ATTA ชี้น้ำท่วม-ศก.ยุโรปไม่กระทบท่องเที่ยวไทย, แนะแก้จุดอ่อนรับ AEC

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday September 29, 2011 18:08 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายชิดชัย สาครบดี Vice President สมาคมไทยธุรกิจท่องเที่ยว (ATTA) คาดว่า ปี 54 จำนวนนักท่องเที่ยวที่เดินทางมาประเทศไทยเป็นไปตามเป้าหมายที่กระทรวงการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยคาดการณ์ไว้ที่ 19 ล้านคน และจะมีรายได้จากการท่องเที่ยวอยู่ที่ประมาณ 3 แสนล้านบาท โดยมองว่าขณะนี้สถานการณ์การเมืองนิ่ง ปัญหาน้ำท่วมที่กำลังเกิดในพื้นที่ภาคกลางอยู่ในขณะนี้ มองว่าไม่กระทบ เนื่องจากพื้นที่เหล่านั้นไม่ค่อยมีแหล่งท่องเที่ยว ประกอบกับประเทศไทยมีแหล่งท่องเที่ยวอื่นๆที่พร้อมจะให้การต้อนรับนักท่องเที่ยว

ส่วนปัญหาเศรษฐกิจในยุโรปนั้น มองว่าอาจจะทำให้ตลาดนักท่องเที่ยวยุโรปเดินทางมาไทยลดลงบ้าง แต่ไม่กระทบตัวเลขนักท่องเที่ยวและเม็ดเงิน เนื่องจากตลาดหลักคือนักท่องเที่ยวเอเชีย คือ จีน ซึ่งปี 53 จำนวนนักท่องเที่ยว 10 อันดับที่เดินทางมาไทยคือ จีน รัสเซีย อินเดีย เกาหลี ญี่ปุ่น ไต้หวัน เวียดนาม ฮ่องกง อินโดนีเซีย และ เยอรมนี

นายชิดชัย คาดว่าปี 55 การท่องเที่ยวไทยจะยังเติบโต 20% จำนวนนักท่องเที่ยวน่าจะอยู่ที่ประมาณ 20-21 ล้านคน คิดเป็นมูลค่าประมาณ 5 แสนล้านบาท

ด้านศูนย์วิจัยเศรษฐศาสตร์ประยุกต์ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เปิดเผยผลการศึกษาวิเคราะห์นโยบายติดตามและประเมินผลกระทบจากประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ต่อ SMEs สาขาการท่องเที่ยวของไทย โดยเฉพาะการเปิดเสรีการค้าบริการ สรุปว่า สถานการณ์ท่องเที่ยวอาเซียนในภาพรวมจะคึกคักมากขึ้นทั้งจากนักท่องเที่ยวที่เป็นตลาดอาเซียนด้วยกัน นักท่องเที่ยวจากเอเซีย เช่น จีน รัสเซีย เกาหลี ญี่ปุ่น ซึ่งปัจจุบันคิดเป็น 70% ของนักท่องเที่ยวทั้งหมดที่เดินทางเข้ามาประเทศไทย ขณะที่นักท่องเที่ยวและตลาดท่องเที่ยวยุโปรและสหรัฐฯ โตลดลง

ดังนั้น การเกิดประชาคมอาเซียน หรือ AEC ถือเป็นโอกาสของประเทศที่มีศักยภาพและความสามารถในการดึงดูดเม็ดเงินจากต่างประเทศ

ซึ่งในส่วนของประเทศไทย ถือว่ามีจุดแข็งเรื่องสาธารณูปโภค โครงสร้างการขนส่ง และเทคโนโลยี มีความหลากหลายและความแตกต่างในเรื่องของสถานที่ท่องเที่ยว อาหาร ขนบวัฒนธรรมและประเพณีที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว มีการรวมตัวที่เข้มแข็งของผู้ประกอบการทั้งที่เป็นในรูปแบบของสมาคม ชมรม องค์กรต่างๆ, ด้านราคาถือว่าถูกและมีความคุ้มค่าในสายตาของนักท่องเที่ยว มีการบริการที่เป็นกันเองและเอาใจใส่ และ ภาครัฐคอยให้การส่งเสริมสนับสนุน

ด้านโอกาสทองที่จะทำให้การท่องเที่ยวของประเทศไทยมีอนาคต คือ การเดินทางที่สะดวกสบายขึ้น การสร้างระบบขนส่งมวลชนที่มีความเชื่อมโยงกัน มีการสร้างรถไฟฟ้าในหลายเส้นทาง

อย่างไรก็ตาม ผลวิจัยพบว่าประเทศไทยมีจุดอ่อนคือ ความเสื่อมโทรม ขาดความเป็นระบบในการบริหารจัดการที่ดี เช่น มีการฉ้อโกง (Scams) เอาเปรียบนักท่องเที่ยว มีจุดอ่อนด้านความปลอดภัย ผนวกเข้ากับปัจจัยกดดันที่ถือเป็นอุปสรรคต่อการเติบโตของการท่องเที่ยวไทย เช่น ทุกประเทศหันมาให้ความสำคัญกับอุตสาหกรรมท่องเที่ยว ปัญหาเศรษฐกิจโลก กฎระเบียบของ AEC ในเชิงปฏิบัติ

นอกจากนี้ ประเทศไทยซึ่งเป็นแหล่งท่องเที่ยวแต่กลับมีความอ่อนแอด้านภาษาสากล ทำให้เป็นขีดจำกัดในการสื่อสารกับนักท่องเที่ยว สถานการณ์การเมืองไม่ค่อยนิ่ง ที่สำคัญคือยังขาดความรู้ความเข้าใจกี่ยวกับ AEC

ทั้งนี้ เมื่อย้อนกลับไปพิจารณาจากข้อมูล ปี 2553 ของ World Economic Forum พบว่า สัดส่วนจีดีพีของสาขาการเดินทางและการท่องเที่ยวต่อจีดีพีทั้งหมดในปี 2553 พบว่า จีดีพีการท่องเที่ยวของประเทศไทยคิดเป็นร้อยละ 6.2 ของจีดีพีทั้งหมด เป็นอันดับ 2 รองจากประเทศกัมพูชาที่การท่องเที่ยวคิดเป็นร้อยละ 8.9 ของจีดีพีทั้งหมด แต่เมื่อดูจากอัตราเพิ่มของจีดีพีของสาขาการเดินทางและการท่องเที่ยวต่อจีดuพีทั้งหมด ประเทศเวียดนามอยู่ที่ ร้อยละ 7.6 ขณะที่ขณะที่ประเทศไทยอยู่ที่ร้อยละ 7.3

คณะวิจัยฯ ยังเปิดเผยว่า สถานการณ์การท่องเที่ยวของประเทศไทยเริ่มชะลอตัวตั้งแต่หลังปี 2549 เป็นต้นมา ปัจจัยหลักคือการเมืองในประเทศไม่นิ่ง มีกีฬาสี มีการปิดสนามบิน ทำให้นักท่องเที่ยวเบนเป้าหมายการท่องเที่ยวไปที่ประเทศเพื่อนบ้าน เช่น กัมพูชา เวียดนาม ฯลฯ มากขึ้น

ในตอนท้ายคณะวิจัย ได้เสนอแนะกลยุทธ์ในการสร้างจุดแข็งและโอกาสต่ออุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทย เช่น ชูจุดแข็งด้านการท่องเที่ยวที่หลากหลายและแตกต่าง เช่น การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ การท่องเที่ยวเชิงเกษตร กระตุ้นการท่องเที่ยวโดยการโฆษณาประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อออนไลน์ เสริมสร้างสมรรถนะของบุคคลากรในด้านการบริการโดยเฉพาะด้านภาษาสากลผสมผสานกับเอกลักษณ์ความเป็นไทย สร้างความตระหนักแก่ผู้ประกอบการทั้งขนาดกลางและขนาดย่อมในการเตรียมพร้อมเพื่อรองรับ AEC สร้างจิตสำนึกอันดีแก่ผู้ประกอบการโดยเน้นให้เห็นถึงผลเสียในระยะยาวจากความเสื่อมโทรมของทรัพยากรและการฉ้อโกง และมีการรวมตัวเพื่อให้เกิดการบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง ปฏิรูปการบริหารรถไฟไทยให้ทันสมัยเพื่อดึงดูดใจนักท่องเที่ยวให้มากขึ้น

ในส่วนของภาครัฐควรมีกลยุทธ์เพื่อรองรับ AEC ดังนี้ จัดทำคู่มือเฉพาะสาขา รวมทั้งกฎระเบียบ, กำกับดูแลธุรกิจ ทรัพยากรมนุษย์ ทรัพยากรธรรมชาติ ภายใต้กฎหมาย, กำหนดมาตรฐานแรงงานในสาขาต่างๆ, ให้การสนับสนุนและอบรมด้านภาษา ทั้งภาษาอังกฤษและภาษาอื่นในอาเซียน, สนับสนุนสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำให้แก่กลุ่มผู้ประกอบการรายย่อย และส่งเสริมการสร้างเครือข่ายร่วมกันระหว่าง SMEs ไทย-อาเซียน

ปี 2553 ประเทศไทยมีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามา 15.8 ล้านคน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ