เมืองใหญ่ๆของจีนต้องทำตามคำสั่งของรัฐบาลกลางในการนำมาตรการควบคุมราคาอสังหาริมทรัพย์มาใช้ เพื่อป้องกันไม่ให้ราคาโครงการอสังหาริมทรัพย์พุ่งสูงมากไปกว่านี้ แม้ว่ากำหนดเส้นตายกำลังใกล้เข้ามาก็ตาม แต่ก็ยังมีอีกหลายเมืองที่ยังเงียบเฉย
นักวิเคราะห์หลายรายกล่าวว่า ผลพวงจากการออกกฎเกณฑ์ล่าสุดที่ถูกมองว่าเป็นมาตรการที่เข้มงวดนั้น ยากที่จะคาดเดาว่าจะออกมาในรูปแบบใด แม้ว่า รัฐบาลกลางมุ่งมั่นที่จะสกัดช่วงขาขึ้นของราคาอสังหาริมทรัพย์ แต่หน่วยงานรัฐในระดับท้องถิ่นก็ไม่สามารถหาแหล่งรายได้ใหม่ๆเพื่อมาทดแทนรายได้จากการขายที่ดินให้กับบริษัทผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ได้
จากแถลงการณ์ที่ได้มีการเปิดเผยเมื่อวันอังคารที่ผ่านมานั้น รัฐบาลกรุงปักกิ่งตั้งเป้าที่จะลดราคาโครงการที่อยุ่อาศัยใหม่ลงในระดับปานกลางในปีนี้ และให้คำมั่นว่า จะพัฒนาโครงการที่อยู่อาศัยเพื่อให้เช่าในราคาต่ำ พร้อมกับให้เงินอุดหนุนแก่ผู้มีรายได้น้อยมากกว่านี้
เมืองชั้นนำต่างๆของจีนอย่างเซี่ยงไฮ้ กวางเจา และเสิ่นเจิ้น ตั้งเป้าลดอัตราการขยายตัวของราคาอสังหาริมทรัพย์ลง 8-15% จากระดับปีที่แล้ว หรือลดลงต่ำกว่าอัตราการขยายตัวของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศท้องถิ่นลง เช่นเดียวกับการลดอัตราการขยายตัวของรายได้ส่วนบุคคลต่อหัว
หยาง เจ้าเฟง กรรมการผู้จัดการของคอนเวิลด์ ซึ่งเป็นโบรกเกอร์อสังหาฯในปักกิ่ง กล่าวว่า ปัจจุบันนี้ ปักกิ่งเป็นเมืองแรกๆที่กำหนดเป้าหมายในการลดราคาอสังหาฯ ซึ่งถือเป็นจุดยืนที่สำคัญในการควบคุมราคาอสังหาฯ
อย่างไรก็ดี เป้าหมายที่ 8-15% นั้น ยังถูกมองว่าเป็นตัวเลขที่สูงมาก เนื่องจากราคาอสังหาริมทรัพย์ในปัจจุบันนั้นเทียบเท่ากับรายได้โดยเฉลี่ยของครอบครัวชาวจีนเมื่อกว่า 10 ปีที่แล้ว
กระทรวงที่อยู่อาศัยและการพัฒนาเมืองและชนบทของจีนเปิดเผยว่า ทางการท้องถิ่นควรจะหยิบยกประเด็นที่สร้างความกังวลให้กับประชาชนมาพิจารณาด้วยเวลาที่กำหนดเป้าหมายในการควบคุมราคา เพื่อให้การกำหนดเป้าหมายเหล่านี้สมเหตุสมผลและสามารถยอมรับได้มากกว่านี้
กระทรวงยังระบุด้วยว่า เมืองต่างๆที่ได้ประกาศเป้าหมายในการควบคุมราคาอสังหาริมทรัพย์ไปแล้วนั้น ควรจะรวบรวมความคิดเห็นของประชาชนและปรับเป้าหมายในการควบคุมราคาอสังหาฯของเมือง
หยางกล่าวว่า เป้าหมายที่ได้มีการเปิดเผยออกมาของเมืองต่างๆนั้น ส่วนใหญ่จะละเลยเรื่องรายได้ของประชาชนในพื้นที่ ซึ่งสวนทางกับคำแนะนำจากทางรัฐบาลกลาง สถานการณ์ดังกล่าวชี้ให้เห็นว่า หน่วยงานรัฐในระดับท้องถิ่นลังเลที่จะใช้มาตรการควบคุมอสังหาริมทรัพย์อย่างจริงจัง เนื่องจากหน่วยงานเหล่านี้ต้องพึ่งพารายได้จากการขายที่ดิน โดยอัตราราคาต่อรายได้นั้นเป็นปัจจัยที่สำคัญในการสรุปว่า ประชาชนในเมืองนั้นๆสามารถซื้อหาบ้านเป็นของตนเองได้หรือไม่
ข้อมูลจากสถาบันวิจัยและพัฒนาของจีนชี้ว่า อัตราราคาต่อรายได้ของจีนอยู่ที่ 7.76 ในปี 2553 เมื่อเปรียบเทียบกับปี 2552 ที่ 8.03 โดยปักกิ่งเป็นเมืองที่ช่องว่างระหว่างรายได้และราคาอสังหาฯมากที่สุด รองลงมาได้แก่ เมืองเสิ่นเจิ้น เซี่ยงไฮ้ หังโจว และเซียะเหมิน
รัฐบาลกลางจีนได้สั่งให้หน่วยงานรัฐในระดับท้องถิ่นเปิดเผยเป้าหมายในการควบคุมราคาที่อยู่อาศัยประจำปี 2554 ภายในช่วงสิ้นสุดไตรมาสแรกของปีนี้ ณ วันที่ 30 มี.ค.ที่ผ่านมานี้ มีเพียง 54 เมืองเท่านั้นที่ระบุเป้าหมายควบคุมราคา จากทั้งหมดกว่า 600 เมือง สำนักข่าวซินหัวรายงาน