(เพิ่มเติม) หอการค้าไทยยันปรับขึ้นค่าแรงกระทบ SMEs ปลดคนงาน วอนรัฐหาทางช่วยเหลือ

ข่าวเศรษฐกิจ Monday April 2, 2012 12:44 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายภูมินทร์ หะรินสุต รองประธานกรรมการหอการค้าไทย เปิดเผยว่า การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็นวันละ 300 ของรัฐบาล มีทั้งผู้ที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย ซึ่งผู้ที่เห็นด้วยส่วนใหญ่เป็นกลุ่มที่ใช้แรงงานน้อยและใช้เครื่องจักรมาก ดังนั้น การปรับขึ้นค่าแรงก็กระทบไม่มาก เพราะใช้เครื่องจักรทำงานแทน ส่วนผู้ที่ไม่เห็นด้วย 98% ระบุว่าการปรับขึ้นค่าแรงเป็นการเพิ่มต้นทุนอย่างมาก ขณะที่การเพิ่มขีดความสามารถแรงงานให้สอดคล้องกับค่าแรงที่สูงขึ้นก็ยังไม่มีมาตรการหรือแนวทางชัดเจนที่จะทำให้ดีขึ้น

หอการค้าไทย ประเมินผลกระทบด้านเศรษฐกิจจากการปรับขึ้นค่าจ้าง 300 บาท/วัน และ เงินเดือนปริญญาตรี 15,000 บาทว่า ในระยะสั้นการปรับเพิ่มค่าแรงและเงินเดือนจะทำให้กำลังซื้อของประชาชนเพิ่มขึ้นประมาณ 1.5 แสนล้านบาท หรือทำให้ GDP เพิ่มขึ้น 1.0-1.3% แต่อย่างไรก็ดีการปรับขึ้นค่าจ้างและเงินเดือนจะทำให้ต้นทุนของผู้ประกอบการสูงขึ้นเฉลี่ย 5-10% โดยภาคบริการจะมีต้นทุนเพิ่มขึ้นสูงสุด 10.1% รองลงมาเป็นภาคเกษตร ต้นทุนเพิ่มขึ้น 6.1% ภาคอุตสาหกรรม เพิ่มขึ้น 5.3% และภาคการค้า เพิ่มขึ้น 5.2%

สำหรับธุรกิจที่ได้รับผลกระทบชัดเจน เช่น ธุรกิจดูแลรักษาความปลอดภัย เพราะส่วนใหญ่มีการทำสัญญากับผู้ว่าจ้างไว้แล้ว อาจจะเป็นสัญญาระยะ 3 ปี 5 ปี โดยคำนวณค่าแรงงาน ค่าบริการจัดการไว้เรียบร้อย แต่เมื่อค่าแรงงานขั้นต่ำเพิ่มเป็นวันละ 300 บาท ก็ไม่สามารถไปขอแก้ไขสัญญาการว่าจ้างได้ ก็ต้องรับภาระค่าใช้จ่ายค่าแรงงานที่เพิ่มขึ้น

นอกจากนี้ ยังมีธุรกิจก่อสร้างที่มีลักษณะการทำสัญญาว่าจ้างคล้ายๆ กัน เพราะในการเสนองาน ก็ได้มีการคำนวณค่าใช้จ่ายต่างๆ ไว้แล้ว ทั้งค่าก่อสร้าง ค่าจ้างแรงงาน เมื่อปรับขึ้นค่าแรงก็ต้องรับภาระส่วนต่างที่เพิ่มขึ้น ไม่สามารถผลักภาระไปให้ผู้ว่าจ้างได้

“พูดง่ายๆ SMEs ได้รับผลกระทบหมด ตอนนี้ถ้าใครอยากลดค่าใช้จ่าย ก็ต้องเอาคนออกอย่างบริษัทยาม บริษัทก่อสร้าง ถ้ารับภาระไม่ไหว ก็ต้องให้ออก แล้วไปเพิ่มปริมาณงานให้กับคนที่ยังอยู่"นายภูมินทร์ กล่าว

ในเบื้องต้น หอการค้าไทยประเมินว่า การปรับขึ้นค่าแรงงานขั้นต่ำครั้งนี้จะส่งผลให้ SMEs อาจจะต้องปิดกิจการ ประมาณ 5.6% ของจำนวน SMEs ทั่วประเทศ หรือคิดเป็นประมาณ 1 แสนราย

ในขณะที่ผลกระทบต่อเศรษฐกิจในระยะยาว มองว่าจะทำให้ค่าจ้างแรงงานของไทยสูงขึ้นเมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน ส่งผลต่อการสูญเสียความสามารถการแข่งขันในการดึงเงินลงทุนจากต่างประเทศ ซึ่งอาจทำให้เม็ดเงินลงทุนจากต่างประเทศปรับลดลง 25% ต่อปี หรือคิดเป็นเงินลงทุนประมาณ 1 แสนล้านบาท จากปกติที่จะมีเม็ดเงินจากต่างชาติเข้ามาลงทุนในไทยปีละประมาณ 4 แสนล้านบาท

นอกจากนี้ ต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้นจะทำให้ราคาสินค้าของไทยในตลาดโลกปรับตัวสูงขึ้นด้วย ดังนั้นหากรัฐบาลสามารถช่วยลดภาระของภาคเอกชนได้ ผ่านทางการลดกฎระเบียบเพื่อการส่งออก ตลอดจนดูแลราคาพลังงานและวัตถุดิบให้เอยู่ในระดับที่เหมาะสมก็จะทำให้ผู้ประกอบการของไทยมีความสามารถในการแข่งขันกับประเทศคู่แข่งได้มากขึ้น

ในส่วนของหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ได้เสนอความกังวลต่อนโยบายในเรื่องนี้ของรัฐบาลมาโดยตลอด ซึ่งสิ่งที่หอการค้าไทยต้องการขอให้มีความชัดเจนในเรื่องนโยบายการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ซึ่งวันนี้ก็ชัดเจนแล้วว่าต้องปรับขึ้น การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ขอให้เป็นไปตามกฎหมายผ่านคณะกรรมการไตรภาคี ซึ่งการพิจารณาที่ผ่าน ๆ มา ก็ไม่ได้มีการทบทวน และรัฐยืนยันที่จะต้องปรับขึ้น และข้อสุดท้าย ขอให้รัฐเพิ่มขีดความสามารถให้กับแรงงานเพื่อลดการสูญเสีย รัฐก็ยังไม่ตอบสนอง

ทั้งนี้ หอการค้าไทยยังคงยืนยันว่าการขึ้นค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำ แม้จะเป็นนโยบายที่รัฐบาลได้หาเสียงเอาไว้ แต่หากเกิดผลกระทบในวงกว้าง ก็ควรที่จะมีการพิจารณาทบทวน โดยการรับฟังความคิดเห็นจากผู้ประกอบการทั้งหมด

พร้อมกันนี้ ทางหอการค้าไทยได้มีข้อเสนอแนะต่อภาครัฐโดยควรมีมาตรการในการบรรเทาความเดือดร้อน คือ มีกองทุนให้ผู้ประกอบการ SMEs เพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถจ่ายค่าแรงในอัตรา 300 บาท/วันได้โดยไม่กระทบต่อต้นทุนการผลิตและกำไรของผู้ประกอบการ, มีการสร้างกระบวนการพัฒนาทักษะ ฝีมือแรงงาน และการเพิ่มประสิทธิภาพเพื่อให้สามารถสร้างรายได้ให้แก่ผู้ประกอบการ SMES เพิ่มขึ้นมากากว่าค่าจ้างต่อวันที่ต้องปรับเพิ่มขึ้น, ควรมีการพัฒนาหลักสูตรในสถานศึกษาด้วยการเตรียมความพร้อมด้านพื้นฐานเกี่ยวกับทักษะฝีมือแรงงานเบื้องต้นเพื่อให้แรงงานผ่านการศึกษาในระบบ รวมทั้งนอกระบบและเข้าสู่ตลาดรแงงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ