Analysis: จีนจะเข้ามามีส่วนช่วยกู้วิกฤตหนี้ยุโรปหรือไม่

ข่าวต่างประเทศ Friday October 28, 2011 14:00 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นักวิเคราะห์มองว่า การประชุมสุดยอดยูโรโซนครั้งที่ 2 ซึ่งยืดเยื้อมาจนกระทั่งถึงเช้าวันพฤหัสบดีนั้น ถือเป็นอีกครั้งที่ผู้นำยุโรปไม่สามารถนำเสนอมาตรการกู้วิกฤตที่ชัดเจนและเด็ดขาดในการสกัดวิกฤตไม่ให้ลุกลามออกไปได้

ความหวังที่ว่า จีนและประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่อื่นๆ อาจจะเข้ามาช่วยกอบกู้วิกฤตนั้น ถือเป็นเรื่องเก่าที่นำมาเล่าใหม่ ในขณะที่ ผู้เชี่ยวชาญบางรายแนะให้ระมัดระวัง เนื่องจากข้อตกลงจากการประชุมสุดยอดอาจจะเป็นการยัดเยียดข้อเสนอให้ประเทศเหล่านี้เข้าร่วมในมาตรการกู้วิกฤต มากกว่าที่จะเป็นเข้ามามีส่วนร่วมโดยสมัครใจ

ภายใต้แผนการที่ผู้นำยูโรโซนได้ให้ความเห็นชอบเมื่อช่วงเช้าวันพฤหัสบดีที่ผ่านมานั้น หนี้ของกรีซจะลดลง ขณะที่ธนาคารของยุโรปจะได้รับการปรับโครงสร้างเงินทุน และกองทุนรักษาเสถียรภาพการเงินยุโรป (EFSF) จะมีวงเงินเพิ่มขึ้นเพื่อให้กองทุนมีศักยภาพมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม ใบสั่งยาที่ผู้นำยุโรปจ่ายมานี้ ดูเหมือนว่าจะก่อให้เกิดปัญหามากกว่าที่จะแก้ปัญหา

การลดมูลค่าพันธบัตรรัฐบาลกรีซที่เจ้าหนี้ภาคเอกชนถือครองอยู่ลง 50% นั้น จะส่งผลกระทบรุนแรงต่อธนาคารที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตอยู่แล้ว ดังนั้น จึงมีการคาดการณ์กันว่าผู้นำของยุโรปคงจะต้องมางัดข้อกันอีกในเรื่องรายละเอียดของการปรับโครงสร้างเงินทุน ซึ่งเป็นประเด็นที่ยังไม่ได้มีการตัดสินใจ

การที่แต่ละฝ่ายยังคงลังเลและรีรอที่จะแบ่งปันทรัพยากรในส่วนของตนเพื่อแก้ปัญหานั้น ไม่เพียงแต่จะเป็นภัยคุกคามความอยู่รอดของยุโรปเท่านั้น แต่ยังรวมถึงเศรษฐกิจโลกโดยรวมด้วย ทั้งนี้ ยูโรโซนกำลังพิจารณาที่จะหันไปพึ่งเงินทุนจากจีนและประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่อื่นๆ ด้วยการจัดตั้งนิติบุคคลเฉพาะกิจ (SPV) ขึ้นมาแห่งหนึ่ง หรือมากกว่านั้น

การสร้างเสถียรภาพในยูโรโซนถือเป็นเรื่องของจีนด้วยเช่นกัน เนื่องจากยุโรปเป็นตลาดส่งออกที่ใหญ่ที่สุดของจีน และจีนก็ได้แสดงความเชื่อมั่นมาโดยตลอดว่า ประเทศในกลุ่มสหภาพยุโรป (อียู) จะมีปัญญาและความสามารถในการคลี่คลายวิกฤตได้ในที่สุด

อย่างไรก็ตาม เซียง โหว นักวิจัยของสถาบันสังคมศาสตร์จีน (CASS) ซึ่งเป็นหน่วยงานวิจัยชั้นนำของประเทศ กล่าวว่า การที่จีนจะเสนอตัวเข้าช่วยหรือไม่นั้น ก็ขึ้นอยู่กับมาตรการกู้วิกฤตว่าเป็นเช่นไร

"จะเป็นอย่างไรถ้าหากมีการผิดนัดชำระหนี้ขึ้นในอนาคต หรือหากประเทศอื่นๆเผชิญวิกฤตซ้ำรอยกรีซ ผู้คนจำนวนมากก็คงจะตั้งคำถามทำไมเราจะต้องเข้าไปมีส่วนร่วมในสถานการณ์ที่ยุ่งเหยิงเช่นนี้ด้วย" นายเซียงกล่าว "กุญแจที่จะแก้ไขวิกฤตหนี้และเส้นชีวิตของเศรษฐกิจยุโรปนั้น อยู่ในกำมือของยุโรปเอง มากกว่าที่จะอยู่ในกำมือของจีน"

เขากล่าวต่อไปว่า คงจะเป็นเรื่องที่ไม่สามารถยอมรับได้หากปล่อยให้ประเทศกำลังพัฒนาอย่างจีนมาคอยตามล้างตามเช็ด ในขณะที่ยุโรปนั่งอยู่เฉยๆ "มันก็เหมือนกับการที่ใครคนหนึ่งทำให้เกิดรูขนาดใหญ่ขึ้นมา แล้วต้องขอให้อีกคนเข้าอุดรูโหว่นั้น"

ในระยะสั้นนั้น ยูโรโซนจะต้องสรุปแผนการที่ชัดเจนกว่านี้ เพื่อฟื้นความเชื่อมั่นของนักลงทุน และป้องกันไม่ให้วิกฤตหนี้ลุกลามออกไปอีก สำหรับในระยะยาว "ยูโรโซนควรจะจัดระเบียบภายในบ้านของตัวเองด้วยการปฏิรูปแม้ว่าเป็นเรื่องที่เจ็บปวดก็ตาม รวมทั้งใช้นโยบายการเงินและการคลังอย่างรับผิดชอบ" นายเซียงกล่าว

ในขณะเดียวกัน นักเศรษฐศาสตร์ของยุโรปบางรายก็มองว่า ประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ควรจะเข้ามาช่วยเหลือ เพราะการป้องกันไม่ให้เศรษฐกิจยุโรปเข้าสู่ภาวะถดถอยนั้นถือเป็นเรื่องที่สำคัญ เมื่อพิจารณาจากการฟื้นตัวที่เปราะบางของเศรษฐกิจโลก

ฟาเบียน ซูลีก หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของศูนย์นโยบายยุโรป ซึ่งเป็นหน่วยงานวิจัยที่ตั้งอยู่ในกรุงบรัสเซลส์ กล่าวกับซินหัวผ่านทางอีเมลว่า ประเทศในกลุ่ม BRICS ซึ่งประกอบด้วยบราซิล รัสเซีย อินเดีย จีน และแอฟริกาใต้นั้น ควรจะมองในระยะยาว รวมถึงซื้อพันธบัตรและเข้าลงทุนในประเทศเหล่านี้

ซูลีกกล่าวว่า เศรษฐกิจโลกไม่สมควรจะได้รับความบอบช้ำจากภาคการเงินอีกแล้วในช่วงเวลานี้ นอกจากนี้ กองทุนความมั่งคั่งก็มีเงินทุนจำนวนมหาศาลที่จะลงทุนในทางเลือกที่มีอยู่ไม่มากนักในขณะนี้

อย่างไรก็ตาม เซียงกล่าวว่า การตัดสินใจเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ลำบาก และนักลงทุนก็ต้องการความเชื่อมั่นว่า สิ่งที่ตัวเองลงทุนไปนั้นปลอดภัย และให้ผลตอบแทนกลับคืนมา

จาง เจิงฟู จากสำนักข่าวซินหัวรายงาน


แท็ก ยุโรป  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ