"ชัจจ์"เผยปรับโครงสร้างรฟท.แยก 3 หน่วยธุรกิจ-พัฒนาโครงข่ายทางคู่รองรับAEC

ข่าวเศรษฐกิจ Friday September 7, 2012 14:21 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

พล.ต.ท.ชัจจ์ กุลดิลก รมช.คมนาคม ในฐานะผู้กำกับดูแลการรถไฟแห่งประเทศไทย(รฟท.) เปิดเผยว่า รัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณมูลค่า 1.76 แสนล้านบาทเพื่อปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญของการรถไฟแห่งประเทศไทย อาทิ ระบบทางคู่ (873 กม.) และรถจักรใหม่กว่า 70 คัน ตลอดจนรถโดยสารและรถขนส่งสินค้าใหม่ 605 คัน ที่จะช่วยยกระดับการให้บริการทั้งในด้านความปลอดภัย ความสะดวกรวดเร็ว การตรงต่อเวลา และปริมาณขบวนที่เพิ่มขึ้น ตลอดจนสนับสนุนให้การรถไฟแห่งประเทศไทยดำเนินการปรับโครงสร้างให้อยู่ในรูปแบบหน่วยธุรกิจ(Business Unit: BU) ที่มุ่งเน้นในด้านการดำเนินงานที่มีความคล่องตัวสูง สามารถตอบสนองต่อความต้องการของตลาดทั้งในส่วนการโดยสารและการขนส่งสินค้าเพื่อให้การรถไฟแห่งประเทศไทยสามารถให้บริการในระดับที่สามารถแข่งขันในด้านราคาและคุณภาพกับการขนส่งในรูปแบบอื่น ๆ อย่างมีประสิทธิภาพ

สำหรับในเบื้องต้น การรถไฟแห่งประเทศไทย จะประกอบไปด้วย 3 หน่วยธุรกิจ คือ 1) หน่วยธุรกิจการเดินรถ ที่รับผิดชอบในด้านการกำหนดตารางเดินรถให้สอดคล้องต่อความต้องการของตลาดทั้งในส่วนการโดยสารและการขนส่ง 2) หน่วยธุรกิจการซ่อมบำรุง ที่รับผิดชอบในด้านการสนับสนุนความพร้อมของรถจักรรวมทั้งการควบคุมค่าใช้จ่ายของรถจักร และล้อเลื่อนให้อยู่ในระดับที่สามารถแข่งขันกับการขนส่งในรูปแบบอื่น ๆ และ 3) หน่วยธุรกิจการบริหารทรัพย์สิน ที่รับผิดชอบในการหาประโยชน์จากที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทยในการที่จะนำมาสนับสนุนการดำเนินงานโดยในระยะแรกจะเป็นเรื่องของการลดภาระหนี้สิน อาทิ ภาระบำเหน็จบำนาญ เป็นต้น

โดยหน่วยธุรกิจทั้งสามยังคงเป็นหน่วยงานภายใต้การรถไฟแห่งประเทศไทย แต่มีการปรับแนวทางและระเบียบการดำเนินการให้มีความคล่องตัวในการปฏิบัติงานให้บรรลุเป้าหมายเชิงยุทธศาสตร์ขององค์กร สำหรับในส่วนของการอื่นๆ ของการรถไฟแห่งประเทศไทย จะทำหน้าที่ในด้านการวางแนวนโยบายและประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนการพัฒนาและดูแลรักษาโครงสร้างพื้นฐาน อาทิ โครงข่ายทางรถไฟ ระบบอาณัติสัญญาณ และงานบุคลากรและการบริหารทั่วไป ทั้งนี้อำนาจของผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทยยังคงมีเช่นเดิม แต่มีการมอบอำนาจให้หัวหน้าหน่วยธุรกิจตัดสินใจในประเด็นด้านการปฎิบัติงานเพื่อเป็นการสร้างความคล่องตัวในการให้บริการของการรถไฟแห่งประเทศไทย

อย่างไรก็ดี การลงทุน 1.76 แสนล้านบาทนั้นจะต้องใช้เวลาอย่างน้อย 3-5 ปี กว่าประชาชนจะรู้สึกถึงความเปลี่ยนแปลงในการให้บริการของการรถไฟแห่งประเทศไทย เนื่องจากระยะเวลาที่ใช้ในการก่อสร้างทางคู่และจัดหารถจักรและล้อเลื่อน โดยคาดการณ์ว่าภายในปี 2563 การรถไฟแห่งประเทศไทยสามารถเพิ่มปริมาณการขนส่งสินค้าจาก 11 ล้านตัน ในปี 2553 มาเป็น 37 ล้านตัน และปริมาณผู้โดยสารจาก 48 ล้านคนในปี 2553 มาเป็น 71 ล้านคน โดยขบวนรถโดยสารจะมีความเร็วเฉลี่ยเพิ่มขึ้นเป็น 90-100 ก.ม./ชั่วโมง จาก 50-60 ก.ม./ชั่วโมงในปัจจุบัน ซึ่งหากการรถไฟสามารถดำเนินการได้ตามที่ได้คาดการณ์ไว้ก็จะช่วยประหยัดพลังงานให้กับประเทศได้ถึงปีละ 2-3 หมื่นล้านบาทต่อปี และยังยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ เนื่องจากต้นทุนของโลจิสติกส์จะลดลงอีกด้วย

"หากการปรับโครงสร้างในครั้งนี้ประสบผลสำเร็จ กระทรวงคมนาคมก็จะพยายามผลักดันให้โครงข่ายเส้นทางรถไฟเป็นทางคู่ทั้งหมดรวมทั้งจัดสร้างเส้นทางใหม่ ๆ โดยเฉพาะการเชื่อมโยงกับประเทศต่างๆ ใน AEC รวมทั้งพัฒนาและยกระดับบุคลากรที่เกี่ยวข้องกับระบบรางให้สอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลงในด้านเทคโนโลยีและรูปแบบการให้บริการ เพื่อให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางในการคมนาคมและโลจิสติกส์ด้วยระบบรางในทศวรรษหน้า" รมช. คมนาคม กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ