ยูโรขยับลงแตะระดับต่ำสุดในรอบ 4 เดือน หลังต้นทุนการกู้ยืมสเปนพุ่ง

ข่าวต่างประเทศ Thursday May 17, 2012 20:43 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

สกุลเงินยูโรอ่อนค่าลง 0.1% มาอยู่ที่ระดับ 1.2702 ดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่วันที่ 17 ม.ค. ณ เวลา 08.54 น.ตามเวลานิวยอร์ก เนื่องจากการปรับตัวขึ้นของต้นทุนการกู้ยืมของสเปนได้จุดปะทุให้เกิดความวิตกกังวลเกี่ยวกับการลุกลามของวิกฤตการเงินที่มีต้นตอมาจากกรีซ

ทั้งนี้ แม้สเปนระดมทุนได้ตามเป้าหมายสูงสุดที่วางไว้ที่ 2.5 พันล้านยูโร (3.19 พันล้านดอลลาร์) จากการประมูลขายพันธบัตรระยะกลาง 3 ชุดในวันนี้ แต่อัตราผลตอบแทนปรับตัวสูงขึ้นมากจากการประมูลครั้งก่อน โดยสเปนขายพันธบัตรที่ครบกำหนดไถ่ถอนในเดือนม.ค.2558 ได้ 372 ล้านยูโร ที่อัตราผลตอบแทน 4.375% เพิ่มขึ้นจากระดับ 2.890% ในการประมูลเมื่อวันที่ 4 เม.ย. ขณะที่ความต้องการซื้อพันธบัตรสูงกว่ามูลค่าที่นำออกประมูลอยู่ที่ 4.5 เท่า ซึ่งเพิ่มขึ้นจาก 2.4 เท่าในการประมูลเดือนที่แล้ว

นอกจากนี้ สเปนยังขายพันธบัตรซึ่งจะครบกำหนดไถ่ถอนในเดือนเม.ย. 2559 ได้ 1.1 พันล้านยูโร ที่อัตราผลตอบแทนเฉลี่ย 5.106% เทียบกับระดับ 3.374% ในการประมูลเมื่อวันที่ 15 มี.ค. สำหรับความต้องการซื้อพันธบัตรสูงกว่ามูลค่าที่นำออกประมูลอยู่ 2.4 เท่า ลดลงจาก 4.1 เท่าในการประมูลครั้งก่อน

สกุลเงินยูโรได้รับแรงกดดันมากขึ้นเมื่อมีข่าวว่า ธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) ได้ยุติการให้เงินกู้แก่ธนาคารกรีซบางแห่งเพื่อจำกัดความเสี่ยง ซึ่งเป็นการดำเนินการล่าสุดในการรับมือกับความไม่แน่นอนเกี่ยวกับอนาคตของกรีซในยูโรโซน โดยอีซีบีระบุว่าจะให้ธนาคารกลางกรีซทำหน้าที่รับผิดชอบเกี่ยวกับการจัดสรรเงินกู้แก่สถาบันการเงินของกรีซจนกว่าสถาบันเหล่านั้นจะมีเงินทุนเพียงพอ

การดำเนินการดังกล่าวเป็นการเพิ่มแรงกดดันต่อกรีซให้ปฏิบัติตามเงื่อนไขของมาตรการช่วยเหลือระหว่างประเทศ ขณะที่ชาวกรีซได้ถอนเงินฝากจำนวน 700 ล้านยูโร (898 ล้านดอลลาร์) จากธนาคารของประเทศเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา จากความวิตกที่เพิ่มมากขึ้นว่ากรีซอาจจะต้องพ้นจากการเป็นสมาชิกยูโรโซน ซึ่งทำให้เกิดความกังวลเกี่ยวกับสภาพคล่องของภาคการธนาคาร

ขณะเดียวกันในวันนี้ กระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยว่า ผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานครั้งแรกในรอบสัปดาห์ที่สิ้นสุดวันที่ 12 พ.ค. ทรงตัวอยู่ที่ 370,000 ราย ซึ่งอาจจุดกระแสวิตกกังวลเกี่ยวกับการฟื้นตัวของตลาดแรงงานให้กลับคืนมาอีกระลอก


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ