รมว.คลัง ท้ากองทุนหมู่บ้านปรับระบบก่อนรับเงินเพิ่มทุนเป็นแห่งละ 1 ลบ.

ข่าวเศรษฐกิจ Friday December 23, 2011 11:32 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล รมว.คลัง กล่าวในการไปตรวจเยี่ยมการดำเนินการของกองทุนหมู่บ้านสถาบันการเงินชุมชนบ้านนาหืก อำเภอแม่ริมว่า รัฐบาลมีนโยบายที่จะท้าทายกองทุนด้วยการเพิ่มทุนเป็นแห่งละ 1 ล้านบาท แต่กองทุนก็ควรจะท้าทายรัฐบาล เพื่อให้เงินนี้งอกเงยเป็นประโยชน์ต่อชุมชน ดังต่อไปนี้ 1. มีการบริหารจัดการที่ดี ระบบบัญชี ระบบตรวจสอบ 2. มีการจัดสรรผลประโยชน์ที่เกิดขึ้นเพื่อดูแลคนในชุมชนอย่างกว้างขวาง 3. มีขบวนการ"พี่ช่วยน้อง"เพื่อแก้ปัญหาหนี้นอกระบบ

สำหรับวิธีการแก้ปัญหาหนี้นอกระบบได้ดีที่สุดนั้น มองว่าไม่ใช่เปิดให้ลูกหนี้ที่ฐานะอ่อนมากูในระบบไปแทนอย่างเดียว แต่ต้องมีขบวนการปรับปรุงวิถีทำกินเพื่อยกระดับรายได้ และปรับวิถีความเป็นอยู่เพื่อประหยัดรายจ่าย ซึ่งผู้ที่เข้มแข็งในชุมชนควรจะเข้ามาช่วยสอนและชี้แนะผู้ที่อ่อนแอ

"กรณีกองทุนที่ผมไปเยี่ยมนั้น มีลูกหนี้หลายรายที่เคยกู้นอกระบบ ภายหลังเข้ามากู้กองทุนแทน แต่มีกลุ่มเพื่อนร่วมชุมชน ที่ช่วยชี้แนะปรับปรุงช่องทางการทำอาชีพ ทำให้ต่อมาก็มีรายได้ที่มั่นคงมากขึ้น และกลายเป็นลูกค้าชั้นดีที่สามารถชำระหนี้ได้ตามปกติ ผมจึงจะพยายามทำให้ระบบ"พี่ช่วยน้อง"เช่นนี้เกิดขึ้นอย่างกว้างขวาง" รมว.คลัง กล่าว

รมว.คลัง กล่าวว่า ขบวนการพัฒนาที่ยั่งยืนนั้นต้องอาศัยการทำงานโดยภาคประชาชน การที่ได้ลงไปดูการทำงานถึงหมู่บ้านได้พูดคุยกับผู้บริหารกองทุนกว่า 10 คนจากหลายพื้นที่ ได้สัมผัสกับชาวบ้านที่นำผลผลิตที่เกิดขึ้นจากเงินกู้เหล่านี้มาอวด และได้ตรวจดูบัญชีลูกหนี้ด้วยตนเอง เห็นหลักฐานการชำระคืนหนี้ที่เป็นระเบียบ ทำให้มั่นใจในชาวบ้านครับว่าสามารถเรียนรู้ที่จะดูแลกันเองได้อย่างดีจริงๆ

"เราต้องช่วยกันทำขบวนการนี้ให้เข้มแข็งครับ นอกจากนี้ ผมได้ประสานกับหอการค้าทุกจังหวัด ให้เสนอตัว ให้พนักงานและผู้บริหารบริษัทต่างๆ สละเวลาเข้าไปเสนอความรู้แก่ชาวบ้าน ด้านการผลิต การออกแบบ การตลาด หากชาวบ้านต้องการ ทุกหอการค้าเขายินดีครับ" รมว.คลัง ระบุ

ทั้งนี้ กระทรวงการคลังมีนโยบายให้กองทุนหมู่บ้านฯ และตัวแทนภาคธุรกิจร่วมกันส่งเสริม การดำเนินนโยบายความรับผิดชอบต่อสังคมขององค์กรธุรกิจ (Corporate Social Responsibility - CSR) เพื่อกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง โดยผลักดันให้ภาคเอกชนใช้นโยบาย CSR เข้ามามีส่วนร่วมในต่อยอดการเจริญเติบโตอย่างยั่งยืนของกองทุนหมู่บ้านฯ ที่มีความเข้มแข็งหรือมีศักยภาพในการพัฒนา และแก้ไขปัญหาความอ่อนแอด้านสถานะการเงินและการบริหารจัดการของกองทุนหมู่บ้านฯ รวมถึงสมาชิก โดยเฉพาะปัญหาหนี้นอกระบบ

นายธีระชัย กล่าวว่า ภาคเอกชนสามารถดำเนินนโยบาย CSR ผ่านกองทุนหมู่บ้านฯ ในด้าน 1) การวางแผนธุรกิจ การตลาด การผลิต การบริหารจัดการ 2) การร่วมนึก ร่วมคิดเพื่อสร้างความรู้และทักษะทางธุรกิจ และ 3) การสนับสนุนด้านการเงิน ซึ่งต้องอยู่บนพื้นฐานความต้องการร่วมกันของภาคธุรกิจและกองทุนหมู่บ้านฯ ในขณะเดียวกัน รัฐบาลจะศึกษาความเหมาะสมและดำเนินการสร้างหรือปรับปรุงโครงสร้างรองรับการใช้นโยบาย CSR กับกองทุนหมู่บ้านฯ ไปพร้อม ๆ กัน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ