SCB EIC คาดGDPปีนี้โต1.8% แต่ประเมินปี55โต4.5-5% แนะจับตา2ปัจจัยเสี่ยง

ข่าวเศรษฐกิจ Monday December 19, 2011 16:04 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายพชรพจน์ นันทราวาส นักเศรษฐศาสตร์ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC) เปิดเผยในงานเสวนา "ทิศทางกับการฟื้นฟู...เศรษฐกิจไทยในปี 55"ว่า เศรษฐกิจไทยในปี 54 จะเติบโตเพียงแค่ 1.8% เท่านั้น เนื่องจากได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์น้ำท่วม โดยปัจจัยเสี่ยงที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิดในขณะนี้และต่อเนื่องไปจนถึงปี 55 มีอยู่ 2 เรื่อง ได้แก่ 1. อัตราเงินเฟ้อที่ปรับตัวสูงขึ้นจากผลกระทบของน้ำท่วม ซึ่งเป็นปัจจัยที่ทำให้ดอกเบี้ยเงินกู้และเงินฝากของธนาคารพาณิชย์ขณะนี้ ยังไม่สามารถปรับลดลงได้ตามอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 2. ความเสี่ยงเรื่องการว่างงานที่คาดว่าจะปรับตัวเพิ่มขึ้น ตามที่คณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) ประเมินว่าในช่วงไตรมาส 4/54 อัตราการว่างงานมีโอกาสปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็น 1.8-2.3% จากช่วง 9 เดือนแรกอยู่ที่ 0.7%

ทั้งนี้ ประเมินว่าอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในปี 55 จะอยู่ที่ 4.5-5% โดยแรงขับเคลื่อนหลักจะมาจากการฟื้นฟูประเทศหลังจากเกิดเหตุการณ์น้ำท่วมในปีนี้ และคาดว่าสินเชื่อรวมทั้งระบบของ ธนาคารพาณิชย์จะเติบโต 10% ซึ่งถือว่าเติบโตลดลงจากปี 54 เนื่องจากประเมินว่าความต้องการสินเชื่อในช่วง 6 เดือนแรกของปี 55 จะยังมีไม่มากนัก เพราะว่าผู้ประกอบการหลายรายก็อาจจะยังอยู่ในช่วงของการฟื้นฟูกิจการ แต่คาดว่าในช่วงครึ่งปีหลังความต้องการสินเชื่อจะมีเพิ่มขึ้น

"ปกติถ้าจีดีพีโต 4-5% สินเชื่อรวมก็น่าจะโตได้ดีกว่านี้(10%) เพราะกว่าความต้องการเงินทุนจะเข้ามาก็น่าจะเป็นช่วงครึ่งปีหลังแล้ว เนื่องจากในช่วงครึ่งปีแรกคิดว่าผู้ประกอบการอาจจะรอดูมาตรการจากภาครัฐก่อนว่าจะมีอะไรออกมาบ้างเช่น แผนการรับมือเหตุการณ์น้ำท่วมที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต, มาตรการทางภาษี รวมถึงการประกัน เป็นต้น"นายพชรพจน์ กล่าว

ซึ่งความต้องการสินเชื่อเพื่อการฟื้นฟูกิจการที่มีโอกาสเพิ่มขึ้นมากในช่วงครึ่งหลังของปี 55 นั้น ธนาคารพาณิชย์ต่างๆก็มีความสามารถและความพร้อมที่จะอนุมัติสินเชื่อเช่นกัน เนื่องจากในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาผลประกอบการของธนาคารพาณิชย์ต่างๆออกมาดี ทำให้มีความพร้อมทางด้านเงินทุน อย่างไรก็ตามแนวทางการช่วยเหลือของภาคธนาคารจะมีเพียงแค่การลดอัตราดอกเบี้ยเพียงอย่างเดียวอาจจะไม่เพียงพอ ควรมีมาตรการอย่างอื่นด้วยเช่นการยืดเวลาชำระหนี้ เป็นต้น ส่วนเรื่องปัญหาหนี้เสียของภาคธนาคารก็มีโอกาสปรับตัวขึ้นเช่นกัน แต่ก็คงไม่มากนักเนื่องจากผู้ประกอบการหลายรายก็สามารถปรับตัวได้เร็วและอุปสงค์ในตลาดฯก็ยังมีอยู่สูง

สำหรับเรื่องแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยนโยบายในปี 55 นั้นประเมินว่าจะทรงตัวหรือมีโอกาสปรับตัวลดลงเล็กน้อย โดยคาดว่าคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีโอกาสปรับลดอัตราดอกเบี้ยปีหน้าลงในกรอบ 0.25-0.50% จาก 2 ปัจจัยคือ เรื่องปัญหาหนี้สินในยุโรปซึ่งมีแนวโน้มที่ปัญหาจะทวีความรุนแรงขึ้น ซึ่งจะเป็นแรงกดดันให้ธนาคารกลางของประเทศต่างๆทั่วโลกมีโอกาสปรับลดดอกเบี้ยลง ขณะที่ปัจจัยในประเทศเรื่องอัตราเงินเฟ้อที่ขณะนี้อยู่ในระดับสูงก็ปีหน้าก็มีแนวโน้มที่จะลดลงเช่นกัน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ