ธปท.คาดปล่อยซอฟท์โลนช่วย SME-ปชช.เข้าระบบ 7-8 มี.ค.หลังออกประกาศวันนี้

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday February 16, 2012 17:03 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นางผ่องเพ็ญ เรืองวีรยุทธ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายตลาดการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า ในวันนี้ ธปท.ได้ออกประกาศการให้ความช่วยเหลือทางการเงินอัตราดอกเบี้ยต่ำ (ซอฟท์โลน) แก่ผู้ที่ได้รับความเสียหายจากอุทกภัยในปี 2554 ให้ผู้ประกอบวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SME) และประชาชนทั่วไปที่ประสบอุทกภัย สำหรับวงเงินให้ความช่วยเหลือทั้งสิ้น 300,000 ล้านบาท เป็นส่วนของ ธปท. ไม่เกิน 210,000 ล้านบาท และสถาบันการเงิน สมทบไม่น้อยกว่า 90,000 ล้านบาท สัดส่วนการให้ความช่วยเหลือ ธปท.ไม่เกิน 70% และสถาบันการเงินไม่ต่ำกว่า 30%

การให้ความช่วยเหลือจะดำเนินการผ่านธนาคารพาณิชย์ สาขาธนาคารพาณิชย์ต่างประเทศ และสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ 6 แห่ง ได้แก่ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ธนาคารเพื่อการพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย ธนาคารออมสิน ธนาคารอาคารสงเคราะห์ และธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย

ทั้งนี้ กำหนดวงเงินให้ความช่วยเหลือ SME รายละไม่เกิน 30 ล้านบาท ประชาชนทั่วไปรายละไม่เกิน 1 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ยที่ ธปท. คิดจากสถาบันการเงิน 0.01% ต่อปี โดยให้สถาบันการเงินคิดจาก SME และประชาชนทั่วไป ในอัตราไม่เกิน 3% ต่อปี ระยะเวลาการให้ความช่วยเหลือไม่เกิน 5 ปี โครงการสิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2561 โดยสถาบันการเงินจะต้องยื่นคำขอกู้ยืมเงินต่อ ธปท. ภายในวันที่ 31 ธันวาคม 2556

การจัดสรรวงเงินให้แก่สถาบันการเงินแต่ละแห่ง เพื่อให้สามารถกระจายความช่วยเหลือไปถึงผู้ที่ได้รับความเสียหายจากอุทกภัยฯ ในเขตพื้นที่ดังกล่าวได้อย่างทั่วถึง ให้แจ้งการยื่นขอวงเงินภายใน 2 สัปดาห์ หลังจาก ธปท.ส่งประกาศ ที่กระทรวงการคลังได้มีการแจ้งพื้นที่ประสบภิพิบัติกรณีฉุกเฉิน คาดว่าภายในวันที่ 17 ก.พ. หรือวันที่ 20 ก.พ.55 และธปท.จะดำเนินการพิจารณาจัดสรรวงเงินซอฟท์โลนตามความเหมาะสมภายใน 3 วันทำการ ดังนั้น คาดว่าวงเงินซอฟท์โลนจะปล่อยได้ตั้งแต่วันที่ 7-8 มี.ค.55

อย่างไรก็ตาม ธปท.ได้กำหนดบทลงโทษ กรณีสถาบันการเงินปล่อยสินเชื่อไม่เป็นไปตามเงื่อนไข โดยคิดดอกเบี้ยปรับ 10% ของวงเงินสินเชื่อที่ผิดเงื่อนไข

"แบงก์ชาติจะมีการตรวจสอบการปล่อยสินเชื่อให้เป็นไปตามกติตา ที่ต้องเป็นผู้ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยโดยตรง และอยู่ในเขตพื้นที่ประสบอุทกภัย ตั้งเข้าเงื่อนไขทั้ง 2 ข้อ หากไม่ทำตามกติกา ก็ต้องมีค่าปรับ 10% ที่สถาบันการเงินต้องจ่ายให้แบงก์ชาติ หรือหากลูกค้ามีการให้ข้อมูลผิดทางสถาบันการเงินก็ต้องไปไล่เบี้ยกับลูกค้าต่อ" นางผ่องเพ็ญ กล่าว

ธปท.หวังว่าสถาบันการเงินจะใช้ประโยชน์จากซอฟท์โลน เนื่องจากมีต้นทุนที่ต่ำลง และจะทำให้ประชาชนได้ประโยชน์จากโครงการดังกล่าวด้วย โดยวงเงินซอฟท์โลน 210,000 ล้านบาท หากสถาบันการเงินยื่นขอเต็มวงเงิน ธปท.จะมีค่าใช้จ่ายจากต้นทุนดังกล่าวที่ 6,000 ล้านบาท/ปี ซึ่งจะปรากฎอยู่ในบัญชีกำไรขาดทุนของ ธปท.


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ