ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เผยแพร่รายงานการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เมื่อวันที่ 25 มิ.ย.68 ซึ่งที่ประชุมมีมติ 6 ต่อ 1 เสียง ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 1.75% ต่อปี โดยมองว่า การลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายในช่วงที่ผ่านมา สามารถรองรับความเสี่ยงได้ระดับหนึ่งแล้ว พร้อมประเมินว่า แนวโน้มเศรษฐกิจไทยยังมีความไม่แน่นอนสูง ซึ่ง กนง.พร้อมปรับนโยบายการเงินให้เหมาะสมกับแนวโน้ม และความเสี่ยงของเศรษฐกิจและเงินเฟ้อในระยะข้างหน้า
คณะกรรมการฯ ประเมินภาพรวมเศรษฐกิจไทยในปี 2568 ว่ามีแนวโน้มขยายตัวที่ 2.3% โดยช่วงครึ่งปีแรกเศรษฐกิจขยายตัวได้ดีกว่าที่ประเมินไว้ จากภาคการผลิตและการเร่งส่งออกสินค้า อย่างไรก็ดี เศรษฐกิจไทยตั้งแต่ช่วงครึ่งหลังของปี 2568 และในปี 2569 มีแนวโน้มขยายตัวชะลอลง จากผลกระทบของนโยบายการค้าโลกที่มากขึ้น รวมทั้งเผชิญความเสี่ยงเพิ่มเติมจากปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ และปัจจัยภายในประเทศ โดยคาดว่าในปี 2569 เศรษฐกิจไทยจะขยายตัวได้ 1.7%
คณะกรรมการฯ เห็นว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2568 ที่ปรับเพิ่มขึ้นเป็น 2.3% ส่วนหนึ่งมาจากเศรษฐกิจในช่วงครึ่งแรกของปีที่ดีกว่าคาด และไม่สะท้อนสถานการณ์ทางเศรษฐกิจในช่วงครึ่งหลังของปี ที่จะขยายตัวชะลอลงท่ามกลางความไม่แน่นอนสูงในระยะข้างหน้า โดยการส่งออกสินค้าและการลงทุนภาคเอกชนที่ดีกว่าคาดในช่วงที่ผ่านมา เป็นผลจากปัจจัยชั่วคราว และส่งผลบวกต่อเศรษฐกิจเพียงบางกลุ่ม อาทิ การส่งออกสินค้าและภาคการผลิตที่เกี่ยวข้องกับสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ และเครื่องจักร
มองไปข้างหน้า เครื่องยนต์ทางเศรษฐกิจมีแนวโน้มอ่อนแอลงจากอุปสงค์ทั้งในและต่างประเทศ โดย
(1) การส่งออกสินค้า จะได้รับผลกระทบจากนโยบายการค้ามากขึ้นในระยะต่อไป ซึ่งผลกระทบจะขึ้นกับผลการเจรจาการค้าของไทยเทียบกับประเทศอื่น
(2) การท่องเที่ยวอาจเป็นแรงสนับสนุนเศรษฐกิจได้ลดลง โดยกรรมการส่วนหนึ่งมีความกังวลว่าจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติอาจเพิ่มขึ้นจากปัจจุบันได้ยาก จากการแข่งขันในตลาดท่องเที่ยวภูมิภาคที่สูงขึ้น และพฤติกรรมการเดินทางของนักท่องเที่ยวที่เปลี่ยนไป รวมทั้งอาจถูกกระทบเพิ่มเติม หากเศรษฐกิจโลกชะลอตัวกว่าคาด
(3) อุปสงค์ในประเทศมีสัญญาณชะลอลง โดยเศรษฐกิจในบางภาคส่วนยังเปราะบาง และมีความสามารถในการแข่งขันปรับลดลง อีกทั้งเศรษฐกิจมีความเสี่ยงด้านต่ำ จากผลกระทบจากมาตรการภาษีนำเข้าของสหรัฐฯ ประเด็นความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ และสถานการณ์ภายในประเทศ
"ดังนั้น คณะกรรมการฯ เห็นว่าในการสื่อสารต่อสาธารณชน ควรเน้นย้ำว่า การปรับประมาณการเศรษฐกิจปี 2568 นั้น เป็นผลจากการขยายตัวที่ดีกว่าคาดในช่วงครึ่งปีแรกเป็นสำคัญ" รายงาน กนง.ระบุคณะกรรมการฯ ประเมินว่า อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 2568 จะอยู่ที่ 0.5% ส่วนปี 2569 อยู่ที่ 0.8% โดยเงินเฟ้อยังมีแนวโน้มอยู่ในระดับต่ำ จากปัจจัยด้านอุปทานเป็นสำคัญ อย่างไรก็ดี อัตราเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับต่ำ ไม่ได้นำไปสู่ภาวะที่ราคาสินค้าลดลงเป็นวงกว้าง หรือภาวะเงินฝืด เนื่องจากราคาสินค้าบางประเภทยังปรับเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะสินค้าที่ประชาชนบริโภคเป็นประจำ
ทั้งนี้ คณะกรรมการฯ เห็นว่าอัตราเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับต่ำ เป็นผลจากทั้งปัจจัยด้านอุปทาน และปัจจัยเชิงโครงสร้าง อาทิ การแข่งขันจากสินค้านำเข้า และโครงสร้างตลาดแรงงาน ขณะที่ค่าครองชีพครัวเรือนบางส่วนยังปรับสูงขึ้น รวมทั้งมีความเสี่ยงเพิ่มเติมจากความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ ที่อาจทำให้ราคาน้ำมันโลกปรับสูงขึ้น
สำหรับการประเมินภาวะการเงิน และเสถียรภาพระบบการเงินนั้น สินเชื่อโดยรวมยังคงหดตัว ส่วนหนึ่งจากความต้องการสินเชื่อโดยเฉพาะธุรกิจขนาดใหญ่ที่ลดลง และการชำระคืนหนี้ที่เพิ่มขึ้น ทั้งในสินเชื่อธุรกิจ และสินเชื่อรายย่อยภายใต้บริบทที่เศรษฐกิจเผชิญความไม่แน่นอนสูง
ในขณะเดียวกัน สถาบันการเงินยังระมัดระวังในการปล่อยสินเชื่อให้กับ SMEs และครัวเรือนกลุ่มที่มีความเสี่ยง ส่วนอัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทเทียบดอลลาร์สหรัฐฯ ยังมีการเคลื่อนไหวที่ผันผวน คณะกรรมการฯ เห็นควรให้ติดตามการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทที่อาจไม่สะท้อนปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจ
โดยการพิจารณานโยบายการเงินนั้น คณะกรรมการฯ เห็นร่วมกันว่า นโยบายการเงินควรอยู่ในระดับที่ผ่อนคลาย เพื่อสนับสนุนเศรษฐกิจในระยะต่อไป ซึ่งการปรับลดดอกเบี้ยลงในช่วงที่ผ่านมา สามารถรองรับความเสี่ยงได้ในระดับหนึ่ง และยังอยู่ในช่วงการส่งผ่านไปยังเศรษฐกิจ ซึ่งปกติใช้เวลาประมาณ 3-4 ไตรมาส นอกจากนี้ ยังเห็นว่าการเติบโตทางเศรษฐกิจและภาวะการเงินของไทย ถูกกดดันจากหลายปัจจัย ปัญหาหลักของเศรษฐกิจไทย คือ ความสามารถในการแข่งขันที่ลดลง ซึ่งนโยบายการเงินมีประสิทธิผลจำกัดในการแก้ปัญหาดังกล่าว ดังนั้นจำเป็นต้องอาศัยมาตรการที่ตรงจุด และการปรับตัวของธุรกิจควบคู่กันไป
ทั้งนี้ คณะกรรมการฯ ส่วนใหญ่เห็นควรให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบาย โดยให้ความสำคัญกับจังหวะเวลา และประสิทธิผลของนโยบายการเงิน ภายใต้บริบทที่มีความไม่แน่นอนสูง และขีดความสามารถของนโยบายการเงิน (Policy space) ที่มีจำกัด