เกษตรฯ เผยอ.ต.ก.-สหกรณ์การเกษตรรับจำนำข้าวเปลือกนาปี 3.8 ล้านตัน,นายกฯสั่งดูแลให้เป็นไปตามเป้า

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday May 9, 2012 12:43 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายโอฬาร พิทักษ์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในฐานะประธานคณะกรรมการติดตาม กำกับ ดูแลและแก้ไขปัญหาการรับจำนำข้าวเปลือกนาปีของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ 2554/55 เปิดเผยว่า ในการดำเนินโครงการฯ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์จะรับผิดชอบหลักในเรื่องของการขึ้นทะเบียนและออกใบรับรอง ซึ่งดำเนินการโดยกรมส่งเสริมการเกษตร สำหรับผลการดำเนินงานได้ขึ้นทะเบียนเกษตรกรไปทั้งสิ้น 3.57 ล้านครัวเรือน ผ่านการประชาคม จำนวน 3.48 ล้านครัวเรือน หรือคิดเป็นร้อยละ 97.67 ของผู้ที่ขอที่ขึ้นทะเบียนเกษตรกร ออกใบรับรองให้กับเกษตรกร จำนวน 3.47 ล้านครัวเรือน หรือคิดเป็นร้อยละ 99.71 ของผู้ผ่านการทำประชาคม และมีเกษตรกรมารับใบรับรองไป จำนวน 1.97 ล้านครัวเรือน หรือคิดเป็นร้อยละ 56.86 ของการออกใบรับรอง

นอกจากนี้ ในการรับจำนำข้าวเปลือกนาปี 2554/55 ยังมีหน่วยงานในสังกัดของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ที่เกี่ยวข้องอีก 2 หน่วยงานในการเป็นจุดรับจำนำข้าวเปลือกจากเกษตรกร คือ องค์การตลาดเพื่อเกษตรกร(อ.ต.ก) และสหกรณ์การเกษตร โดย อ.ต.ก. ได้เปิดจุดรับจำนำใน 39 จังหวัด จำนวน 255 จุด มีปริมาณข้าวเปลือกที่รับจำนำ รวม 1.83 ล้านตัน สหกรณ์การเกษตรเปิดจุดรับจำนำ 40 จังหวัด มีสหกรณ์เข้าร่วมโครงการ 192 สหกรณ์ แยกเป็นจุดรับจำนำ 29 สหกรณ์ ปริมาณข้าวเปลือก 0.87 ตัน จุดให้บริการนอกพื้นที่ของโรงสีเอกชนและจุดรวบรวมขนส่งข้าวเปลือกไปยังจุดรับจำนำ 166 สหกรณ์ เป็นปริมาณข้าวเปลือก 1.13 ล้านตัน

ทั้งนี้ ผลการรับจำนำข้าวเปลือกนาปี ปี 2554/55 ทั้งประเทศ มีปริมาณข้าวเปลือก ทั้งสิ้น 6,770,306 ตัน แยกเป็น ข้าวหอมมะลิ ร้อยละ 45.35 ข้าวเจ้า ร้อยละ 42.97 ข้าวเหนียว ร้อยละ 6.50 ข้าวหอมจังหวัด ร้อยละ 4.95 และข้าวปทุมธานี ร้อยละ 0.23 ของปริมาณข้าวเปลือกทั้งหมด

นายโอฬาร กล่าวอีกว่า จากการติดตามการดำเนินโครงการในส่วนที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์รับผิดชอบ คณะกรรมการฯได้มีข้อค้นพบที่สำคัญ และนำมาสู่การแก้ไขเพื่อให้การดำเนินงานเป็นไปตามเป้าหมายของโครงการ เกษตรกรได้รับความสะดวก รวดเร็วในการมาขอรับบริการของทางราชการ ตลอดจนมีความเข้าใจในแนวทางปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ อาทิ ระยะแรกพบว่ามีความสับสนในการใช้ข้อมูลผลผลิตที่ปรากฏในใบรับรอง แต่ต่อมาโครงการได้กำหนดแนวทางปฏิบัติที่ชัดเจนว่า ปริมาณผลผลิตข้าวเปลือกที่ระบุไว้ในใบรับรองให้ใช้เป็นเพียงข้อมูลประกอบการรับจำนำเท่านั้น ซึ่งในการรับจำนำข้าวเปลือกปี 2555 จะใช้ข้อมูลผลผลิตเฉลี่ยรายจังหวัด และผลผลิตรวมของเกษตรกรตามใบรับรองเป็นข้อมูลประกอบการพิจารณารับจำนำ และกรณีผลผลิตเกษตรสูงกว่าปริมาณผลผลิตเฉลี่ยให้ปรับเพิ่มได้ไม่เกินร้อยละ 20 นอกจากนี้ยังพบว่า มีข้าวคุณภาพต่ำเข้าสู่โครงการรับจำนำมากขึ้น ซึ่งโรงสีที่เป็นจุดรับจำนำจะมีการซื้อข้าวคละชนิดรวมกัน ไม่ได้แยกคุณภาพ ในบางกรณีเกษตรกรมีการนำข้าวคุณภาพต่ำ ข้าวปน มาจำนำ ซึ่งคณะกรรมการฯ ได้เสนอกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ให้กรมการข้าวติดตามดูแลปัญหาดังกล่าว และให้มีการจัดทำโครงการพัฒนาคุณภาพข้าวควบคู่กับโครงการจัดระบบการปลูกข้าวด้วย เป็นต้น

ด้านนายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ปฏิบัติหน้าที่โฆษกฯ กล่าวว่า นายกรัฐมนตรีได้สั่งการรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องให้ไปดูปริมาณรับจำนำข้าวว่าเป็นไปตามเป้าหมายหรือไม่ รวมถึงไปดูเรื่องกำลังการผลิตของเกษรตรว่าผลิตได้ตามเป้าหมายที่กำหนดไว้หรือไม่ และมีความเสียหายจากการผลิตข้าวหรือไม่ โดยรัฐบาลจะต้องไปคุ้มเข้มและไปดูในเรื่องของการรับซื้อหรือการรับจำนำ ตลอดจนการระบายข้าว ทั้งนี้เพื่อผลประโยชน์ทั้งหมดตกอยู่กับประชาชนและเกษตรกรให้มากที่สุด และให้รัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องกับนโยบายรับจำนำข้าวรายงานให้นายกรัฐมนตรีและครม. รับทราบเป็นระยะ ๆ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ