"หม่อมอุ๋ย"แนะใช้กรอบเงินเฟ้อ-นโยบายอัตราแลกเปลี่ยนผสมผสาน,"ธีระชัย"ห่วงฟองสบู่

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday September 25, 2012 18:29 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล อดีตรองนายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง ในฐานะอดีตผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)กล่าวในการเสวนาเรื่อง"บทบาทหน้าที่ของธนาคารกลางท่ามกลางความเปลี่ยนแปลง"ในการสัมมนาวิชาการประจำปี 55 ของ ธปท.ว่า ความผันผวนของเศรษฐกิจโลกปัจจุบันและมีแนวโน้มมากขึ้นในอนาคต ดังนั้นการที่ ธปท.จะใช้นโยบายการเงินภายใต้กรอบอัตราเงินเฟ้ออย่างเดียวไม่น่าจะเพียงพอต่อการรักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจไทย จึงต้องผสมผสานนโยบายอัตราแลกเปลี่ยนด้วย เพื่อให้สามารถรักษาสถานะแข่งขันของผู้ประกอบการผู้ส่งออกที่จะได้รับผลกระทบจากความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนในตลาดโลก

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ประชาชนต้องการให้ ธปท.มีบทบาทในการทำหน้าที่ธนาคารกลาง ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจโลก ได้แก่ การเป็นองค์กรที่พึ่งพาได้ในเรื่องเศรษฐกิจ ติดตามปัญหาเศรษฐกิจอย่างใกล้ชิด และเตรียมการแก้ปัญหาไว้ล่วงหน้า การดูแลอัตราแลกเปลี่ยนให้มีเสถียรภาพ ซึ่งแม้ว่าที่ผ่านมา ธปท.ทำหน้าที่นี้ได้ดีมาโดยตลอด แต่น่าจะเพิ่มความยืดหยุ่นมากขึ้น คำนึงถึงอัตราการเติบโตของประเทศ และควรเป็นอิสระจากฝ่ายการเมือง แต่ยังต้องรักษาสัมพันธ์ที่ดีต่อกระทรวงการคลัง เพราะทั้ง 2 หน่วยงานจำเป็นต้องทำงานร่วมกัน

นอกจากนั้นต้องดูแลเสถียรภาพสถาบันการเงินให้มีความมั่นคงแข็งแรง และมีการออกกฎเกณฑ์ให้เหมาะสมกับสภาวะเศรษฐกิจ ขณะเดียวกันต้องไม่เข้มงวดจนทำให้สถาบันการเงินไม่สามารถปล่อยสินเชื่อได้ และเมื่อสถาบันการเงินมีปัญหา ธปท.ก็จะต้องแก้ไขปัญหาได้โดยเร็ว

ขณะที่ นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีต รมว.คลัง และอดีตเลขาธิการ คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์(ก.ล.ต.)กล่าวว่า แม้ธปท.จะใช้การกำหนดเป้าหมายอัตราเงินเฟ้อเป็นหลักในการบริหารนโยบายการเงิน แต่ก็ไม่สามารถปฏิเสธถึงความสำคัญที่จะใช้นโยบายอัตราแลกเปลี่ยนควบคู่กัน เนื่องจากสภาวะแวดล้อมทางการเงินไทยในปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงไปมาก ทั้งตลาดเงินและตลาดทุนที่มีขนาดใหญ่ขึ้น แต่ขณะที่ยังมีข้อจำกัดของการจัดการความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน แม้ผู้ประกอบการได้ทำประกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนไว้ล่วงหน้าแล้วก็ตาม

“ที่ผ่านมาการใช้กรอบเป้าหมายเงินเฟ้อของไทยค่อนข้างทำออกมาได้ผลดี แต่ไม่ได้เมินเฉยต่อการดูแลอัตราแลกเปลี่ยน เพราะต่อให้ใช้กรอบเป้าหมายเงินเฟ้อ ก็คงหนีไม่พ้นที่ต้องดูแลอัตราแลกเปลี่ยน เนื่องจากตลาดเงินตลาดทุนไทยมีขนาดใหญ่ รวมทั้งปัญหาในยุโรปทำให้มีเงินไหลเข้ามาลงทุนในไทยจำนวนมาก อาจเป็นปัญหาฟองสบู่ที่หวนกลับมา รวมทั้งกระบวนการบริหารความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนยังมีสภาพคล่องต่ำ และผู้ประกอบการไทยที่ต้องปรับตัว ท่ามกลางระบบการเงินไทยที่ยังมีข้อจำกัด การแข่งขันในระบบยังไม่เพียงพอ"นายธีระชัย กล่าว

นายธีรชัย กล่าวว่า ขณะนี้เกิดความกังวลกรณีที่สถาบันการเงินไทยเริ่มออกไปกู้ยืมเงินในต่างประเทศที่มีอัตราดอกเบี้ยต่ำกว่าการกู้ยืมเงินบาทในไทย รวมทั้งซื้อผลิตภัณฑ์ทางการเงินต่างชาติที่ให้ผลตอบแทนสูง ดังนั้น หากในอนาคตเกิดปัญหากับสถาบันการเงินผู้ออกผลิตภัณฑ์ก็จะกระทบมาถึงสถาบันการเงินไทยที่ไปลงทุนได้ และอาจจะเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดปัญหาฟองสบู่ซ้ำรอยวิกฤตทางการเงินในอดีต

ด้านนายณรงค์ชัย อัครเศรณี อดีตรมว.พาณิชย์ ในฐานะคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.) ระบุว่า การดำเนินนโยบายการเงินมีเป้าหมายหลักคือการรักษาเสถียรภาพทั้งด้านราคา อัตราดอกเบี้ย และอัตราแลกเปลี่ยน ไม่ใช่คำนึงถึงการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจเป็นหลักเพียงอย่างเดียว ซึ่งในปัจจุบัน กนง. ได้นำทุกปัจจัยที่เกี่ยวข้องมาพิจารณาการดำเนินนโยบายอยู่แล้ว โดยไม่ได้ยึดติดในเรื่องของการดำเนินนโยบายการเงินผ่านกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อเพียงอย่างเดียว.


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ