TTB มองเงินบาทแนวโน้มแข็งค่า แม้ปัจจัยพื้นฐานไม่เอื้อ สิ้นปี 68 อาจหลุด 33 บ.

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday May 15, 2025 18:15 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีทีบี (ttb analytics) มองว่า ความสัมพันธ์ที่สูงระหว่างค่าเงินบาทและทองคำ เป็นปัจจัยหลักในการแข็งค่าของเงินบาทในช่วงต้นปี 68 ที่ผ่านมา ท่ามกลางความไม่แน่นอนของนโยบายการค้าสหรัฐอเมริกา และความกังวลต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ชะลอตัวลง ทั้งนี้ แม้ว่าทิศทางการเจรจาการค้าของสหรัฐฯ กับประเทศอื่น ๆ จะส่งสัญญาณเชิงบวกมากขึ้น โดยเฉพาะกับจีน แต่ภาพรวมค่าเงินบาทยังคงมีความเสี่ยงแข็งค่าจากความไม่แน่นอนภายใต้การบริหารงานของประธานาธิบดีสหรัฐโดนัลด์ ทรัมป์ และการอ่อนค่าของเงินดอลลาร์ จากภาพเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ชะลอตัวชัดเจนขึ้น พร้อมกับความเสี่ยงเงินเฟ้อที่มีแนวโน้มจำกัด

ttb analytics ระบุว่า ช่วงไตรมาสที่ 2/68 ปกติเป็นฤดูกาลที่ค่าเงินภูมิภาคส่วนใหญ่ เคลื่อนไหวไปในทิศทางอ่อนค่า รวมถึงค่าเงินบาท โดยหากดูผลตอบแทนเฉลี่ย 5 ปีย้อนหลัง เงินบาทเทียบเงินดอลลาร์สหรัฐ มีการปรับตัวอ่อนค่า 1.49% จากสิ้นไตรมาสก่อนหน้า โดยหนึ่งในเหตุผลที่ใช้อธิบายปรากฎการณ์ดังกล่าว คือ การส่งกลับเงินปันผลของนักลงทุนต่างชาติ เนื่องจากเป็นช่วงที่บริษัทจดทะเบียนมีการจ่ายปันผล ตลอดจนเป็นช่วงที่รายรับจากนักท่องเที่ยวต่ำกว่าเมื่อเทียบกับช่วงอื่นของปี (Low Season) ซึ่งกระทบต่อความแข็งแกร่งของดุลบัญชีเดินสะพัดนอกจากนี้ หากดูปัจจัยพื้นฐานของเศรษฐกิจไทยในปัจจุบัน ยิ่งหนุนการอ่อนค่าของเงินบาท

อย่างไรก็ตาม การเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทในปัจจุบัน กลับไม่เป็นไปตามปัจจัยที่กล่าวมาข้างต้น โดยภาพรวมค่าเงินบาท ยังคงแข็งค่า 2.13% ในไตรมาสที่ 2 (ณ วันที่ 13 พ.ค. 68) และมีจังหวะแข็งค่ามากสุดในรอบ 7 เดือน แตะระดับ 32.565 บาท ขณะที่ต้นปีถึงปัจจุบัน ค่าเงินบาทปรับแข็งค่า 2.64% (ณ วันที่ 13 พ.ค. 68)

โดย ttb analytics มองว่าการแข็งค่าของค่าเงินบาท ตั้งแต่ช่วงต้นปี 68 ถึงปัจจุบัน มาจากปัจจัยดังนี้

1. จังหวะการแข็งค่าของค่าเงินบาท ส่วนใหญ่สอดคล้องกับการเพิ่มขึ้นของราคาทองคำโลก ตามความต้องการสินทรัพย์ปลอดภัย (Safe Haven) เพิ่มมากขึ้น หลังมีปัจจัยสนับสนุนจากความไม่แน่นอนของผลกระทบนโยบายภาษีสหรัฐฯ ที่เพิ่มสูงขึ้นในช่วงต้นปี 68 นอกจากนี้ พบว่าความสัมพันธ์ของค่าเงินบาท และราคาทองคำ ในปี 68 ปรับสูงขึ้นเมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยย้อนหลังในช่วงวิกฤตโควิด และอยู่ในระดับที่สูงกว่าความสัมพันธ์ของราคาทองคำกับสกุลภูมิภาคอื่น ๆ

2. ความพิเศษของสินทรัพย์สหรัฐฯ (US Exceptionalism) ปรับลดลงจากความกังวลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ชะลอลง เศรษฐกิจสหรัฐฯ มีความเสี่ยงที่อาจเข้าสู่ภาวะถดถอย (Recession) สะท้อนผ่านข้อมูลเชิงคุณภาพ (Soft Data) ในช่วงหลังที่ออกมาแย่กว่าที่คาด เช่น ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคของมหาวิทยาลัยมิชิแกน และ Conference Board (CB) ที่ทำจุดต่ำสุดตั้งแต่ปี 65 และต้นปี 64 ตามลำดับ ตลอดจนความกังวลจากผลกระทบนโยบายภาษี หลังการเปิดเผยภาษี Liberation day Tariffs ที่ดูรุนแรงกว่าที่หลายฝ่ายคาดไว้

โดยภาพดังกล่าว ส่งผลให้ดัชนีเงินดอลลาร์สหรัฐ โดยรวมปรับอ่อนค่าต่ำกว่าระดับ 100 แม้ภาวะตลาดการเงินโลกจะปิดรับความเสี่ยง นอกจากนี้ เงินดอลลาร์สหรัฐ ยังได้รับปัจจัยอ่อนค่าเพิ่มเติมจากการแข็งค่าของเงินสกุลหลัก และสกุลภูมิภาคอื่น ๆ ที่มีปัจจัยเฉพาะ อาทิ ค่าเงินเยน ตามความต้องการสินทรัพย์ปลอดภัย และค่าเงินยูโร จากความคาดหวังการปฏิรูปการคลังของประเทศเยอรมนี

3. เงินทุนต่างชาติที่ไหลเข้าตลาดพันธบัตรเอเชีย ตามคาดการณ์ทิศทางดอกเบี้ยของธนาคารกลาง ถือเป็นอีกหนี่งปัจจัยเพิ่มเติมในการแข็งค่าของเงินภูมิภาค รวมถึงค่าเงินบาท โดยเฉพาะตั้งแต่กลางเดือนเม.ย. ที่มีเงินทุนไหลเข้าทั้งพันธบัตรระยะสั้น และระยะยาว เพื่อทำกำไรจากผลตอบแทนพันธบัตร เนื่องจากนักลงทุนคาดว่ากลุ่มธนาคารกลางเอเชีย มีแนวโน้มที่จะลดดอกเบี้ยได้มากขึ้น จากแนวโน้มเศรษฐกิจที่ลดลงจากภาษีนำเข้าสหรัฐฯ

ขณะที่แรงกดดันจากเงินเฟ้อยังคงอยู่ในระดับต่ำ สะท้อนจากภาพอัตราเงินเฟ้อทั่วไปล่าสุด ที่อยู่ใกล้เคียงระดับ 2% นอกจากนี้ แนวโน้มราคาพลังงานที่อยู่ในระดับต่ำจากทิศทางเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวลง จะลดความเสี่ยงเงินเฟ้อขาสูง เนื่องจากกลุ่มประเทศดังกล่าว ส่วนใหญ่เป็นผู้นำเข้าพลังงาน (Net Importers)


*ปี 68 เงินบาททิศทางแข็งค่า คาด ณ สิ้นปีต่ำกว่า 33 บาท

ทั้งนี้ แม้ว่าในช่วงหลายสัปดาห์ที่ผ่านมา การเจรจาทางการค้าของสหรัฐฯ กับประเทศต่าง ๆ เริ่มส่งสัญญาณเชิงบวกมากขึ้น และดีกว่าที่หลายฝ่ายคาดการณ์ไว้ โดยเฉพาะกับจีน ที่ 2 ประเทศมีการลดอัตราภาษีเป็นการชั่วคราว 90 วัน โดยสหรัฐฯ ลดภาษีนำเข้าจาก 145% เหลือ 30% ขณะที่ทางการจีนลดภาษีจาก 125% เหลือ 10%

อย่างไรก็ตาม มุมมองทั้งปี 68 ttb analytics คาดว่าค่าเงินบาทยังคงมีความเสี่ยงเคลื่อนไหวในทิศทางแข็งค่า และมีแนวโน้มปิดปีต่ำกว่าระดับ 33.00 บาท/ดอลลาร์ จากประเด็นดังนี้

1. นโยบายและการบริหารงานของทรัมป์ ยังคงมีความไม่แน่นอนสูง ซึ่งเป็นปัจจัยสนับสนุนราคาทองคำ แม้ว่าการเจรจาการค้ากับสหรัฐฯ และประเทศต่าง ๆ ในปัจจุบันจะมีสัญญาณเชิงบวก แต่บทเรียนจากการเจรจาการค้ากับจีนในสมัย Trade War 1.0 พบว่า แม้ว่าทั้ง 2 ประเทศจะมีการตกลงหยุดขึ้นภาษีชั่วคราวในปี 61 แต่การขึ้นภาษีหลังจากนั้นยังคงเกิดขึ้น ดังนั้น การหยุดขึ้นอัตราภาษีนำเข้าของสหรัฐฯ กับจีน และทั่วโลก ที่เป็นการชั่วคราว ยังคงมีความไม่แน่นอน และเป็นปัจจัยสนับสนุนการเคลื่อนไหวของราคาทองคำโลก

นอกจากนี้ ราคาทองคำยังคงมีปัจจัยสนับสนุนเพิ่มเติม จากความต้องการของธนาคารกลางบางกลุ่ม เพื่อใช้ในการกระจายความเสี่ยงเงินทุนสำรองระหว่างประเทศ ตลอดจนเป็นเครื่องมือสำคัญในการป้องกันความเสี่ยงของเงินเฟ้อที่อาจเกิดขึ้นจากภาษีนำเข้า

2. ทิศทางการชะลอตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ยังคงเปิดโอกาสการลดดอกเบี้ยของเฟดในปีนี้ หนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ทำให้ภาพ US Exceptionalism กำลังทยอยหมดไป มาจากแนวโน้มการชะลอตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ชัดเจนมากขึ้นในช่วงนี้ โดยเฉพาะตัวเลข GDP ไตรมาสที่ 1/68 ที่สะท้อนการบริโภคภาคเอกชนที่ชะลอตัวลงมาก ตลอดจนแนวโน้มการจ้างงานนอกภาคการเกษตรที่ทยอยชะลอตัวลง

ขณะที่ความเสี่ยงเงินเฟ้อสหรัฐฯ ในปัจจุบัน ยังคงมีข้อจำกัดจากแนวโน้มอัตราภาษีนำเข้าที่ลดลง และการขาดแรงกดดันจากอุปสงค์ภายในประเทศ ตามความเชื่อมั่นที่ปรับแย่ลง แตกต่างจากช่วงหลังวิกฤตโควิดที่มีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ทั้งนี้ จากการสื่อสารของคณะกรรมการเฟด คาดว่าสามารถลดดอกเบี้ยได้ประมาณ 2 ครั้งในช่วงท้ายของปี 2568 นี้ เพื่อรอความชัดเจนของผลกระทบนโยบายภาษี

3. การเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทในระยะหลัง ไม่สอดคล้องกับปัจจัยพื้นฐานเศรษฐกิจไทยมากเท่าที่ควร แม้ว่าแนวโน้มการเติบโตเศรษฐกิจไทยปี 68 จะมีความท้าทายค่อนข้างสูง มีโอกาสเติบโตชะลอลงจากปีก่อนค่อนข้างมาก จากความเสี่ยงของผลกระทบนโยบายภาษีสหรัฐฯ และภาคการท่องเที่ยวที่ฟื้นตัวไม่ดีเท่าที่คาด โดยเฉพาะจากนักท่องเที่ยวจีนที่หายไป

รวมทั้งส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่เพิ่มขึ้น หลังจากคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 2 ครั้งติดต่อกัน ตลอดจน Sentiment เชิงลบ หลังไทยถูกปรับลดแนวโน้มอันดับเครดิตเป็น Negative จาก Stable โดยบริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือ (Moodys)

อย่างไรก็ตาม คาดว่าปัจจัยดังกล่าวมีผลจำกัดต่อการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาท เนื่องจากในช่วงหลัง ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวจากปัจจัยภายนอกเป็นส่วนใหญ่ สะท้อนจากช่วงต้นปีที่ผ่านมา การเคลื่อนไหวของเงินบาทไม่สอดคล้องกับปัจจัยพื้นฐานของเศรษฐกิจไทยที่ยังคงอ่อนแอ

ดังนั้น นโยบายของทรัมป์ที่ยังคงมีความไม่แน่นอนสูง ความสัมพันธ์ของค่าเงินบาทและทองคำ การเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทที่ในระยะหลังไม่สอดคล้องกับปัจจัยพื้นฐาน จะส่งผลให้ค่าเงินบาทยังมีความเสี่ยงแข็งค่า ขณะที่แนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ ชะลอตัวลงและความเสี่ยงเงินเฟ้อที่มีจำกัด จะเปิดโอกาสให้เฟดสามารถลดดอกเบี้ยนโยบายได้ 2 ครั้งในปีนี้ ซึ่งสนับสนุนการอ่อนค่าของเงินดอลลาร์สหรัฐ ยิ่งไปกว่านั้น จุดยืนของทรัมป์ที่สนับสนุนการอ่อนค่าของเงินดอลลาร์สหรัฐ ถือเป็นอีกหนึ่งปัจจัยเสริมการแข็งค่าของเงินสกุลหลัก และภูมิภาคอื่น ๆ รวมถึงค่าเงินบาท

ทั้งนี้ ควรติดตามความเสี่ยงจากนโยบายอื่น ๆ ของสหรัฐฯ ไม่ว่าจะเป็นมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจขนาดใหญ่ หรือผลกระทบจากนโยบายกีดกันทางการค้า ที่อาจลามสู่การถดถอยของภาวะเศรษฐกิจโลก ซึ่งส่งผลให้ตลาดการเงินโลกยังมีความผันผวนเพิ่มขึ้นได้



เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ