Analysis: ยูเอ็นเผยราคาอาหารทั่วโลกพุ่งเป็นผลจากภัยแล้งในสหรัฐ

ข่าวต่างประเทศ Friday August 24, 2012 14:34 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ฟิลิปปินส์และประเทศอื่นๆทั่วโลกกำลังประสบกับภาวะราคาอาหารแพง ซึ่งจะส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อให้สูงขึ้น และทำให้เศรษฐกิจของประเทศเหล่านี้ชะลอตัวลงด้วย

ฝนที่ตกอย่างหนักในช่วงมรสุมอันเนื่องมาจากพายุไต้ฝุ่นหลายลูกนั้น ไม่เพียงแต่ก่อให้เกิดอุทกภัยครั้งใหญ่ในกรุงมะนิลา เมืองหลวงของฟิลิปปินส์เท่านั้น แต่ยัง่งผลกระทบต่อพื้นที่ปลูกข้าวในเกาะลูซอนตอนกลาง ซึ่งขึ้นชื่อว่าเป็นอู่ข้าวของฟิลิปปินส์

เจ้าหน้าที่รัฐบาลฟิลิปปินส์กล่าวว่า การที่ห่วงโซ่อุปทานส่วนหนึ่งชะงักงันลงนั้น ทำให้ราคาอาหารปรับตัวสูงขึ้นด้วย โดยการเพิ่มขึ้นของราคาอาหารซึ่งคิดเป็น 39% ที่ใช้คำนวนในดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ของฟิลิปปินส์นั้น ได้หนุนอัตราเงินเฟ้อให้พุ่งขึ้นสู่ระดับสูงสุดในรอบ 6 เดือนในเดือนก.ค.ที่ผ่านมา

สถาบันสถิติแห่งชาติฟิลิปปินส์รายงานว่า แม้แต่ก่อนเกินอุทกภัยครั้งรุนแรงในสัปดาห์ที่แล้ว ดัชนีราคาอาหารในเดือนก.ค.ยังสูงขึ้น 2.2% ภายหลังสูงขึ้น 2.0% ในเดือนมิ.ย.

ขณะที่ถ้อยแถลงจากองค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) ระบุว่า ราคาอาหารทั่วโลกในเดือนก.ค.เพิ่มขึ้น 6% หลังจากที่ปรับลดลงในช่วง 3 เดือนก่อนหน้านั้น โดยมีสาเหตุส่วนใหญ่มาจากราคาธัญพืชและน้ำตาลที่สูงขึ้น

FAO ระบุว่า ราคาอาหารที่สูงขึ้นเป็นผลจากภัยแล้งที่ยาวนานในสหรัฐ ซึ่งส่งผลกระทบอย่างหนักต่อผลผลิตข้าวโพด และดันราคาข้าวโพดสูงขึ้น 23% ในเดือนก.ค.

รายงานก่อนหน้านี้โดยสำนักข่าวซินหัวระบุว่า พื้นที่บางแห่งในอินเดีย ซึ่งรวมทั้งจังหวัดที่ผลิตน้ำตาลนั้น ประสบภัยแล้งอย่างรุนแรงเนื่องจากฝนแล้ง แม้อินเดียกำลังเริ่มเข้าสู่ฤดูมรสุมก็ตาม

อย่างไรก็ดี กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) และธนาคารโลกคาดการณ์ว่า วิกฤติราคาอาหารจะไม่ขยายวงกว้างอย่างที่เคยเกิดในปี 2550-2551

"เราไม่คาดว่าจะเกิดวิกฤติครั้งใหญ่ในขณะนี้" นายเจอร์เกน โวเอเกเล ผู้อำนวยการด้านการเกษตรและการพัฒนาชนบทของธนาคารโลกกล่าว

นายโวเอเกเลกล่าวว่า ทั่วโลกมีอาหารเพียงพอ แต่ก็กล่าวว่า ไม่มีใครคาดการณ์อะไรได้ และหากเกิดเหตุการณ์ที่ไม่ปกติขึ้น เราก็อาจตกอยู่ในสถานการณ์ที่ยากลำบากอีกครั้ง

ข้อมูลของธนาคารโลกระบุว่า ต้นทุนอาหารโดยรวมปรับตัวสูงขึ้น แต่ไม่ถึงระดับสูงสุดในปี 2550-2551 ซึ่งในช่วงปีดังกล่าวนั้นประชาชนนับล้านได้กลายเป็นคนยากจน เนื่องจากาคาอาหารถีบตัวสูงขึ้นอย่างรุนแรง ในขณะที่ราคาน้ำมันทะยานขึ้นด้วย

ทั้งนี้ นับตั้งแต่ปี 2551 หลายประเทศพยายามปรับปรุงความสามารถในการผลิต และการลงทุนในภาคการเกษตรเพิ่มขึ้น โดยธนาคารโลกได้สนับสนุนการลงทุนในภาคการเกษตรเป็นเงิน 9.5 พันล้านดอลลาร์ต่อปี จากเดิม 2.5 พันล้านต่อปีในปี 2551

บทวิเคราะห์โดย อาลิโต แอล มาลิเนา จากสำนักข่าวซินหัว


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ