐบาลพยายามแก้ไขปัญหาความยากจนแบบถาวรด้วยการเน้นการสร้างโอกาสในการเข้าถึงแหล่งเงิน และโอกาสในการเข้าถึงแหล่งทำกิน โดยได้จัดให้มีโครงการโฉนดชุมชนซึ่งรวบรวมที่ดินของหน่วยราชการที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์มาจัดสรรให้เป็นที่ดินทำกินของเกษตรกร ส่วนการสร้างโอกาสในการเข้าถึงแหล่งเงินนั้น ได้จัดทำโครงการโอนหนี้นอกระบบเข้าสู่ระบบ ซึ่งเป็นการช่วยให้ประชาชนได้สามารถเข้าถึงแหล่งเงินกู้ในระบบได้ง่ายขึ้น โดยมีประชาชนที่เข้าโครงการนี้ราว 5 แสนคน และเตรียมจะเปิดโครงการนี้อีกเป็นรอบสอง

ประเด็นที่ห้า การปรับยุทธศาสตร์ของประเทศให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลงของโลกนั้น ประเทศไทยได้มีบทบาทในการริเริ่มโครงการสำคัญต่างๆ ในเวทีโลก เช่น กองทุนริเริ่มเชียงใหม่(CMIM) ที่แม้แต่กลุ่มประเทศยุโรปยังแสดงความต้องการที่จะจัดตั้งกองทุนในลักษณะเดียวกันนี้ ขณะเดียวกันไทยยังขยายบทบาทการลงทุนด้วยการร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้าน เช่น โครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษทวายร่วมกับพม่า, โครงการรถไฟความเร็วสูงร่วมกับจีน เป็นต้น ซึ่งเป็นการสะท้อนความพร้อมและการพัฒนาของไทยในการปรับเข้าสู่การเปลี่ยนแปลงของโลก

ประเด็นที่หก การบริหารจัดการราคาน้ำมัน รมว.คลัง ยืนยันว่า รัฐบาลยังมีความจำเป็นต้องรักษาระดับราคาน้ำมันดีเซลไว้ไม่ให้เกิน 30 บาท/ลิตร เพราะหากไม่ตรึงราคาดีเซลไว้ในระดับนี้ จะส่งผลกระทบต่อต้นทุนสินค้าต่างๆ ที่อาจจะต้องปรับขึ้นตามมาอีกมาก เนื่องจากค่าขนส่งมีสัดส่วนอยู่ในต้นทุนสินค้าถึง 19-20%

ส่วนการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงนั้น ก่อนหน้าที่รัฐบาลจะเข้ามาบริหารประเทศพบว่าสถานะของเงินกองทุนน้ำมันฯ ติดลบอยู่ถึง 5,000 ล้านบาท แต่จากที่รัฐบาลได้บริหารจัดการจนกองทุนน้ำมันฯ มีสถานะเพิ่มขึ้นเป็น 27,000 ล้านบาท ซึ่งส่วนหนึ่งเตรียมไว้เพื่อรองรับสถานการณ์ราคาน้ำมันแพงอยู่แล้วนั้น ดังนั้น เมื่อถึงเวลาที่ราคาน้ำมันในตลาดโลกปรับตัวสูงขึ้น ก็ถือว่ามีความเหมาะสมแล้วที่จะนำเงินจากกองทุนน้ำมันฯ มาชดเชยราคาน้ำมันดีเซลไว้ในระดับดังกล่าว เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อประชาชนโดยรวม

ขณะที่การปรับลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลนั้น มองว่าถ้าปรับลดลงไปแล้วจะยิ่งทำให้เกิดความแตกต่างระหว่างราคาเบนซินและดีเซลมากขึ้น อันอาจจะสร้างความบิดเบือนในแง่การใช้น้ำมันในอนาคตระยะยาว

"การแก้ไขปัญหาน้ำมัน ไม่มีใครกล้าพูดว่าเป็นเรื่องง่าย เรามองว่าเมื่อเราสะสมเงินในกองทุน(น้ำมันเชื้อเพลิง) นี้มา ตราบใดที่ยังมีเงินในกองทุนฯนี้ หน้าที่ของเราคือต้องใช้เพื่อลดภาระพี่น้องประชาชน" รมว.คลัง ระบุ

ประเด็นที่เจ็ด การตั้งงบประมาณในระดับท้องถิ่น โดยปีงบประมาณ 55 นั้นนายกรัฐมนตรีได้ขอให้สำนักงบประมาณโอนภาระงบประมาณต่างๆ ที่เกิดจากนโยบายของรัฐบาลที่ต้องแบกรับโดยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น(อปท.) ทั้งหมดราว 40,000 ล้านบาทให้มาเป็นภาระของรัฐบาลโดยตรง ซึ่งแนวทางนี้จะช่วยให้ท้องถิ่นมีเงินที่จะนำไปพัฒนาและใช้ประโยชน์ในการบริหารจัดการโครงการของแต่ละท้องถิ่นได้มากขึ้น

ประเด็นที่แปด การออกสลากการกุศล รมว.คลัง กล่าวว่า รัฐบาลมีความจำเป็นที่จะต้องเพิ่มกฎเกณฑ์และความเข้มงวดในการออกสลากการกุศลมากขึ้นหลังจากที่มีข้อครหาถึงการออกสลากการกุศลในอดีตที่ผ่านมา ส่วนการแก้ปัญหาการจำหน่ายสลากกินแบ่งรัฐบาลเกินราคานั้น รัฐบาลได้พยายามเข้าไปแก้ที่ต้นเหตุคือ การให้ประชาชนสามารถซื้อสลากกินแบ่งฯ โดยตรงจากรัฐบาลโดยไม่ผ่านคนกลาง นั่นคือ การจำหน่ายสลากกินแบ่งรัฐบาลผ่านเครื่องจำหน่ายสลากอัตโนมัติ ซึ่งขณะนี้ยังอยู่ระหว่างการเจรจากับบริษัทเอกชนในเรื่องสัญญาและข้อกฎหมาย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ