น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ รมว.เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร(ICT) เผยได้หารือกับคณะกรรมการบริหาร บมจ.ทีโอที(TOT) กรณีมอบหมายให้ดำเนินธุรกิจ 3G ทั่วประเทศ เนื่องจาก TOT จะประสบปัญหาขาดทุนเพราะไม่มีรายได้หลังหมดสัมปทานลงในปี 56 จากปัจจุบันธุรกิจที่สร้างรายได้ให้กับ TOT ประกอบด้วย การให้บริการโทรศัพท์บ้านและบรอดแบนด์ความเร็วสูง ซึ่ง TOT ก็จะต้องปรับตัวเพื่อให้ได้ธุรกิจในภาพรวมดีขึ้นเช่นกัน ทั้งนี้ TOT จะต้องดำเนินการเป็นรูปธรรมและจับต้องได้ในหลายๆ ธุรกิจ และเมื่อ TOT พบว่าจะประสบกับปัญหา การบริหารงานด้านการเงินโดยเฉพาะเรื่องสินเชื่อจะต้องชัดเจน
ทั้งนี้ ได้มอบหมายให้ TOT ไปปรับแผนธุรกิจ 3G ให้สอดคล้องกับกฏหมาย โดยในวันที่ 18 พ.ค.นี้คณะกรรมการและผู้บริหาร TOT ต้องพิจารณาปรับปรุงแผนการทำธุรกิจ 3G ใหม่เพื่อเสนอแผนต่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับนโยบายรัฐวิสาหกิจ(กนร.) ให้รับทราบ
จากนั้นจะเสนอให้คณะกรรมการร่วมในการกำกับนโยบายเพื่อแก้ไขปัญหาสัมปทานของ TOT กับ บมจ.กสท โทรคมนาคม ที่มี นางจีราวรรณ บุญเพิ่ม ปลัดกระทรวงไอซีที เป็นประธาน ก่อนนำเรื่องเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) เพื่อเร่งดำเนินการตามแผนใหม่ต่อไป เนื่องจากในไตรมาส 3/55 สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) จะมีการประมูลใบอนุญาต 3G ซึ่ง TOT ต้องมีความพร้อมที่จะทำโครงข่าย 3G เพื่อให้บริการแก่ผู้ที่ประมูลใบอนุญาต
"ในเดือนมิถุนายนนี้แผนธุรกิจที่เห็นร่วมกันหลังสัมปทานหมดจะต้องแล้วเสร็จ ซึ่งหากอนุมัติให้ปรับโครงสร้างก็จะเข้า ครม.และจะได้หยุดเลือดของทีโอทีที่ไหลออกอยู่ทุกวันนี้ ซึ่งหากยึดแผนธุรกิจของรัฐบาลชุดที่แล้วก็จะไม่ประสบความสำเร็จ โดยโครงการนี้ถูกเขียนไว้ในภาพใหญ่ให้ทีโอทีเป็นเน็คเวิร์คโพรไวเดอร์ถือว่าเป็นแผนที่ขนาดใหญ่ โดยกระบวนการในการสร้างสถานีฐานที่เลือกการโคไซต์ก็เกิดปัญหาอุปสรรค มีการเขียนแผนไว้อย่างสวยหรูแต่ขัดแย้งกับของจริง โดยถูกตัดงบประมาณลงจาก 2.9 หมื่นล้านบาท เหลือเพียง 15,999 ล้านบาท" น.อ.อนุดิษฐ์ กล่าว
หากปัจจุบัน TOT ยึดติดกับแผนเดิมจะปฎิเสธไม่ได้ว่าจำนวนผู้ใช้บริการปีนี้ที่คาดหวังว่าจะได้ 2.5 ล้านราย แต่ปรากฏว่ามีลูกค้าของ TOT จำนวน 6 หมื่นรายและลูกค้าจาก MVNO 5 รายรวมกันอีก 1.4 แสนราย ถือว่าต่ำกว่าเป้า 12 เท่าที่เปิดบริการมาเมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 52 ส่วนรายได้ต่ำกว่าแผน 14 เท่า นอกจากนี้ในส่วนของสถานีจากเดิมที่จะต้องเปิดให้บริการในเดือนนี้ที่ 5 พันกว่าสถานี แต่ปัจจุบันเปิดบริการได้เพียง 2 พันกว่าสถานี ทั้งนี้ ดูจากกราฟแล้วกราฟต่ำกว่าแผนงาน 20 เท่า ดังนั้นจากกราฟแล้วปี 58 TOT จะมีซัพพลายเออร์ 7 ล้านรายก็เป็นไปไม่ได้
"ให้กรอบความคิดไปว่าอย่างแรกต้องพยายามปลดล็อกตัวเองจากแผนเดิมก่อน ซึ่งต้องแก้ไขทั้งระยะสั้น กลาง ยาว ว่าจะมีการปรับในส่วนของแผนอย่างไร ถ้ายังดำเนินงานต่อไปแล้วทำให้ส่วนต่างรายได้มากขึ้นทีโอทีก็จะยิ่งเลือดไหล ซึ่งการเร่งรีบทำแผนทีโอที3จีของรัฐบาลที่แล้ว ทำให้ทีโอที 3 จีเหมือนเด็กที่คลอดออกมาโดยไม่มีแขนขามีแต่ตัว การที่ทีโอทีจะลงไปแข่งในธุรกิจในธุรกิจที่มีเอกชนผู้ให้บริการกินส่วนแบ่งตลาดขนาดใหญ่อยู่แล้วผมมองว่าทีโอทีไม่น่าจะไปแข่งได้ ซึ่งข้อเท็จจริงวันนี้ใครก็รู้ เอกชนก็รู้ การที่ทีโอทีปรับและยอมรับความเป็นจริงที่เกิดขึ้น ไม่ได้ทำให้ทีโอทีเสียแต่ทำให้แข็งแกร่งขึ้น ซึ่งความชัดเจนในระดับนโยบายจะสร้างความเชื่อมมั่นให้กับทีโอที" น.อ.อนุดิษฐ์ กล่าว