การถือเงินสำรองฯ มีทั้งผลประโยชน์และต้นทุนทางเศรษฐกิจ โดยในด้านผลประโยชน์ จะเป็นเครื่องมือที่ช่วยรักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจเมื่อประเทศเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงที่คาดไม่ถึงและช่วยสร้างความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ รวมทั้งเป็นกลไกหนึ่งที่จะช่วยสร้างความมั่นใจต่อการรับมือปัญหาเงินทุนไหลออกอย่างฉับพลันเนื่องจากภูมิภาคเอเชียเคยเผชิญกับปัญหานี้ในช่วงวิกฤติปี 1997 เมื่อภาคส่งออกขยายตัว และมีเงินทุนไหลเข้ามากขึ้น ส่งผลให้ทศวรรษที่ผ่านมาประเทศทั่วโลกถือเงินสารองฯ เพิ่มขึ้นกว่า 4 เท่า โดยเฉพาะประเทศกาลังพัฒนาในเอเชีย
“การที่เงินทุนไหลเข้ามาในภูมิภาคเช่นนี้ สร้างแรงกดดันต่อเสถียรภาพอัตราแลกเปลี่ยน โดยเฉพาะหลังวิกฤติเศรษฐกิจโลก ประเทศในภูมิภาคนี้จึงพยายามดูแลค่าเงินสกุลท้องถิ่นให้มีเสถียรภาพ โดยการลดอุปทานเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐด้วยการซื้อเข้ามาเก็บเป็นเงินสำรองฯ ซึ่งจะช่วยให้ค่าเงินเคลื่อนไหวภายในกรอบที่กำหนด เงินสำรองฯ ที่เพิ่มขึ้นจึงเป็นผลพลอยได้จากการดูแลเสถียรภาพค่าเงิน"ผลวิจัยของ ธปท.ระบุ
กลับกันการถือครองทุนสำรองฯจะมีต้นทุนทางด้านเศรษฐกิจ ซึ่งประกอบด้วยต้นทุนที่เป็นตัวเงิน ที่สำคัญได้แก่ ดอกเบี้ยจ่ายสุทธิ เมื่อผลตอบแทนของสินทรัพย์เงินสำรองฯ ที่ถือต่ำกว่าต้นทุนในการได้มาซึ่งสินทรัพย์เหล่านั้น รวมถึงการสูญเสียมูลค่าบางส่วนจากการตีราคาสินทรัพย์ในรูปเงินสกุลในประเทศเมื่อค่าเงินแข็งค่าขึ้น และค่าเสียโอกาสในการนำเงินสำรองฯ ส่วนเกินไปลงทุนในสินทรัพย์ที่ให้ผลตอบแทนมากกว่าสินทรัพย์สภาพคล่องที่ถืออยู่
นอกจากนั้น ยังมีต้นทุนที่ไม่ใช่ตัวเงิน โดยเฉพาะการลดแรงจูงใจในการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนของผู้ส่งออก และอาจไม่เอื้อให้ผู้ประกอบการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต
ก่อนหน้านี้นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการ ธปท.ออกมาตอบโต้แนวคิดการนำเงินทุนสำรองฯ ไปลงทุนในด้านต่างๆ โดยเฉพาะการวางระบบโครงสร้างพื้นฐานของประเทศว่า การนำทุนสำรองฯไปใช้จำเป็นต้องมาแลกเป็นเงินบาทออกไป เพราะเงินสำรองฯที่อยู่กับธปท.นั้นไม่ได้เป็นของธปท.เพียงแต่ธปท.ทำหน้าที่รับฝากไว้และเงินส่วนนี้เป็นเงินที่มีต้นทุนด้วย