นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวถึงกรณีที่สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) มีการปรับลดประมาณการทางเศรษฐกิจไทยปี 68 ว่า เป็นการปรับตามที่ต่างประเทศก็มีการปรับลด GDP ทั้งโลก ไม่ว่าจะเป็นกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) หรือ ธนาคารโลก (World Bank) ซึ่งคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ก็มีการปรับลดกรอบ GDP ลงมาอยู่ที่ 2-2.2% แต่อยู่ภายใต้เงื่อนไขที่ภาษีนำเข้าสหรัฐฯ ยังคงที่ 10% ตลอดทั้งปี และส่งผลให้การส่งออกของไทยอยู่ที่ 0.3-0.9% แต่หากการเจรจากับสหรัฐฯ ไม่เป็นผล และภาษีนำเข้าสหรัฐฯ ปรับขึ้นเป็น 36 % นั้น กกร. ก็คงมีการปรับลดจีดีพีลงมาอีก อยู่ที่ระดับไม่ถึง 1% ส่วนการส่งออกจะติดลบ 2%
"การปรับลด GDP ไม่ได้เป็นเรื่องประหลาดใจหรือมีเซอร์ไพรส์ใด ๆ ก็เป็นการปรับตามข้อเท็จจริงแต่ละมุมมองของตัวเลขของแต่ละฝ่ายที่มีอยู่ในมือ" นายเกรียงไกร กล่าว
นายเกรียงไกร แสดงความเห็นถึงโครงการแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท เฟส 3 ในมุมมองภาคเอกชนว่า เนื่องจากสถานการณ์โดยภาพรวมเปลี่ยน ภาครัฐควรทบทวนโครงการนี้ ซึ่งตนมองว่า เป็นสิ่งที่ถูกต้อง เพราะสถานการณ์เปลี่ยนก็จำเป็นต้องเปลี่ยนแนวทาง เพราะขณะนี้สิ่งที่กระทบมาก คือเศรษฐกิจในภาพรวมที่ทั่วโลกมีการปรับประมาณการ GDP ลง และปริมาณการค้าโลกก็ลดลง
นายเกรียงไกร มองว่า สิ่งที่รัฐบาลให้ความสำคัญ คือแรงกระแทกจากการขึ้นภาษีนำเข้าของสหรัฐฯ ที่กำลังเกิดขึ้นทั่วโลก และความไม่แน่นอนภายใต้นโยบายทรัมป์ 2.0 ยังมีอยู่ ซึ่งเชื่อว่า รัฐบาลกำลังหามาตรการรองรับผู้ส่งออกที่ได้รับผลกระทบ
ทั้งนี้ นายเกรียงไกร ระบุว่า สำหรับมาตรการที่จะช่วยเหลือต้องเตรียมทั้งมาตรการระยะสั้น กลาง ยาว โดยระยะสั้น
1. ต้องมีมาตรการรองรับผลกระทบที่จะเกิดกับผู้ส่งออก และภาคบริการต่าง ๆ ที่เกี่ยวเนื่อง
2. ต้องมีการกระตุ้นกำลังซื้อ ด้วยการหาแนวทางปลดล็อกหนี้ภาคครัวเรือน และมาตรการปลดหนี้ต่าง ๆ เพื่อเพิ่มกำลังซื้อกับประชาชนมากขึ้น
3. หามาตรการป้องกันสินค้าราคาถูกที่ไหลทะลักจากต่างประเทศเข้ามายังไทย และมองว่า อาจมีจำเป็นต้องใช้เม็ดเงินสำหรับสูงกว่า 1.57 แสนล้านบาท ที่ต้องเตรียมสำหรับมาตรการช่วยเหลือต่าง ๆ