
นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง กล่าวปาฐกถาพิเศษ หัวข้อ "เสน่ห์หุ้นไทย : พลังผลักดันเศรษฐกิจ" ในงานเสวนา "ปลุกเสน่ห์หุ้น-คริปโทฯ-ทอง ครึ่งปีหลัง!" โดยมองว่า การลงทุนในตลาดหุ้นเป็นส่วนหนึ่งที่จะเป็นพลังในการผลักดันเศรษฐกิจ ดังนั้น การทำให้ตลาดหุ้นมีความเข้มแข็ง ถือเป็นเสน่ห์ของการลงทุน และนักลงทุน จึงพูดได้ว่า "หุ้น" เป็นของคู่กันกับระบบเศรษฐกิจ หากตลาดหุ้นมีความหวังและเข้าใจระบบเศรษฐกิจว่าจะเดินไปในทิศทางใด นั่นคือโอกาสในการลงทุนในตลาดหุ้นด้วยเช่นกัน และเชื่อว่าหุ้นไทยยังมีเสน่ห์ ตราบใดที่นักลงทุนมีความเข้าใจในปัจจัยพื้นฐานสำคัญของการลงทุน
รมว.คลัง ระบุว่า แม้ช่วงที่ผ่านมา ดัชนีตลาดหุ้นไทยจะปรับตัวลดลงจากระดับ 1,400 จุด มาอยู่ที่ราว 1,200 จุด แต่ก็ถือว่าหุ้นไทยค่อนข้างมีเสถียรภาพ แม้ว่าจะเจอปัจจัยเสี่ยงจากมาตรการภาษีสหรัฐฯ แต่ดัชนีตลาดหุ้นไทยก็ปรับตัวลดลงน้อยกว่าเพื่อนบ้าน สะท้อนว่าดัชนีตลาดหุ้นไทยอาจจะถึงจุดที่อยู่ได้ แม้ว่าจะมีเหตุการณ์ที่เข้ามากดดันที่ร้ายแรงกว่านี้
"หุ้นไทยเวลานี้ ยังมีเสน่ห์ของตัวเอง เพียงแต่ว่าจะมองมุมไหน Timing อะไร และมองอย่างไร ทุกการเคลื่อนไหวของดัชนี จะมีเสน่ห์แฝงอยู่ ดังนั้นหากนักลงทุนเข้าใจองค์ประกอบ การเปลี่ยนแปลง และ Cycle ก็จะเป็นโอกาสการลงทุนที่ดี" รองนายกฯ และรมว.คลัง กล่าว
- เล็งหารือกองทุน ทบทวนนโยบายลงทุน ดึงเข้าลงทุนตลาดหุ้นไทยเพิ่ม
นายพิชัย กล่าวด้วยว่า สำหรับการลงทุนในตลาดหุ้นนั้น อาจต้องทบทวนนโยบายเพื่อช่วยสนับสนุนการลงทุนเพิ่มเติม ซึ่งก่อนหน้านี้ มีการหารือกับกองทุนหลายแห่ง เพื่อจะทบทวนนโยบายการลงทุนของกองทุน, นักลงทุนสถาบันขนาดใหญ่ อาทิ กลุ่มประกันภัย กลุ่มประกันชีวิต เพื่อแก้ไขกติกาให้กองทุน หรือนักลงทุนสถาบันเหล่านี้ สามารถกลับมาลงทุนในตลาดหุ้นไทยได้เพิ่มขึ้น จากปัจจุบันที่ส่วนใหญ่เน้นลงทุนแต่พันธบัตรรัฐบาลเท่านั้น
"เบื้องต้น กองทุนส่วนใหญ่มองว่า ดัชนีตลาดหุ้นไทยที่ปรับตัวลดลงมาก อาจจะเป็นจุดที่จะต้องมาดูว่า ควรจะปรับสัดส่วน หรือเกณฑ์การลงทุนในหุ้นไทยหรือไม่" นายพิชัย ระบุ
ขณะเดียวกัน ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) จะต้องปรับปรุงตัวเองให้แข็งแกร่ง สามารถสนับสนุนให้นักลงทุนมองการลงทุนในระยะยาวเป็นหลัก บริษัทจดทะเบียนขนาดใหญ่ จะต้องมีการปรับโครงสร้างให้สอดคล้องกับทิศทางโลก โดยเฉพาะเรื่อง Green และ ESG ขณะที่บริษัทขนาดเล็ก จำเป็นต้องได้รับโอกาส และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน เพื่อต่อยอดให้เป็นบริษัทขนาดกลางและขนาดใหญ่ต่อไป
ส่วนการไหลเข้าของเม็ดเงินลงทุนนั้น ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากตลาดต่างประเทศที่มีความผันผวน และราคาทองที่ปรับตัวสูงขึ้นอย่างมาก และสะท้อนความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจไทย แต่สุดท้ายต้องมาดูว่าเม็ดเงินที่ไหลเข้ามานี้ มีการไหลออกไปด้วยหรือไม่
"เชื่อว่าส่วนใหญ่จะหยุดดู ก่อนที่จะ move ออกไป หรือหาก move ออกไปแล้ว ก็จะกลับเข้ามาลงทุนในหุ้นไทยใหม่ มั่นใจว่าทุกคนไม่ได้ทิ้งหุ้นไทย เพียงแต่เขายังรอดูว่า ไทยจะทำอะไรต่อไป" นายพิชัย กล่าว
- จ่อแก้ กม.ปลดล็อกลงทุน Digital Asset หนุนใช้คริปโทฯ ซื้อสินค้า
นายพิชัย กล่าวว่า จะต้องมีการเร่งปลดล็อก พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ กับ พ.ร.ก.การประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล พ.ศ. 2561 เพื่ออำนวยความสะดวกให้นักลงทุนที่อยู่ใน พ.ร.บ.หลักทรัพย์ฯ สามารถข้ามไปลงทุนใน Digital Asset ได้ ขณะเดียวกัน รัฐบาลยังเดินหน้าการเสนอขายโทเคนดิจิทัลของรัฐบาล (Government Token : G-Token) วงเงิน 5 พันล้านบาท ซึ่งเป็นแนวทางหนึ่งในการกู้เงินของรัฐบาลที่เปลี่ยนจากการกู้เงินผ่านการขายพันธบัตรรัฐบาล ซึ่งอาจจะไม่คล่องตัว เป็นการขายผ่านวิธีการใหม่ ที่จะสนับสนุนนักลงทุนรายย่อย ตลาดรอง ให้มีทางเลือกในการลงทุนมากขึ้น
รองนายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง กล่าวถึงแนวคิดเรื่องการใช้คริปโตเคอร์เรนซีผูกกับบัตรเครดิตเพื่อชำระค่าสินค้า ว่า ตามหลักการแล้ว เรื่องนี้สามารถทำได้ทันที เนื่องจากมีระบบรองรับอยู่แล้ว ขณะที่ในต่างประเทศได้มีการดำเนินการในลักษณะนี้แล้ว แต่ในส่วนของประเทศไทย คงต้องมีการหารือกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เพื่อทำความเข้าใจในมิติต่าง ๆ ก่อน
ส่วนการแก้ไขเพิ่มเติมร่าง พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ยังค้างอยู่นั้น จะต้องเร่งดำเนินการให้แล้วเสร็จโดยเร็ว โดยเฉพาะการสร้างความไว้วางใจ และความมั่นใจ
"กำลังเร่งแก้ พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ต้องสร้างความมั่นใจและความไว้วางใจ ผ่านการป้องกันการเก็งกำไรผิดปกติ เช่น การขายหุ้นโดยที่นักลงทุนไม่ได้ถือหุ้นนั้นอยู่จริง ก่อนที่จะส่งคำสั่งขาย (Naked short sell) การใช้ Algorithmic Trading หรือระบบเทรดอัตโนมัติ คือการใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์ในการส่งคำสั่งซื้อขายหุ้นอย่างไม่เป็นธรรม พร้อมทั้งต้องทำให้หน่วยงานมีอำนาจในการสืบสวนเอง หรือสืบสวนร่วม สั่งฟ้อง หรือส่งเรื่องให้อัยการได้ด้วยตัวเอง เรื่องนี้ถ้ายิ่งทำช้า ความเชื่อมั่นจะยิ่งหาย" นายพิชัย กล่าว
- เร่งจัดทัพเศรษฐกิจใหม่ รับมือกติกาโลกเปลี่ยน
รองนายกฯ และรมว.คลัง กล่าวถึงแนวโน้มเศรษฐกิจไทยว่า ยังมีความไม่แน่นอนสูง และยากต่อการคาดเดา ทั้งการแย่งชิงอำนาจทางการค้าของประเทศมหาอำนาจ รวมไปถึงปัญหาความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ โดยเฉพาะผลจากกติกาการค้ารอบใหม่ ซึ่งต้องติดตามว่าจะเดินหน้าอย่างไร และทั้งหมดนี้ จะมีผลให้ตลาดทุนต้องคิดว่าจะปรับตัวอย่างไรกับทิศทางเศรษฐกิจไทยในระยะข้างหน้า
นายพิชัย ยอมรับว่า การเติบโตของเศรษฐกิจไทย (GDP) ในปัจจุบัน ขยายตัวต่ำมาอย่างต่อเนื่องเมื่อเทียบกับในอดีต และยังเติบโตต่ำกว่าประเทศเพื่อนบ้าน และเติบโตต่ำกว่าศักยภาพด้วย โดยจากเดิมในปี 2568 รัฐบาลตั้งเป้าหมายว่า GDP จะขยายตัวได้มากกว่า 3% แต่ขณะนี้การเติบโตน่าจะสะดุดลง ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากมาตรการภาษีสหรัฐฯ ที่อาจทำให้การส่งออกสะดุดจนกว่าจะได้ข้อยุติ
ขณะที่หลายสำนักวิจัยประเมินว่าปีนี้ GDP ไทยจะหายไปตั้งแต่ 1-1% กว่า โดยมีการประเมินว่า GDP ปีนี้อาจโตเหลือ 1.2-1.8% แม้ว่าตัวเลข GDP ในช่วง 3 ไตรมาสที่ผ่านมาของไทย (ไตรมาส 3/67, ไตรมาส 4/67 และไตรมาส 1/68) จะขยายตัวได้เกิน 3% ทุกไตรมาสก็ตาม ดังนั้นจึงเป็นเหตุผลที่รัฐบาลต้องมาจัดทัพในการกระตุ้นเศรษฐกิจกันใหม่
สิ่งที่รัฐบาลเร่งดำเนินการ คือ การชะลอโครงการดิจิทัลวอลเล็ตในเฟสที่เหลือออกไปก่อน และโยกงบประมาณ 1.57 แสนล้านบาท มาเร่งดำเนินการในโครงการที่สามารถทำได้รวดเร็วภายใน 3 เดือน โดยเน้นไปที่โครงการขนาดเล็กที่จะเห็นผลในระยะสั้น และสามารถเชื่อมโยงไปถึงการเติบโตของเศรษฐกิจและงบประมาณในปี 2569 เพื่อต่อยอดการแก้ปัญหาเชิงโครงสร้าง สนับสนุนการลงทุนที่ไทยขาดหายไปกว่า 15 ปีที่ผ่านมา
โดยหลัก ๆ จะเน้นไปที่การลงทุนเรื่องน้ำ การขนส่ง โครงสร้างพื้นฐาน การท่องเที่ยว และเรื่องที่ดิน เนื่องจากขณะนี้นักลงทุนต่างชาติส่งสัญญาณว่าพร้อมจะเข้ามาลงทุน และรัฐบาลอยู่ระหว่างเร่งแก้ปัญหาเรื่องที่ดิน โดยอาจจะพิจารณาให้สิทธินักลงทุนต่างชาติใช้ที่ดินของรัฐในการลงทุน 99 ปี มองว่าเป็นทางเลือกที่ดี เนื่องจากไม่ต้องการขายที่ดินให้ต่างชาติ รวมถึงจะมีการเร่งให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs ที่จะได้รับผลกระทบจากมาตรการภาษีสหรัฐฯ เพื่อไม่ให้กลุ่มนี้ตกหลุมอากาศไปด้วย
"จำเป็นต้องเร่งแก้เชิงโครงสร้าง โดยเฉพาะการเร่งลงทุน เพื่อสนับสนุนให้เกิดการผลิต และสร้างมูลค่าเพิ่มของสินค้า สร้างอำนาจในการต่อรองให้กับผู้ประกอบการในภาคส่งออก โดยต้องเป็นการลงทุนที่เหมาะกับยุคสมัย มีต้นทุนแข่งขันได้ ขณะที่รัฐเอง ก็ต้องเร่งแก้ปัญหาในเรื่องกฎเกณฑ์ต่าง ๆ เพื่อสนับสนุนให้เกิดการลงทุนที่ง่ายขึ้น แก้ปัญหาเรื่องโครงสร้างทางภาษี สิ่งหนึ่งที่ต้องยอมรับ คือ รัฐบาลไม่สามารถจัดเก็บรายได้ได้ตามเป้าหมาย เช่น เราเคยเก็บภาษีได้ 16% ขณะที่ประเทศอื่นเก็บได้ 18% แต่ตอนนี้เราเก็บภาษีได้แค่ 14% แปลว่าโครงสร้างเศรษฐกิจเปลี่ยนแปลง ก็ต้องมาดูวิธีเก็บภาษีที่ต้องเปลี่ยนใหม่ ภาษีบางชนิด โดยเฉพาะที่เกี่ยวกับเรื่องคนต้องเข้าไปดู เพื่อสร้างบุคคลากรขึ้นมาช่วยพัฒนาเศรษฐกิจประเทศ อะไรที่สร้างแล้วช่วยทำให้เกิดความสามารถในการแข่งขัน ต้องเร่งดำเนินการ" รองนายกฯ และรมว.คลัง ระบุ