คต.โชว์ผลงาน 70 ปีปกป้องสิทธิประโยชน์ผู้ส่งออก-แข่งขันได้ในเวทีการค้าเสรี

ข่าวเศรษฐกิจ Friday May 4, 2012 14:32 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายบุญทรง เตริยาภิรมย์ รมว.พาณิชย์ เปิดเผยภายหลังเป็นประธานงานครบรอบวันสถาปนา 70 ปีกรมการค้าต่างประเทศว่า กรมการค้าต่างประเทศ ได้ดำเนินการบริหารจัดการการนำเข้า-ส่งออกสินค้าต่างๆ ให้เป็นไปตามกลไกของตลาดทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ ปกป้องรักษาผลประโยชน์ของผู้ประกอบการและประชาชนจากการค้าที่ไม่เป็นธรรม หรือถูกกีดกันด้วยมาตรการที่ไม่เป็นธรรม ปรับเปลี่ยน ยกเลิก แก้ไข กฎระเบียบต่างๆ เพื่อให้สอดคล้องกับการค้าในปัจจุบันที่มีเปิดเสรีมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็น FTA รวมถึงการเข้าร่วมเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน(AEC) ที่จะเริ่มใช้ในปี 2558

โดยด้านบริหารจัดการสินค้าเกษตรนั้น ในปี 54 มียอดการส่งออกข้าวทั้งสิ้น 10.67 ล้านตัน คิดเป็นมูลค่า 192,956 ล้านบาท โดยกรมฯ ได้ดำเนินการจัดคณะผู้แทนเดินทางไปเข้าร่วมงานแสดงสินค้าทั้งในประเทศและต่างประเทศเพื่อส่งเสริมการตลาด รวมทั้งขยายความร่วมมือกับผู้ส่งออกข้าวด้วยกันทั้งเวียดนามและกัมพูชา ขณะที่สินค้ามันสำปะหลังมีการส่งออก 6.87 ล้านตัน คิดเป็นมูลค่า 79,513 ล้านบาท ซึ่งกรมฯ ได้จัดทำแผนงานด้านการค้าและการตลาด โดยให้ความสำคัญตั้งแต่ต้นน้ำ(เกษตรกร) จนถึงปลายน้ำ(ผู้ส่งออก/ผู้ใช้) ส่งผลให้อุตสาหกรรมมันสำปะหลังเติบโตอย่างยั่งยืน

ด้านอำนวยความสะดวกและพัฒนาระบบการให้บริการ กรมฯ ได้ให้บริการออกหนังสือสำคัญนำเข้า-ส่งออกในปี 2554 จำนวน 1.06 ล้านฉบับ เพื่อรองรับและตอบสนองความต้องการของผู้ใช้บริการอย่างทั่วถึง จึงได้พัฒนาระบบอิเล็คทรอนิกส์(IT) พร้อมกับยกระดับคุณภาพให้อยู่ในระดับมาตรฐานสากล(ISO) และเชื่อมโยงข้อมูลกับหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นกรมศุลกากร กรมพัฒนาธุรกิจการค้า เพื่อลดปัญหาอุปสรรค ขั้นตอนและวิธีการต่างๆ ให้เกิดความรวดเร็ว สะดวกและประหยัด

ด้านการปกป้องรักษาผลประโยชน์และแก้ไขปัญหาอุปสรรคทางการค้า แก้ไขปัญหาทางการค้าระหว่างประเทศที่ไม่เป็นธรรม โดยใช้มาตรการต่างๆ เช่น มาตรการตอบโต้การทุ่มตลาด(AD : Anti-Dumping) มาตรการตอบโต้การอุดหนุน(CVD : Countervailing Duty) และมาตรการปกป้องการนำเข้าสินค้าที่เพิ่มขึ้น (Safeguards) รวมทั้งการกำกับดูแล ป้องกันการแอบอ้างถิ่นกำเนิดสินค้า (Anti-Circumvention) และกำกับดูแลการส่งออกภายใต้ระบบ Self-Certification

สำหรับการแก้ไขปัญหาอุปสรรคทางการค้านั้น กรมฯ ได้ประสบความสำเร็จในการเจรจาให้สหภาพยุโรปเปิดตลาดนำเข้าเนื้อไก่สดได้ตามปกติ ซึ่งจะช่วยนำเงินตราเข้าประเทศได้ถึงปีละกว่า 10,000 ล้านบาท รวมทั้งจะได้มีการผลักดันเพื่อให้ญี่ปุ่นและเกาหลีใต้พิจารณาเปิดตลาดนำเข้าไก่สดด้วยเช่นเดียวกัน

ด้านการส่งเสริมการค้าชายแดนและภูมิภาค ได้ส่งเสริมการค้าชายแดนและการค้าภายใต้กรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาคและอนุภูมิภาคกับประเทศเพื่อนบ้าน ทำให้ในปี 2554 การค้าชายแดนมีมูลค่า 899,783 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 23.15%

สำหรับโครงการ Contract Farming เพื่อให้ความช่วยเหลือทางเศรษฐกิจกับประเทศเพื่อนบ้าน ครม.ได้มีมติเห็นชอบในหลักการที่กระทรวงพาณิชย์เสนอในแผนการลงทุนและแนวทางการดำเนินงาน ซึ่งจะได้เร่งดำเนินการต่อไป

นอกจากนี้ยังได้ส่งเสริมการใช้สิทธิประโยชน์ต่างๆ เช่น ระบบสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรเป็นการทั่วไป(GSP) สิทธิพิเศษทางการค้าระหว่างประเทศกำลังพัฒนา(GSTP) ความตกลงการค้าสินค้าของอาเซียน(ATIGA) และความตกลงการค้าเสรี(FTA) เพื่อเป็นการเพิ่มมูลค่าการค้าระหว่างประเทศให้สูงขึ้น และจากการเปิดเสรีทางการค้าซึ่งส่งผลกระทบกับผู้ประกอบการบางกลุ่ม ทำให้จำเป็นต้องได้รับการเยียวยาเพื่อปรับตัวให้สามารถดำเนินการแข่งขันกับต่างประเทศได้

นายบุญทรง กล่าวว่า กระทรวงพาณิชย์ได้มอบหมายให้กรมการค้าต่างประเทศดำเนินการเชิงรุกโดยใช้ประโยชน์จาก AEC คือ รุกเข้าไปบริหารจัดการสินค้าเกษตร เพื่อเดินหน้าสู่การเป็นแหล่งอาหารของภูมิภาคและของโลก พร้อมยกระดับความสัมพันธ์ทางการค้ากับประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อสร้างมูลค่าการค้าและการลงทุนกับประเทศเพื่อนบ้านให้เจริญเติบโตมากยิ่งขึ้น รวมทั้งการส่งเสริมการค้าที่ต้องคำนึงถึงการรักษาสิ่งแวดล้อมและการดูแลสังคม ซึ่งเป็นเงื่อนไขที่ถูกหยิบยกมาใช้ในเวทีโลกมากขึ้น

"เพราะการค้าระหว่างประเทศไม่เคยหยุดนิ่ง กระทรวงพาณิชย์ขอให้คำมั่นว่า จะทำหน้าที่ปกป้องเกษตรกรและผู้ประกอบการไทยให้สามารถรับมือกับการเปลี่ยนแปลงในเวทีการค้าโลกได้อย่างยั่งยืน" นายบุญทรงกล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ