Analysis:การคว่ำบาตรการส่งออกน้ำมันของอิหร่านกระทบจีนวิตกปริมาณน้ำมันสำรอง

ข่าวต่างประเทศ Wednesday February 22, 2012 16:52 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นักวิเคราะห์ระบุว่า ราคาน้ำมันดิบ ซึ่งถูกผลักดันโดยการคว่ำบาตรต่ออิหร่านครั้งล่าสุด ส่งผลให้จีนลำบากมากขึ้นกับการเพิ่มปริมาณน้ำมันสำรองของประเทศ

ทั้งนี้ ราคาสัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ที่ตลาด NYMEX (New York Mercantile Exchange) ส่งมอบเดือนมีนาคมได้พุ่งแตะระดับสูงสุดในรอบ 9 เดือนที่ระดับ 105.26 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา หลังจากที่อิหร่านประกาศว่าได้หยุดส่งออกน้ำมันไปยังอังกฤษและฝรั่งเศส ขณะที่ความขัดแย้งเกี่ยวกับโครงการนิวเคลียร์ของอิหร่านได้ทวีความรุนแรงมากขึ้น

การพุ่งขึ้นของราคาน้ำมันได้เร่งให้เกิดการหารือว่า ถึงเวลาที่จีนต้องซื้อน้ำมันแล้วหรือยัง เนื่องจากจีนกำลังดำเนินการเพื่อเพิ่มปริมาณสำรองน้ำมันของประเทศที่ยังอยู่ในระดับต่ำเมื่อเทียบกับประเทศอุตสาหกรรมอื่นๆ

โจว ซิวยี นักวิเคราะห์จากไชน่า อินเวสต์เมนท์ คอนซัลติ้ง คอร์ป กล่าวว่า "ช่วงเวลาที่เหมาะสมที่สุดสำหรับการเพิ่มปริมาณน้ำมันสำรองก็คือ เมื่อราคาอยู่ในระดับต่ำ แต่การคาดการณ์แนวโน้มราคาน้ำมันไม่ใช่เรื่องง่าย"

จีนอาจจะพิจารณาสั่งซื้อน้ำมันได้ในราคาต่ำ เนื่องจากประเทศอื่นๆ ได้เพิ่มปริมาณสำรองน้ำมันในขณะที่สถานการณ์โลกมีความซับซ้อน

ด้านหลิน โปเฉียง ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเศรษฐกิจพลังงานจีนแห่งมหาวิทยาลัยเซี๊ยะเหมิน กล่าวว่า "เมื่อพิจารณาโดยรวมแล้ว ราคาน้ำมันก็จะปรับตัวเพิ่มขึ้นอยู่ดี ดังนั้น การสั่งซื้อน้ำมันตั้งแต่เนิ่นๆ จึงเป็นการดีที่สุด"

นายโจวกล่าวว่า ปัจจุบันจีนยังคงใช้กลยุทธ์ปริมาณส้ำมันสำรองเท่ากับยอดนำเข้าในระยะเวลา 30 วัน เมื่อเทียบกับสถิติ 90 วันในประเทศอุตสาหกรรมหลายประเทศ ในขณะที่สหรัฐกำหนดกลยุทธ์สำรองน้ำมันมากกว่า 700 ล้านบาร์เรลมาตั้งแต่ปี 2552 ซึ่งเพียงพอสำหรับการใช้น้ำมันในระยะเวลา 150 วัน

เพื่อเป็นการลดช่องว่างดังกล่าว จีนได้จัดตั้งศูนย์สำรองน้ำมันขึ้นเพื่อกำหนดและบริหารกลยุทธ์การสำรองน้ำมันในปี 2550 โดยได้ก่อสร้างศูนย์สำรองน้ำมันในเชิงกลยุทธ์ 4 แห่งที่เมืองต้าเหลียน ฉิงเตา หนิงโป และ โจวชาน และการก่อสร้างศูนย์อื่นๆ อีก 8 แห่งคาดว่า จะแล้วเสร็จภายในสิ้นปี 2555

ปริมาณการใช้น้ำมันของจีนได้เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยการใช้น้ำมันพื้นฐานเพิ่มขึ้นในอัตรา 5.9% ต่อปี สู่ระดับเทียบเท่ากับถ่านหินจำนวน 3.25 พันล้านตันในปี 2553 ส่งผลให้จีนกลายเป็นประเทศผู้ใช้พลังงานสูงสุดเป็นอันดับที่สองของโลกตามหลังสหรัฐในปีดังกล่าว ในขณะที่ตัวเลขสำหรับปี 2554 นั้น ยังไม่มีการเปิดเผย

ทั้งนี้ ปริมาณน้ำมันสำรองของจีนประกอบไปด้วย ปริมาณน้ำมันสำรองในเชิงกลยุทธ์แห่งชาติและปริมาณน้ำมันสำรองในเชิงพาณิชย์ของภาคธุรกิจ สำหรับในประเทศจีน ปริมาณน้ำมันสำรองในเชิงพาณิชย์ส่วนใหญ่จะควบคุมโดยบริษัทน้ำมันขนาดใหญ่ เช่น ซิโนเปค หรือ ปิโตรไชน่า เป็นต้น


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ