กรมธุรกิจพลังงาน เผย พ.ค.นำเข้าน้ำมันเชื้อเพลิงลดลง 7.6% จากเดือนก่อน

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday June 27, 2012 15:04 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายวีระพล จิรประดิษฐกุล อธิบดีกรมธุรกิจพลังงาน เปิดเผยว่า การนำเข้าน้ำมันเชื้อเพลิงในเดือน พ.ค.55 อยู่ที่ 913,000 บาร์เรล/วัน ลดลง 7.6% จากเดือน เม.ย.55 โดยมีมูลค่าการนำเข้าอยู่ที่ 107,811 ล้านบาท ซึ่งเป็นผลมาจากการใช้น้ำมันที่ลดลง ส่วนการส่งออกน้ำมันสำเร็จรูปอยู่ที่ 171,000 บาร์เรล/วัน ลดลง 16.6% คิดเป็นมูลค่าการส่งออก 19,256 ล้านบาท

ทั้งนี้ การนำเข้าน้ำมันเชื้อเพลิง แบ่งเป็น น้ำมันดิบ 857,000 บาร์เรล/วัน ลดลง 4.7% คิดเป็นมูลค่า 102,802 ล้านบาท และน้ำมันสำเร็จรูป 56,000 บาร์เรล/วัน ลดลง 37.2% คิดเป็นมูลค่า 5,009 ล้านบาท เป็นผลจากการนำเข้าก๊าซปิโตรเลียมเหลว(แอลพีจี) ลดลงจาก 184,433 ตันในเดือน เม.ย.มาอยู่ที่ 115,667 ตัน คิดเป็นมูลค่า 3,479 ล้านบาท เนื่องจากในเดือน เม.ย.55 มีโรงงานปิโตรเคมีบางแห่งหยุดซ่อมบำรุง หรือ shutdown ฉุกเฉิน ทำให้ยังมีปริมาณแอลพีจีคงเหลือในระดับสูง ประกอบกับโรงกลั่นน้ำมันสามารถผลิตแอลพีจีออกมาจำหน่ายในประเทศเพิ่มขึ้น โดยมีการจ่ายเงินชดเชยส่วนต่างราคาแอลพีจีนำเข้าประมาณ 2,500 ล้านบาท

ขณะที่ปริมาณการนำเข้าน้ำมันในช่วง 5 เดือนแรกปีนี้(ม.ค.-พ.ค.55) อยู่ที่ 985,000 บาร์เรล/วัน คิดเป็นมูลค่า 557,786 ล้านบาท แบ่งเป็น การนำเข้าน้ำมันดิบ 918,000 บาร์เรล/วัน คิดเป็นมูลค่า 525,905 ล้านบาท และนำเข้าน้ำมันสำเร็จรูป 67,000 บาร์เรล/วัน คิดเป็นมูลค่า 31,881 ล้านบาท ส่วนแอลพีจีมีการนำเข้ารวม 147,891 ตันต่อเดือน คิดเป็นมูลค่า 25,204 ล้านบาท ส่วนการส่งออกในช่วง 5 เดือนอยู่ที่ 196,000 บาร์เรล/วัน คิดเป็นมูลค่าการส่งออก 114,041 ล้านบาท

อธิบดีกรมธุรกิจพลังงาน กล่าวว่า ภาพรวมการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงเดือน พ.ค.55 เมื่อเทียบกับเดือน เม.ย.ที่ผ่านมา กลุ่มน้ำมันเบนซินอยู่ที่ 20.4 ล้านลิตร/วัน ลดลง 0.5% แบ่งเป็น น้ำมันเบนซิน 95 และ 91 จำนวน 9 ล้านลิตร/วัน เพิ่มขึ้น 1% น้ำมันแก๊สโซฮอล์อยู่ที่ 11.5 ล้านลิตร/วัน ลดลง 1.6% ส่วนน้ำมันดีเซลมีปริมาณการใช้อยู่ที่ 58.3 ล้านลิตร/วัน เพิ่มขึ้น 1.5% ส่งผลให้ปริมาณการใช้น้ำมันเบนซินในช่วง 5 เดือนแรกปีนี้อยู่ที่ 20.6 ล้านลิตร/วัน แบ่งเป็น เบนซิน 95 และ 91 อยู่ที่ 9.3 ล้านลิตร/วัน แก๊สโซฮอล์11.3 ล้านลิตร/วัน ส่วนการใช้น้ำมันดีเซลอยู่ที่ 57.6 ล้านลิตร/วัน

สาเหตุที่ปริมาณการใช้น้ำมันปรับสูงขึ้น เนื่องจากในช่วงนี้ได้มีการรปรับลดราคาขายปลีกน้ำมันลงหลายครั้งตามราคาน้ำมันตลาดโลกที่ปรับตัวลดลง ประกอบกับมติคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ(กพช.) เมื่อวันที่ 14 พ.ค.55 ให้ยกเลิกการเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงในส่วนของเบนซิน 1 บาทต่อลิตร และให้คณะกรรมกรรมการนโยบายพลังงาน(กบง.) พิจารณาตามความเหมาะสมแทน ทั้งนี้หากราคาน้ำมันในเดือน มิ.ย.55 ยังคงปรับลดลงต่อเนื่องก็คาดว่าจะทำให้ปริมาณการใช้น้ำมันในเดือนหน้าจะปรับเพิ่มขึ้นตามไปด้วย

ส่วนปริมาณการใช้แอลพีจีในเดือน พ.ค.55 อยู่ที่ 587,107 ตัน/วัน เพิ่มขึ้น 3.6% ปรับเพิ่มขึ้นในทุกภาคส่วน ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากโรงงานอุตสาหกรรมต่างๆ เริ่มกลับมาเดินเครื่องผลิตหลังจากหยุดในช่วงสงกรานต์ ทำให้การใช้แอลพีจีในภาคอุตสาหกรรมปรับเพิ่มขึ้น 17.7% หรือปรับขึ้นมาอยู่ที่ 53,457 ตันต่อวัน ขณะที่การใช้แอลพีจีภาคขนส่งก็ปรับเพิ่มขึ้น 3.2% หรือขึ้นมาอยู่ที่ 87,099 ตัน/วัน เนื่องจาก กพช.มีมติให้ชะลอการปรับขึ้นราคาภาคขนส่งเดือนละ 75 สตางค์/กิโลกรัม ออกไปอีก 3 เดือน ส่วนภาคครัวเรือนเพิ่มขึ้น 4% หรือขึ้นมาอยู่ที่ 254,761 ตัน/วัน ส่วนภาคปิโตรเคมีไม่มีการเปลี่ยนแปลง โดยการใช้ยังอยู่ที่ 191,790 ตัน/วัน ส่งผลให้ปริมาณการใช้แอลพีจีในช่วง 5 เดือนแรกเฉลี่ยปีนี้อยู่ที่ 579,245 ตัน/วัน

สำหรับปริมาณการใช้ก๊าซธรรมชาติสำหรับยานยนต์(เอ็นจีวี) ในเดือน พ.ค.55 อยู่ที่ 7.7 ล้านกิโลกรัม/วัน เพิ่มขึ้น 7.1% เนื่องจากรถบรรทุกที่ใช้เอ็นจีวีกลับมาวิ่งตามปกติ ส่งผลให้ปริมาณการใช้เอ็นจีวีในช่วง 5 เดือนแรกเฉลี่ยปีนี้อยู่ที่ 7,567 ตัน/วัน

แนวโน้มราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกเดือน มิ.ย.55 จะปรับตัวลดลงต่อเนื่องจากเดือน พ.ค.55 ซึ่งราคาน้ำมันดิบเบรนท์ได้ปรับลดลงลงมาต่ำสุดในรอบ 8 เดือน โดยคาดว่าราคาน้ำมันดิบเบรนท์จะเคลื่อนไหวอยู่ที่ 95-103 เหรียญ/บาร์เรล น้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสจะอยู่ที่ 80- 87 เหรียญ/บาร์เรล เนื่องจากตลาดยังคงกังวลเกี่ยวกับปัญหาหนี้ในยุโรปที่ยังไม่มีความชัดเจน อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าราคาน้ำมันคงจะอยู่ในระดับนี้และไม่ลดลงต่ำกว่าในระดับนี้หรือลงไปที่ระดับ 60 เหรียญ/บาร์เรลอย่างแน่นอน เนื่องจากต้นทุนการขุดเจาะน้ำมันก็อยู่ในระดับกว่า 60 เหรียญ/บาร์เรลแล้ว


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ