
นางอุมากมล สุนทรรัติ ผู้ช่วยผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยผลสำรวจพฤติกรรมการใช้จ่าย และผลกระทบของผู้ปกครองในช่วงเปิดเทอม ซึ่งเป็นการสำรวจจากกลุ่มตัวอย่าง 1,250 คนทั่วประเทศ ในระหว่างวันที่ 1-6 พ.ค.68 พบว่า ในภาพรวมของการเปิดเทอมปีการศึกษา 2568 นี้ ผู้ปกครองมีมูลค่าการใช้จ่ายรวม (เงินสะพัด) 62,614 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 3.8% จากปีก่อน
โดยผู้ปกครองส่วนใหญ่เกือบ 67% ระบุว่า มีเงินเพียงพอกับค่าใช้จ่ายของบุตรหลายในช่วงเปิดเทอม ขณะที่อีกประมาณ 33% ระบุว่า มีไม่เพียงพอ ซึ่งในส่วนของผู้ปกครองที่ระบุว่ามีเงินไม่เพียงพอนั้น ใช้แนวทางการแก้ปัญหาโดยวิธีการนำทรัพย์สินไปจำนำมากที่สุด รองลงมา คือการกู้เงินในระบบ ตามด้วยการผ่อนชำระค่าเทอมเป็นงวด, การเบิกเงินสดจากบัตรเครดิต/บัตรกดเงินสด, ยืมญาติพี่น้อง, หารายได้เสริม, กู้เงินนอกระบบ และทางเลือกสุดท้าย คือให้บุตรหลานพักการเรียนไว้ก่อน

ทั้งนี้ ค่าใช้จ่ายโดยรวมสำหรับช่วงเปิดเทอมปีนี้ เฉลี่ยอยู่ที่คนละ 26,039 บาท โดยผู้ปกครองส่วนใหญ่ 45.6% มองว่า ค่าใช้จ่ายโดยรวมในช่วงเปิดเทอมปี 68 เท่ากับเปิดเทอมปี 67ที่ผ่านมา รองลงมา ผู้ปกครอง 30.2% มองว่า มีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น โดยผู้ปกครอง 4.5% มองว่าค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นมาก ขณะที่ผู้ปกครอง 19.7% ระบุว่าค่าใช้จ่ายปีนี้น้อยลง
เมื่อถามว่า ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการเรียนของบุตรหลาย มีส่วนทำให้ต้องก่อหนี้เพิ่มหรือไม่นั้น พบว่าผู้ปกครองส่วนใหญ่ 41% ตอบว่าไม่มีส่วนให้ก่อหนี้เพิ่ม รองลงมา ผู้ปกครอง 38% ตอบว่ามีการก่อหนี้เพิ่ม แต่ไม่ถึง 10% ของยอดหนี้ทั้งหมด โดยมีผู้ปกครองเพียง 0.4% เท่านั้น ที่ตอบว่ามีการก่อหนี้เพิ่มมากว่า 60% ของยอดหนี้ทั้งหมด

นอกจากนี้ เมื่อถามว่า ภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบันส่งผลกระทบต่อค่าใช้จ่ายในการศึกษาของบุตรหลานหรือไม่นั้น ผู้ปกครองส่วนใหญ่ 56.6% ตอบว่าส่งผลกระทบมาก มีเพียง 8.8% เท่านั้น ที่ตอบว่าไม่ส่งผลกระทบ
สำหรับความสำคัญของกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) ในระดับมัธยมศึกษา และอุดมศึกษานั้น ผู้ปกครองส่วนใหญ่ 50.1% ตอบว่า มีความสำคัญมาก รองลงมา 43.5% ตอบว่ามีความสำคัญปานกลาง ขณะที่อีก 6.4% ตอบว่ามีความสำคัญน้อย ทั้งนี้ กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ 47.1% มองว่า กยศ. ช่วยลดภาระผู้ปกครองได้ในระดับปานกลาง รองลงมา กลุ่มตัวอย่าง 43.6% ตอบว่าช่วยได้มาก ขณะที่กลุ่มตัวอย่าง 3.5% ตอบว่าช่วยไม่ได้เลย

ทั้งนี้ บรรดาผู้ปกครองยังมีข้อเสนอแนะให้รัฐบาลปรับปรุงด้านการศึกษาของไทยในปัจจุบัน ดังนี้
- ปรับปรุงระบบการประเมินผลนักเรียนที่วัดผลในหลายมิติ
- ลดความเหลื่อมล้ำด้านการศึกษา ให้แต่ละโรงเรียนมีคุณภาพการเรียนการสอนที่เป็นมาตรฐานเดียวกัน
- สนับสนุนทุนการศึกษาสำหรับผู้ขาดแคลนทุน
- พัฒนาคุณภาพการศึกษาให้ทัดเทียมระดับสากล
- ปรับการเรียนการสอนให้ดึงดูดความสนใจของนักเรียน
- เพิ่มบุคลากรทางการศึกษา
ด้านนายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดี และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ ม.หอการค้าไทย เปิดเผยว่า ยอดการใช้จ่ายในช่วงเปิดเทอมปีการศึกษา 2568 ถือว่ามียอดใช้จ่ายสูงสุดเป็นประวัติการณ์ นับตั้งแต่ที่เริ่มทำการสำรวจมาตั้งแต่ปี 53 ซึ่งส่วนหนึ่งอาจตีความได้ว่า ค่าใช้จ่ายด้านการศึกษาปรับตัวสูงขึ้น หรือผู้ปกครองให้ความสำคัญกับเรื่องการศึกษาของบุตรหลานมากขึ้น
อย่างไรก็ดี การผลสำรวจดังกล่าว ไม่พบว่าผู้ปกครองลดหรือประหยัดการใช้จ่ายด้านการศึกษาของบุตรหลาน โดยส่วนใหญ่ตอบว่าค่าใช้จ่ายด้านการศึกษาในปีนี้ ยังใกล้เคียงกับปีก่อน และผู้ปกครองไม่ได้ขาดแคลนเงินมากนัก ภาพรวมการใช้จ่ายด้านการศึกษายังไม่ได้หยุดชะงัก
"เงินสะพัด 62,000 ล้านบาท การจับจ่ายใช้สอยสูงสุดเป็นประวัติการณ์ นับตั้งแต่มีการสำรวจในปี 53 หรือประมาณ 16 ปี...ค่าใช้จ่ายด้านการศึกษาในช่วงเปิดเทอม เศรษฐกิจยังเดินหน้าได้อยู่ ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการศึกษา เช่น โรงเรียน สถาบันการศึกษา ร้านจำหน่ายอุปกรณ์การศึกษา ยังถือว่าใช้ได้ในระดับหนึ่ง ภาพของเศรษฐกิจยังเดินหน้าอย่างต่อเนื่อง ยังไม่มีผลกระทบจาก Trade War ยังไม่มีผลกระทบจากการซึมตัวของเศรษฐกิจอย่างรุนแรง" นายธนวรรธน์ ระบุ
สำหรับความห่วงใยด้านการศึกษา คือ ผู้ปกครองส่วนใหญ่จะห่วงบุตรหลายในเรื่องการคบเพื่อน และสังคมในโรงเรียนมีความรุนแรงมากขึ้น นอกจากนี้ ผู้ปกครองยังมองว่า การศึกษาไทยน่าจะมีการพัฒนาคุณภาพมากขึ้น เพราะคนยังมีความเชื่อมั่นน้อยว่าสถาบันการศึกษาของไทย จะทำให้คุณภาพของนักเรียนโดดเด่นได้เหมือนกับโรงเรียนนานาชาติ
"ขณะนี้ ไม่มีประเด็นใดที่ทำให้ ม.หอการค้าไทย มีความกังวลว่าเศรษฐกิจซึมตัวลง หรือการใช้จ่ายในช่วงเปิดเทอมฝืดเคือง ยังไม่เห็นผู้ปกครองระมัดระวังการจับจ่ายใช้สอย ยังไม่เห็นสถานการณ์นั้น ถือว่าเศรษฐกิจไทยยังเดินหน้าได้อยู่" นายธนวรรธน์ ระบุ