(เพิ่มเติม) ม.หอการค้าฯ เผยดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคก.พ.ที่ 65.5 จาก 64.0 ในม.ค.

ข่าวเศรษฐกิจ Friday March 2, 2012 15:49 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย แถลงดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคประจำเดือน ก.พ.55 โดยดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับเศรษฐกิจไทยโดยรวมอยู่ที่ 65.5 ปรับเพิ่มขึ้นจากเดือน ม.ค.55 ที่ 64.0

ทั้งนี้ ดัชนีทุกตัวปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็นเดือนที่ 3 โดยดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับโอกาสหางานทำอยู่ที่ 66.7 และดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับรายได้ในอนาคต อยู่ที่ 94.3

สำหรับปัจจัยบวกในเดือนนี้ ได้แก่ ศาลรัฐธรรมนูญเห็นชอบ พ.ร.ก.กู้เงิน 2 ฉบับ, รัฐมีมาตรการช่วยเหลือบรรเทาความเดือดร้อนประชาชนจากอุทกภัยเป็นรูปธรรมมากขึ้น, สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) คาดเศรษฐกิจไทยปี 55 ขยายตัว 5.5-6.5% สูงกว่าคาดการณ์ที่ 4.5-5.5%, ค่าเงินบาท ณ สิ้นก.พ. แข็งค่าขึ้น และ SET INDEX ปรับตัวเพิ่มขึ้น 76.93 จุด

ขณะที่ปัจจัยลบ ได้แก่ ราคาน้ำมันปรับตัวสูงขึ้น, ผู้บริโภคยังกังวลปัญหาค่าครองชีพและราคาสินค้าที่ยังทรงตัวในระดับสูง, คณะทำงานเฉพาะกิจเพื่อดำเนินมาตรการทางการเงินเกี่ยวกับการฟอกเงิน (FATF) ขึ้นบัญชีดำประเทศไทย, ความวิตกกังวลของประชาชนจากเหตุการณ์ระเบิดในกรุงเทพฯ, ความกังวลเศรษฐกิจโลก และ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ลดคาดการณ์อัตราการขยายตัวเศรษฐกิจไทยปี 54 เหลือ 0.1%

นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า แม้เดือนก.พ.จะมีข่าวร้ายค่อนข้างมาก ทั้งการเกิดเหตุระเบิด 3 จุดในกรุงเทพฯ รวมถึงประเทศไทยติดอันดับประเทศที่ต้องเฝ้าระวังอันดับ 1 ในการทำธุรกรรมทางการเงิน แต่ยังมีผลกระทบต่อความเชื่อมั่นผู้บริโภคน้อยกว่าข่าวดี คือ การที่ศาลรัฐธรรมนูญตัดสินให้ผ่าน พ.ร.ก.ทั้ง 2 ฉบับ ซึ่งทำให้ประชาชนเกิดความเชื่อมั่นว่ารัฐจะมีงบประมาณมาใช้จ่ายป้องกันน้ำท่วม และกระตุ้นเศรษฐกิจ

อย่างไรก็ตาม คาดว่าการบริโภคของภาคประชาชนปัจจุบันจะชะลอตัวจนถึงกลางไตรมาส 2 ของปีนี้ เพราะยังคงมีความวิตกกังวลเกี่ยวกับผลกระทบทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นจากปัญหาน้ำท่วม ตลอดจนค่าครองชีพยังทรงตัวอยู่ในระดับสูง เห็นได้จากดัชนีภาวะค่าครองชีพในปัจจุบันปรับลดอยู่ที่ระดับ 55.36 ต่ำสุดในรอบ 8 เดือน ตั้งแต่เดือนก.ค. 54 แสดงว่าประชาชนมีปัญหาค่าครองชีพสูง ขณะที่ดัชนีค่าครองชีพช่วง 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 75.5 ต่ำสุดในรอบ 19 เดือนตั้งแต่เดือนส.ค. 53

“รัฐบาลต้องเร่งกระตุ้นเศรษฐกิจ หลังจากที่มีมาตรการขึ้นค่าแรงและขึ้นเงินเดือน โดยการดูแลสถานการณ์ราคาพลังงาน ค่าครองชีพไม่ให้สูงเกินไปจนประชาชนรับไม่ไหว จากนี้ถึงไตรมาส 2 มีความจำเป็นต้องดูแลราคาพลังงาน และค่าครองชีพให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม และสอดคล้องกับรายได้ของประชาชน ที่ยังไม่ได้ฟื้นตัวมากนักในช่วงครึ่งแรกของปีนี้ ซึ่งจะเป็นการสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยได้อย่างดี และส่งเสริมให้เศรษฐกิจไทยในปีนี้ขยายตัวได้ 5-6%" นายธนวรรธน์ กล่าว


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ