สัญญาทองคำตลาดนิวยอร์กปิดดีดตัวขึ้นเมื่อคืนนี้ (16 ธ.ค.) เนื่องจากนักลงทุนได้เข้าซื้อเก็งกำไร หลังจากที่ราคาทองร่วงลงอย่างหนักมาสี่วันติดต่อกัน นอกจากนี้ ดอลลาร์ที่อ่อนค่าก็เป็นปัจจัยหนุนราคาทองคำเช่นกัน
สัญญาทองคำตลาด COMEX (Commodity Exchange) ส่งมอบเดือนก.พ.ปรับตัวขึ้น 20.7 ดอลลาร์ หรือ 1.3% ปิดที่ 1,597.9 ดอลลาร์/ออนซ์
สัญญาโลหะเงินส่งมอบเดือนมี.ค.เพิ่มขึ้น 39.7 เซนต์ หรือ 1.4% ปิดที่ 29.671 ดอลลาร์/ออนซ์ และสัญญาโลหะทองแดงส่งมอบเดือนมี.ค.พุ่งขึ้น 6.40 เซนต์ หรือ 1.96% ปิดที่ 3.3310 ดอลลาร์/ปอนด์
ส่วนสัญญาพลาตินัมส่งมอบเดือนม.ค.เพิ่มขึ้น 10.3 ดอลลาร์ หรือ 0.7% ปิดที่ 1,417.3 ดอลลาร์/ออนซ์ และสัญญาพัลลาเดียมส่งมอบเดือนมี.ค.ดีดขึ้น 4.85 ดอลลาร์ หรือ 0.8% ปิดที่ 625.50 ดอลลาร์/ออนซ์
เงินยูโรแข็งค่าขึ้นเทียบกับดอลลาร์สหรัฐในวันศุกร์ หลังจากที่รัฐบาลอิตาลีผ่านการลงมติไว้วางใจจากสภาผู้แทนราษฎรอย่างง่ายดายด้วยคะแนน 495 ต่อ 88 เสียง ซึ่งถือเป็นก้าวแรกในการลงมติของรัฐสภาเพื่อปูทางไปสู่การอนุมัติใช้แผนรัดเข็มขัดมูลค่า 3.3 หมื่นล้านยูโร (4.3 หมื่นล้านดอลลาร์)
ทั้งนี้ เงินดอลลาร์อ่อนค่าลง เนื่องจากความต้องการถือครองเงินดอลลาร์ในฐานะแหล่งลงทุนที่ปลอดภัยได้ลดลง ซึ่งเปิดทางให้ทองคำปรับตัวขึ้น เนื่องจากทองคำ ซึ่งซื้อขายกันในสกุลเงินดอลลาร์ จะมีราคาถูกลงสำหรับผู้ถือสกุลเงินอื่นๆ เมื่อดอลลาร์ปรับตัวลง
เทรดเดอร์รายหนึ่งชี้ว่า สัญญาทองคำส่งมอบเดือนก.พ.เคลื่อนไหวแตะระดับสูงสุดที่ 1,718.60 ดอลลาร์/ออนซ์ในวันศุกร์ที่แล้ว และแตะระดับต่ำสุดที่ 1,562.5 ดอลลาร์ในวันพฤหัสบดีที่ผ่านมานี้ ส่งผลให้ระดับราคาจากสูงสุดถึงต่ำสุดในช่วงสี่วัน ต่างกันถึง 156.10 ดอลลาร์
ขณะที่นักวิเคราะห์หลายรายกล่าวว่า แม้ความน่าดึงดูดของทองคำในฐานะแหล่งลงทุนที่ปลอดภัยได้ลดทอนลง เนื่องจากนักลงทุนหันไปถือครองดอลลาร์ หลังจากที่ทองคำเผชิญความผันผวนอย่างมากในช่วงสามเดือนที่ผ่านมา แต่ถึงกระนั้น เมื่อราคาทองร่วงลงต่ำกว่าระดับ 1,600 ดอลลาร์/ออนซ์ ทองคำก็กลับมาน่าดึงดูดอีกครั้งในสายตาของนักลงทุนที่มองว่า ทองคำจะมีราคาดีที่สุดในบรรดาสินค้าโภคภัณฑ์ในปีหน้า เนื่องจากความต้องการทองคำจริง (Physical Demand) เพื่อนำไปเป็นเครื่องประดับหรือไปผลิตเป็นส่วนประกอบสินค้าอื่นๆ จะยังคงขยายตัวต่อเนื่อง และธนาคารกลางประเทศต่างๆ จะยังคงเพิ่มปริมาณการถือครองทองคำ