(เพิ่มเติม) พาณิชย์ เผย ก.ค.55 CPI เพิ่ม 2.73%, Core CPI เพิ่ม 1.87%

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday August 1, 2012 15:51 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

กระทรวงพาณิชย์ แถลงดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป(CPI)เดือน ก.ค.55 อยู่ที่ 115.82 เพิ่มขึ้น 2.73% เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน ซึ่งต่ำกว่าเป้าหมาย และเมื่อเทียบกับเดือน มิ.ย.55 เพิ่มขึ้น 0.35% ส่งผลให้ CPI เฉลี่ย 7 เดือนแรกของปีนี้(ม.ค.-ก.ค.55) เพิ่มขึ้น 2.92% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน

ขณะที่ดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐานของประเทศ(Core CPI) เดือน ก.ค.55 อยู่ที่ 108.34 เพิ่มขึ้น 1.87% เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน และเพิ่มขึ้น 0.03% เมื่อเทียบกับเดือน มิ.ย.55 ส่งผลให้ Core CPI เฉลี่ย 7 เดือนของปีนี้เพิ่มขึ้น 2.30% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน

โดยดัชนีราคาสินค้าหมวดอาหารและเครื่องดื่มเดือน ก.ค.55 อยู่ที่ 140.06 เพิ่มขึ้น 5.42% เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน และเพิ่มขึ้น 0.47% จากเดือน มิ.ย.55

ส่วนดัชนีราคาสินค้าที่ไม่ใช่หมวดอาหารและเครื่องดื่มเดือน ก.ค.55 อยู่ที่ 101.96 เพิ่มขึ้น 1.03% เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน และเพิ่มขึ้น 0.28% เมื่อเทียบกับเดือน มิ.ย.55

นายยรรยง พวงราช ปลัดกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า การเคลื่อนไหวของราคาสินค้าอุปโภคบริโภคเดือน ก.ค.ไม่ได้เร่งตัวมากนัก โดยดัชนีหมวดอาหารและเครื่องดื่มสูงขึ้น 0.47% จากการสูงขึ้นของราคาสินค้าประเภทอาหาร เช่น ข้าวสารเจ้า นมและผลิตภัณฑ์นม ผลไม้สด เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ และอาหารสำเร็จรูป ส่วนสินค้าที่มีราคาลดลงเป็นไปตามปริมาณผลผลิตที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ เนื้อสุกร ผักสด ไข่ เป็ดไก่สด รวมถึงเครื่องประกอบอาหารและเครื่องปรุงอาหารที่มีราคาลดลงตามการส่งเสริมการจำหน่าย

สำหรับดัชนีหมวดอื่นๆ ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่มดัชนีราคาสูงขึ้น 0.20% สาเหตุการสูงขึ้นของราคาขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิงเป็นสำคัญ และจากการสูงขึ้นของราคาสินค้าและบริการต่างๆ เช่น ค่าเช่าบ้าน ค่าน้ำประปา ค่าวัสดุก่อสร้าง ค่าตรวจรักษา ค่ายา ค่าของใช้ส่วนบุคคล ค่าบริการส่วนบุคคล และเครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์ เป็นต้น

"แรงกดดันต่อภาวะเงินเฟ้อลดลงมาก แสดงถึงภาวะเศรษฐกิจโดยรวมอยู่ในเกณฑ์ดี มีเสถียรภาพ ตามการกำกับดูแลราคาสินค้าเพื่อช่วยลดภาระค่าครองชีพของประชาชนและสร้างความเป็นธรรมให้แก่ผู้บริโภค ของกระทรวงพาณิชย์ที่ได้ผลดี ประกอบกับภาวะราคาน้ำมันตลาดโลกไม่ได้สูงมากนัก และรัฐบาลยังคงมีนโยบายช่วยเหลือค่าครองชีพของประชาชนต่อไป ได้แก่ ค่ารถเมล์ฟรี เงินอุดหนุนค่าน้ำประปาสำหรับผู้มีรายได้น้อย เป็นต้น"นายยรรยง กล่าว

ปลัดกระทรวงพาณิชย์ คาดว่า ในไตรมาส 4/55 อัตราเงินเฟ้อจะเพิ่มขึ้นเล็กน้อยมาที่ 3.1% ซึ่งทำให้คาดว่าทั้งปีเงินเฟ้อจะอยู่ในกรอบล่างของเป้าหมายที่ตั้งไว้ 3.3-3.8% โดยมีปัจจัยเสี่ยงต่อภาวะเงินเฟ้อและราคาสินค้าจากผลกระทบด้านภาวะเศรษฐกิจโลก ภัยธรรมชาติ ราคาน้ำมันในตลาดโลก ความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน และอัตราดอกเบี้ย ซึ่งจะมีผลต่อต้นทุนการผลิตและกระทบค่าครองชีพของประชาชน

ส่วนกรณีที่คณะกรรมการเรกูเลเตอร์จะมีการพิจารณาเรื่องค่าเอฟที (Ft) งวดใหม่ในเดือนก.ย.-ธ.ค. 55 หากมีการปรับขึ้นค่าเอฟที 30 สต./หน่วยตามที่มีการคาดการณ์ไว้จริง ก็จะมีผลกระทบกับอัตราเงินเฟ้อทั้งปีให้สูงขึ้นเล็กน้อยเพียงแค่ 0.082% ในขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน ยังเชื่อว่าจะยังอยู่ตามเป้าหมายของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในกรอบ 0.5-3.0%

"เมื่อเทียบกับเป้าหมายเงินเฟ้อของธนาคารแห่งประเทศไทยที่อยู่ระหว่าง 0.5 - 3.0% ดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐานเดือนก.ค. 55 ยังอยู่ในช่วงเป้าหมายของธนาคารแห่งประเทศไทย"

นายยรรยง กล่าวถึงการปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายว่า การที่จะพิจารณาปรับขึ้นดอกเบี้ยไม่น่าจะพิจารณาจากเหตุผลเรื่องราคาสินค้า เพราะว่าขณะนี้มองว่าอัตราเงินเฟ้อของไทยอยู่ในระดับต่ำ ถ้าจะเกิดปัญหาเงินเฟ้อขึ้นในไทยน่าจะมาจากภาวะ Import inflation ซึ่งเป็นผลมาจากเงินทุนไหลเข้าจากต่างประเทศ และราคาวัตถุดิบที่นำเข้า ซึ่งไม่ได้มาจากราคาสินค้าในประเทศโดยตรง

"ถ้าจะเป็น inflation ก็น่าจะมาจาก import inflation ไม่ใช่เพราะมาจากราคาสินค้าในประเทศโดยตรง เพราะฉะนั้นไม่อยากให้แบงก์ชาติเอาการดูแลราคาสินค้ามากำหนดอัตราดอกเบี้ย"นายยรรยง กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ