กรุงเทพโพลล์เผยนักเศรษฐศาสตร์ค้านตั้งกองทุนมั่งคั่งฯ เหตุ ศก.โลกผันผวน

ข่าวเศรษฐกิจ Monday September 12, 2011 10:27 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ศูนย์วิจัยมหาวิทยาลัยกรุงเทพ(กรุงเทพโพลล์) เผยความเห็นของนักเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่ 50.7% ค้านแนวคิดในการจัดตั้งกองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติของรัฐบาล โดยใช้ทุนสำรองระหว่างประเทศในส่วนที่ไม่ใช่เงินของคลังหลวง เงินหนุนพันธบัตร และทองคำหลวงตามหาบัว เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจโลกยังมีความผันผวนสูงและมีโอกาสที่จะเกิดวิกฤติขึ้นอีก ทำให้เสี่ยงต่อการขาดทุนและอาจนำไปสู่วิกฤติเศรษฐกิจไทยอีกครั้ง ดังนั้นประเทศไทยควรเน้นรักษาสภาพคล่องไว้ใช้ในยามฉุกเฉินมากกว่านำมาลงทุน

นอกจากนี้ยังเห็นว่าระบบการเมืองและระบบราชการไทยในปัจจุบันยังไม่เอื้อต่อการจัดตั้งกองทุนฯ อีกทั้งยังสุ่มเสี่ยงต่อปัญหาเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อน และการทุจริตคอร์รับชัน ขณะที่ทุนสำรองระหว่างประเทศเป็นสินทรัพย์ที่มีเจ้าของหรือเจ้าหนี้(นักลงทุนต่างชาติ) และเมื่อหักเงินจำนวนนี้แล้ว ทุนสำรองที่เป็นของคนไทยเองก็ไม่ได้มีมากมายที่เพียงพอที่จะนำไปลงทุนอย่างคุ้มค่า

อย่างไรก็ตาม หากจะมีการจัดตั้งกองทุนฯ ดังกล่าวขึ้นแล้ว นักเศรฐศาสตร์ส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยที่จะนำไปลงทุนในแหล่งพลังงาน เช่น บ่อน้ำมันในต่างประเทศ แต่เห็นด้วยที่จะนำไปลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน(Infrastructure) ภายในประเทศ

ขณะเดียวกันนักเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่ร้อยละ 52.2 ยังไม่เห็นด้วยกับการบริหารจัดการทุนสำรองระหว่างประเทศของธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ในปัจจุบันที่เน้นการลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ

นอกจากนี้ นักเศรษฐศาสตร์ยังมีข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการจัดตั้งกองทุนฯ ได้แก่ 1.ให้ตั้งคณะทำงานที่เป็นอิสระจากฝ่ายการเมืองจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อทำการศึกษาในประเด็นต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น การศึกษาเรื่องความจำเป็นในการจัดตั้งกองทุน แหล่งที่มาของเงินลงทุน ช่วงเวลาที่เหมาะสมในการลงทุน กรอบในการลงทุน ผลตอบแทน และความเสี่ยง เป็นต้น 2.เงื่อนไขที่สำคัญในการจัดตั้งกองทุน คือ ความพร้อมของฝ่ายการเมืองที่ต้องไม่มีคอร์รับชัน ผลประโยชน์ทับซ้อน และต้องไม่ยุ่งเกี่ยวกับการบริหารจัดการกองทุน อีกทั้งควรมีระบบติดตามตรวจสอบการดำเนินงาน ความโปร่งใส และมีหลักธรรมาภิบาล และ 3.แหล่งที่มาของการจัดตั้งกองทุนควรมาจากแหล่งอื่นๆ มากกว่าที่จะมาจากทุนสำรองระหว่างประเทศ เช่น การระดมทุนจากประชาชน เงินกำไรจากรัฐวิสาหกิจ เป็นต้น

ทั้งนี้ กรุงเทพโพลล์ได้ทำการสำรวจความคิดเห็นนักเศรษฐศาสตร์ที่ทำงานอยู่ในหน่วยงานด้านการวิเคราะห์ วิจัยเศรษฐกิจระดับชั้นนำของประเทศ 29 แห่ง จำนวน 67 คน โดยเก็บข้อมูลระหว่างวันที่ 6-9 ก.ย. ที่ผ่านมา


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ