สนพ.กำลังศึกษาการปรับขึ้น LPG ภาคครัวเรือน ยันจะให้กระทบประชาชนน้อยสุด

ข่าวเศรษฐกิจ Saturday March 17, 2012 15:08 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายสุเทพ เหลี่ยมศิริเจริญ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน(สนพ.) กล่าวว่า ในการประชุมคณะรัฐมนตรีสัปดาห์หน้าจะมีการพิจารณามาตรการการลดค่าครองชีพที่ได้รับการเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีเศรษฐกิจเมื่อวันที่ 16 มี.ค.ที่ผ่านมา โดยเฉพาะมติที่ให้หน่วยงานราชการปรับลดการใช้พลังงานลงให้ได้ 10%

โดยในส่วนของกระทรวงพลังงานนอกจากจะมีการออกแผนรณรงค์การประหยัดพลังงานให้ทุกหน่วยงานร่วมกันประหยัดพลังงานอย่างเข้มข้นมากยิ่งขึ้น เช่น การเปิดอุณหภูมิเครื่องปรับอากาศในระดับที่เหมาะสมที่ 25 องศาเซลเซียส, การกำหนดเวลาการใช้ลิฟท์, รณรงค์การเปิด-ปิดไฟฟ้า และคอมพิวเตอร์ ซึ่งจะช่วยทำให้ประเทศไทยลดค่าใช้จ่ายด้านพลังงานลงได้ หลังจากที่มีการคาดการณ์ว่าราคาพลังงานปีนี้จะทรงตัวในระดับสูง จากปัจจุบันที่ราคาน้ำมันอยู่ที่ประมาณ 120 ดอลลาร์/บาร์เรล

นายสุเทพ กล่าวด้วยว่า ครม.เศรษฐกิจมีความเป็นห่วงเรื่องการปรับโครงสร้างราคาพลังงาน โดยเฉพาะราคาก๊าซปิโตรเหลียมเหลว(LPG)ในภาคครัวเรือนที่กระทรวงพลังงานกำลังศึกษาว่าจำเป็นต้องมีการปรับราคาก่อนสิ้นปีนี้ จากเดิมที่มติครม.ให้ตรึงราคาไว้จนถึงสิ้นปีนี้

โดยในขณะนี้กระทรวงพลังงานกำลังพิจารณาว่าจะมีการปรับเปลี่ยนให้กระทบต่อผู้บริโภคน้อยที่สุด และมีการช่วยเหลือเฉพาะกลุ่ม ซึ่งกำลังอยู่ระหว่างการระดมความคิดเห็นว่าจะปรับขึ้นอย่างไร และจะมีการปรับราคาคำนวณโดยนำก๊าซ LPG จากทุกภาคส่วนมาทำเป็นราคารวม หรือ Pool Gas ที่นำก๊าซ LPG ที่ผลิตจากในประเทศทั้งหมดมารวมกับราคานำเข้าและราคาจากโรงกลั่นน้ำมัน

โดยปัจจุบันราคาต้นทุนเฉลี่ยจะอยู่ที่ประมาณ 30.34 บาท/กก. จากราคาที่ตรึงไว้ 333 ดอลลาร์/ตัน หรือ 18.13 บาท/กก. ในขณะที่ราคาในตลาดโลกอยู่ที่ 1,270 ดอลลาร์/ตัน หรือประมาณ 47.06 บาท/กก. แต่คงต้องมีการพิจารณาความเหมาะสมว่าจะมีการปรับราคาก๊าซ LPG ภาคครัวเรือนอย่างไร รวมทั้งระยะเวลาที่เหมาะสม ซึ่งนายอารักษ์ ชลธาร์นนท์ รมว.พลังงาน เคยออกมาระบุว่าจะมีการปรับขึ้นขึ้นก่อนฤดูหนาวหรือราวไตรมาส 3 ปีนี้

อนึ่ง วันนี้ สนพ.มีการจัดสัมมนา "นโยบายการปรับโครงสร้างราคาพลังงาน" โดยชี้แจงถึงภาพรวมการคำนวณราคาพลังงาน ผลกระทบของโครงสร้างพลังงานที่บิดเบือนโดยเฉพาะการตรึงราคาก๊าซ LPG ที่ทำให้ไทยต้องนำเข้า LPG ในสัดส่วนที่สูง และเงินกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงต้องอุดหนุน ทำให้ต้องขาดทุนสะสมกว่า 2 หมื่นล้านบาทแล้ว

นอกจากนี้การที่ประเทศไทยมีการกำหนดราคา LPG แต่ละภาคส่วนทั้งอุตสาหกรรม ขนส่ง ครัวเรือน ที่แตกต่างกันโดยตรึงราคาภาคครัวเรือนส่งผลทำให้มีการใช้ผิดประเภทและลักลอบส่งออก อีกทั้งยังก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมกับผู้ใช้น้ำมันที่ต้องไปชดเชยราคาให้ก๊าซ LPG ด้วย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ