อธิบดีธนารักษ์คนใหม่ ยึด 4 หลักบริหารสินทรัพย์สร้างมูลค่าขับเคลื่อนศก.

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday October 4, 2011 15:52 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายนริศ ชัยสูตร อธิบดีกรมธนารักษ์คนใหม่ เปิดเผยถึงแนวทางในการทำงานหลังเข้ารับตำแหน่งว่า ขณะนี้มีความกังวลถึงความเสี่ยงของเศรษฐกิจไทยจากเศรษฐกิจภาคต่างประเทศมีสูงขึ้น เนื่องจากวิกฤตที่เกิดขึ้นในยุโรปและสหรัฐฯ ส่งผลต่อเศรษฐกิจโลกในทางลบ ทำให้ความต้องการด้านการส่งออกของประเทศไทยมีแนวโน้มลดลงอย่างชัดเจน ดังนั้น เพื่อตอบสนองต่อนโยบายของ รมว.คลัง ที่ต้องการกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศทดแทนภาคต่างประเทศ ดังนั้นกรมธนารักษ์จะปรับปรุงบทบาทเพื่อเป็นเครื่องมือในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจภายในประเทศมากขึ้น

ทั้งนี้ จะยึดวิธี 4 ประการ ประกอบด้วย (1) ในฐานะที่กรมธนารักษ์เป็นเจ้าของปัจจัยการผลิตที่สำคัญของประเทศ คือที่ดินราชพัสดุกว่า 12.5 ล้านไร่ จะเน้นให้ความสำคัญในการบริหารที่ราชพัสดุให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยการนำที่ดินที่เหมาะสมมาสร้างกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่มีมูลค่าเพิ่มเศรษฐกิจสูง ทั้งในแง่ที่ให้เอกชนเช่าเพื่อการผลิตหรือทำกิจกรรมทางเศรษฐกิจ การพัฒนาที่ดินส่วนกลางเพื่อเป็นสาธารณูปโภคซึ่งเป็นการสร้างทุนทางเศรษฐกิจอย่างหนึ่ง และการพัฒนาให้เกิดการสร้างกิจกรรมผ่านการลงทุนของบริษัทธนารักษ์พัฒนาสินทรัพย์ โดยเชื่อว่าถ้ามีการเลือกพื้นที่ได้เหมาะสมและเร่งกระบวนให้เกิดการใช้ประโยชน์ในพื้นที่ดังกล่าวจะทำให้มีการเก็บค่าธรรมเนียมการใช้ที่ดินสูงขึ้น ซึ่งจะเป็นรายได้โดยตรงจากกรมธนารักษ์คืนให้รัฐบาล รวมทั้งการผลิตและจ้างงานสูงขึ้นยังส่งผลแก่รายได้รัฐบาลทางอ้อมจากการเพิ่มขึ้นของภาษีรายได้นิติบุคคลภาษีรายได้บุคคลธรรมดาและรายได้จากภาษีมูลค่าเพิ่มด้วย

(2) การกำหนดราคาประเมินทุนทรัพย์ของอสังหาริมทรัพย์ ได้แก่ ที่ดิน โรงเรือน สิ่งปลูกสร้าง อาคารชุด เพื่อเป็นฐานการใช้จดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมนั้นจะเน้นภารกิจที่จะนำไปสู่ราคาที่เป็นธรรม หรือราคาที่สะท้อนราคาตลาดให้มากที่สุด เพราะการตีราคาที่ดินที่ต่ำกว่าความเป็นจริงนำมาซึ่งการใช้ที่ดินที่สูญเปล่า แต่การตีราคาสูงเกินไปเป็นการเสียประโยชน์ที่ควรจะได้จากที่ดิน ดังนั้นจะกำกับกระบวนการกำหนดราคาของกรมธนารักษ์ให้รวดเร็วมีประสิทธิภาพและมีความเป็นธรรมมากยิ่งขึ้นไปอีก

(3)เรื่องการผลิตเหรียญกษาปณ์และบริหารเงินตรา จะนำหลักเศรษฐศาสตร์เข้ามาใช้ในการคาดการณ์ปริมาณจำนวนและการผลิตเหรียญให้ตรงกับความต้องการการใช้เหรียญให้มากที่สุด เพื่อไม่ให้การใช้จ่ายในเศรษฐกิจเกิดการสะดุดหรือการทำให้ข้าวของแพงขึ้นจากการที่ขาดปริมาณของเหรียญราคาต่ำเนื่องจากมีแนวโน้มว่าเหรียญที่มีมูลค่าต่ำจะหายจากตลาดเพราะมูลค่าโลหะที่ใช้ในการผลิตเหรียญมีราคาใกล้เคียงหรือมากกว่าราคาหน้าเหรียญ ซึ่งการแก้ปัญหานี้คงต้องหาวิธีผลิตเหรียญโดยใช้ต้นทุนที่ต่ำลงไปอีก และต้องสนับสนุนให้มีการใช้บัตรเครดิตมากขึ้น ซึ่งเป็นเรื่องที่เกินอำนาจของกรมธนารักษ์ แต่จะประสานกับสำนักเศรษฐกิจการคลังและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการออกบัตรเครดิตเพื่อให้ได้ออกกติกาหรือกฎเกณฑ์ที่สนับสนุนการการใช้บัตรเครดิตได้มากขึ้น และถ้าทำสำเร็จจะเป็นการกระตุ้นหรือหล่อลื่นระบบเศรษฐกิจอีกทางหนึ่ง

(4) การอนุรักษ์ทรัพย์สินมีค่าของแผ่นดิน โดยเฉพาะโครงการจัดสร้างพิพิธภัณฑ์ทรัพย์สินมีค่าของแผ่นดินและโครงการจัดแสดงทรัพย์สินมีค่าของแผ่นดินระบบเสมือนจริงจะมีการผลักดันโครงการนี้ให้มีความชัดเจนและเกิดขึ้นให้ได้ เนื่องจากการสร้างพิพิธภัณฑ์เป็นส่วนหนึ่งของการบริหารจัดการวัฒนธรรมเพื่อให้เกิดมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ เพราะพิพิธภัณฑ์ที่ดีจะเป็นแรงดึงดูดทั้งนักท่องเที่ยวคนไทย และนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศให้มาประเทศไทยหรือใช้เวลาอยู่ในประเทศไทยมากขึ้น เป็นการกระตุ้นการใช้จ่ายในประเทศอีกทาง


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ