(เพิ่มเติม) "ดร.โกร่ง"แนะภาคการเงินไทยปรับกฎระเบียบ-โครงสร้างภาษี รับมือ AEC

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday September 13, 2012 16:21 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายวีรพงษ์ รามางกูร ประธานคณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อการฟื้นฟูและสร้างอนาคตประเทศ กล่าวในงานปาฐกาพิเศษ เรื่อง "เพิ่มพลังขีดแข่งขันรับบริบทใหม่ AEC" ว่า สถาบันการเงินไทยจะต้องปรับตัวรองรับการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) โดยการปรับปรุงกฎระเบียบ กรอบการกำหนดนโยบายการเงิน ที่ยังมีความแตกต่างกันในปัจจุบัน เช่นมาตรฐานบาเซิล 3 ดังนั้นทางการต้องมีวิสัยทัศน์ในเรื่องนี้หลังการรวมตัวของอาเซียนแล้ว ข้อแตกต่างดังกล่าวจะต้องทำให้สอดคล้องกัน แต่เชื่อว่าที่ประชุมธนาคารกลางอาเซียนคงมีการหารือในเรื่องนี้กันมามากแล้ว

นอกจากนี้ ยังมีเรื่องการปรับโครงสร้างภาษี เช่น ภาษีเงินปันผล หากไทยยังมีอัตราภาษีสูง ในขณะที่ประเทศอื่นๆ ไม่มีภาษี ทำให้เงินไหลไปลงทุนในประเทศที่ไม่มีภาษี เช่น ในฮ่องกง สิงคโปร์ มลายู ดังนั้นหลังการเปิด AEC จะมีเงินฝากไหลไปสถาบันการเงินที่ไม่มีภาษี ทำให้สถาบันการเงินไทยเสียเปรียบ ส่วนภาษีเงินได้นิติบุคคล ได้มีการปรับลดเหลือ 23% ในปีนี้ และเหลือ 20% ในปีหน้า จากนั้นจะมีการพิจารณาเรื่องภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ซึ่งปัจจุบันมีอัตราภาษีสูงถึง 37% ต้องเปรียบเทียบกับประเทศอื่นในอาเซียนเพื่อไม่ให้เกิดความแตกต่างกันมาก

ส่วนธนาคารพาณิชย์ไทยที่เร่งเปิดสาขาในประเทศเพื่อนบ้าน มองว่ามีความสำคัญน้อยลง เนื่องจากมีค่าใช้จ่ายสูง และการมีระบบโทรคมนาคม การจัดส่งข้อมูลต่างๆ มีความสะดวกมากขึ้น ดังนั้นการเปิดสาขาต่างประเทศจึงมีความจำเป็นน้อยลง

ม.ร.ว.พงษ์สวัสดิ์ สวัสดิ์วัฒน์ รมว.อุตสาหกรรมก กล่าวว่า อุตสาหกรรมไทยที่ได้โอกาสจากการเปิด AEC คือกลุ่มยานยนต์ ชิ้นส่วนยานยนต์ เนื่องจากตลาดที่ใหญ่ขึ้น ทำให้สามารถส่งออกได้มากขึ้น แต่กลุ่มที่เสียโอกาส คือเฟอร์นิเจอร์ เนื่องจากลูกค้ามีทางเลือกมากขึ้น ส่วนกลุ่มที่เสียเปรียบอยู่แล้วและจะเสียเปรียบมากขึ้น คือกลุ่มผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมี เนื่องจากต้องแข่งขันกับประเทศมาเลเซีย อินโดนีเซีย ที่มีความแข็งแกร่งในอุตสาหกรรมนี้อยู่แล้ว

อย่างไรก็ตามมองว่า การเปิด AEC ประเทศที่มีความพร้อมมากที่สุดคือ สิงคโปร์และมาเลเซีย ส่วนไทยมีความพร้อมทางด้าน know how เงินทุน และการค้าชายแดนกับประเทศพม่า ลาว กัมพูชา เวียดนาม และความได้เปรียบด้านแรงงานต้นทุนต่ำ ระบบขนส่ง แต่ไทยต้องมีการเชื่อมต่อระบบขนส่งการค้าชายแดนให้สำเร็จด้วย ส่วนอินโดนีเซียได้เปรียบด้านภาษา และวัฒนธรรมที่คล้ายคลึงกัน

นายกฤษดา ทรัพย์ทวยชน กรรมการบริหาร บมจ.ไลท์ติ้ง แอนด์ อิควิปเมนท์(L&E) กล่าวในสัมมนา "ยกระดับอุตสาหกรรมไทยในสภาพแวดล้อมใหม่รับ AEC" ว่า ปัจจุบันบริษัทได้ขยายตลาดส่งออกไปในอาเซียน โดยเริ่มจากประเทศเวียดนาม ด้วยการนำสินค้าเข้าไปเจาะตลาดโครงการ เนื่องจากมองว่าประเทศในอาเซียนจะต้องมีการพัฒนาหลายโครงการเกิดขึ้น

จากนั้นบริษัทได้เข้าไปทำตลาดที่ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ โดยสิงคโปร์ได้ทำตลาดโคมไฟให้แก่สถานีรถไฟฟ้า ส่วนพม่า บริษัทฯ ได้ทำโคมไฟทั้งระบบในเมืองเนปิดอร์ ขณะที่กัมพูชา บริษัทฯ ได้วางเครือข่ายไว้แล้ว ซึ่งเมื่อตลาด AEC เปิด จะทำให้บริษัทจะมีเครือข่ายด้านการตลาดที่มีความพร้อม ซึ่งคาดว่าจะเพิ่มสัดส่วนรายได้จากส่งออกได้เป็น 50% จากปัจจุบันที่บริษัทมีสัดส่วนการส่งออกเพียง 10% และจำหน่ายในประเทศถึง 90%

นายกฤษดา กล่าวว่า บริษัทฯ จะเร่งสร้างมาตรฐานสินค้าด้วยการลงทุนห้องแล็ปทางแสง ซึ่งจะต้องได้มาตรฐานสากล โดยต้องมีการลงทุนห้องปฏิบัติการต่างๆ เพื่อให้ลูกค้าเกิดความเชื่อมั่น และรองรับการซื้อขายระหว่างประเทศในอนาคต

สำหรับสิ่งที่อยากให้ภาครัฐช่วยก่อนที่จะเข้าสู่ AEC คือ สนับสนุนธุรกิจ SMEs ทั้งในด้านของเงินทุน, เทคโนโลยี และโครงสร้างภาษี รวมทั้งลดขั้นตอนในการออกเอกสารใบอนุญาตต่างๆ ให้เร็วขึ้น และกำหนดเวลาการออกเอกสารที่แน่นอน เพื่อลดการเสียโอกาสในการทำการค้า ขณะเดียวกันจะต้องปรับปรุงระบบภาษีให้ทันสมัย และเน้นการพัฒนาแรงงานฝีมือในประเทศ

ด้านนายจรัสพล รุจิราโสภณ ผู้อำนวยการกิจการ QSR บมจ. ส.ขอนแก่นฟู้ดส์(SORKON) กล่าวว่า การเปิดตลาด AEC จะเป็นผลบวกต่อธุรกิจอาหารของไทย ซึ่งปัจจุบันอาหารไทยที่ส่งออกไปทั่วโลกทั้งยุโรป สหรัฐฯ และประเทศต่างๆ คุณภาพอยู่ในระดับเทียบเท่าอาหารญี่ปุ่นและเกาหลี เพียงแต่ผู้ประกอบการไทยต้องสร้างระบบการทำงานให้มีประสิทธิภาพ มีมาตรฐาน และสร้างแบรนด์ให้เป็นที่ยอมรับ อีกทั้งต้องนำเทคโลโยเข้ามาใช้ให้มากที่สุด


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ