(เพิ่มเติม) คปภ.ออกกรมธรรม์ประกันภัยคุ้มครองข้าวนาปี ลดความเสี่ยงชาวนาทั่วประเทศ

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday June 28, 2011 15:40 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นางจันทรา บูรณฤกษ์ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย(คปภ.) เปิดเผยว่า สำนักงาน คปภ. ร่วมกับสมาคมประกันวินาศภัย ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร(ธ.ก.ส.) กรมส่งเสริมการเกษตร และสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง(สศค.) ได้ลงนามบันทึกความเข้าใจโครงการประกันภัยข้าวนาปี ปีการผลิต 2554 เพื่อจัดทำกรมธรรม์ประกันภัยข้าวนาปีคุ้มครองเกษตรกรผู้ปลูกข้าว กรณีได้รับความเสียหายจากภัยธรรมชาติต่างๆ ได้แก่ อุทกภัย, ฝนทิ้งช่วง, ลมพายุ, อากาศหนาว, ลูกเห็บ และอัคคีภัย(ไม่รวมภัยจากโรคระบาดและศัตรูพืช)

ทั้งนี้ ความคุ้มครองดังกล่าว แบ่งเป็น 2 ระยะคือ 60 วันแรกของการเพาะปลูกจะได้รับค่าสินไหมทดแทน ในอัตรา 606 บาท/ไร่ และตั้งแต่วันที่ 61 เป็นต้นไปของการเพาะปลูกจะได้รับค่าสินไหมทดแทน 1,400 บาท/ไร่ โดยคิดเบี้ยประกันภัย 129 บาท/ไร่ ซึ่งรัฐบาลจะช่วยสมทบเงินค่าเบี้ยประกันภัย 69 บาท/ไร่

โดยเกษตรกรที่ไม่ได้เป็นลูกค้าสินเชื่อ ธ.ก.ส. จ่าย 60 บาท/ไร่ แต่หากเป็นเกษตรกรที่เป็นลูกค้าสินเชื่อ ธ.ก.ส.จะจ่ายเบี้ยประกันภัยเอง 50 บาท/ไร่ และ ธ.ก.ส.ช่วยสมทบ 10 บาท/ไร่ โดยจะเริ่มขายผ่าน ธ.ก.ส.ทุกสาขาทั่วประเทศ ตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค.54 เป็นต้นไป

สำหรับการทำประกันภัยนั้น เกษตรกรจะต้องนำเอกสารสิทธิแสดงที่ตั้งแปลงเพาะปลูกเป็นหลักฐาน พร้อมแจ้งจำนวนพื้นที่เพาะปลูกทั้งหมด เมื่อเกิดความเสียหายขึ้นที่แปลงเพาะปลูกข้าว บริษัทประกันภัยจะจ่ายค่าสินไหมทดแทนตามเกณฑ์การประเมินของรัฐบาลที่ใช้ในโครงการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ประสบภัยธรรมชาติ

"ปัจจุบันการเกิดภัยธรรมชาติมีแนวโน้มที่บ่อยครั้งขึ้นและรุนแรง โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาคการเกษตร การประกันภัยข้าวนาปีดังกล่าวจะช่วยบรรเทาความเดือดร้อนทางการเงิน เป็นการสร้างความมั่นใจแก่เกษตรกรว่าจะได้รับการคุ้มครองผลผลิตข้าวนาปีหากได้รับผลกระทบจากภัยธรรมชาติ นอกจากนี้จะทำให้เกษตรกรได้เรียนรู้ในการจัดการความเสี่ยงของตนเองด้วยการนำการประกันภัยเข้าไปรองรับ หากมีข้อสงสัยสามารถสอบถามรายละเอียดได้ที่สายด่วนประกันภัย 1186" เลขาธิการ คปภ. กล่าว

นายนริศ ชัยสูตร ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กล่าวว่า โครงการประกันภัยข้าวนาปี ปีการผลิต 2554 นี้ถือเป็นส่วนหนึ่งของแผนปฏิบัติการตามยุทธศาสตร์ชาติในการพัฒนาการประกันภัยพืชผล ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้ให้ความเห็นชอบเมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม 2554 เป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญในการสร้างระบบประกันความเสี่ยงให้กับเกษตรกรไทย มีวัตถุประสงค์เพื่อให้เกษตรกรทั่วประเทศมีทางเลือกใช้เครื่องมือประกันภัยเพื่อคุ้มครองความเสี่ยงจากภัยธรรมชาติต่างๆ อันได้แก่ อุทกภัย ฝนทิ้งช่วง ลมพายุ อากาศหนาว ลูกเห็บ และอัคคีภัย

นอกจากนี้ เพื่อเป็นการสร้างแรงจูงใจให้เกษตรกรเข้าร่วมโครงการรัฐจะอุดหนุนค่าเบี้ยประกันภัยสำหรับเกษตรกร ในส่วนที่เกินกว่า 60 บาทต่อไร่ จากอัตราเบี้ยประกันภัยสุทธิ 129.47 บาทต่อไร่ในกรณีที่เกิดความเสียหายเกษตรกรผู้ปลูกข้าวที่เข้าร่วมโครงการจะได้รับสินไหมทดแทนจากผู้รับประกันภัยเอกชนเพิ่มเ ติมจากการช่วยเหลือผู้ประสบภัยของรัฐปัจจุบัน โดยจำนวนค่าสินไหมทดแทนจะขึ้นกับระยะการเพาะปลูก โดยแบ่งออกเป็น 2 ระยะ คือ 60 วันแรก นับจากวันเริ่มเพาะปลูก จำนวน 606 บาทต่อไร่ และวันที่ 61 ขึ้นไป จนถึงวันสุดท้ายก่อนการเก็บเกี่ยว จำนวน 1,400 บาทต่อไร่

โดยบริษัทเอกชนผู้รับประกันภัยตามโครงการนี้มีทั้งหมด 8 บริษัท ประกอบด้วย บริษัท กรุงเทพประกันภัย จำกัด (มหาชน) บริษัท ทิพยประกันภัย จำกัด (มหาชน) บริษัท ไทยเศรษฐกิจประกันภัย จำกัด (มหาชน) บริษัท ประกันภัยไทยวิวัฒน์ จำกัด (มหาชน) บริษัท นวกิจประกันภัย จำกัด (มหาชน) บริษัท วิริยะประกันภัย จำกัด (มหาชน) บริษัท เมืองไทยประกันภัย จำกัด (มหาชน) และบริษัท อาคเนย์ประกันภัย จำกัด (มหาชน) ซึ่งได้ยืนยันความพร้อมในการจ่ายค่าสินไหมทดแทนภายใน 15 วัน นับจากวันที่ได้รับเอกสารประกอบการจ่ายสินไหมทดแทนครบถ้วน

นอกจากนี้ ธ.ก.ส. ในฐานะผู้บริหารโครงการจะทำหน้าที่ขับเคลื่อนโครงการจากผู้รับประกันภัยไปยังเกษตรกรทั่วประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเกษตรกรรายย่อยให้สามารถเข้าถึงกรมธรรม์ประกันภัยได้อย่างทั่วถึง ได้ยืนยันความพร้อมในการขายกรมธรรม์ซึ่งมีช่วงเวลาสอดคล้องกับช่วงเวลาเพาะปลูกของเกษตรกรในแต่ละภูมิภาค โดยเกษตรกรในทุกภาคยกเว้นภาคใต้จะสามารถซื้อกรมธรรม์ประกันภัยข้าวนาปีได้ที่สำนักงาน ธ.ก.ส. ที่ให้บริการในพื้นที่ที่เกษตรกรมีแปลงเพาะปลูก ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2554 ถึงวันที่ 31 กรกฎาคม 2554 และสำหรับภาคใต้ เกษตรกรจะสามารถซื้อกรมธรรม์ประกันภัยได้ตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2554 ถึงวันที่ 31 สิงหาคม 2554


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ