สศก.ชี้ราคายางพุ่งตามศก.โลกฟื้น, แนะรัฐเร่งพัฒนาอุตฯปลายน้ำก่อนเปิดAEC

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday October 4, 2012 15:04 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายจารึก สิงหปรีชา ผู้อำนวยการศูนย์ติดตามและพยากรณ์เศรษฐกิจการเกษตร (KU - OAE Foresight Center : KOFC) คาดว่า ประมาณปลายเดือน ต.ค. - ต้นเดือน พ.ย. 2555 ราคายางพาราในประเทศไทย น่าจะแตะที่ระดับ 100 บาท/กก. ซึ่งเป็นผลมาจากปัจจัยภายนอกเป็นสำคัญ โดยเฉพาะสถานการณ์เศรษฐกิจโลกที่เริ่มส่งสัญญาณดีขึ้น ภายหลังสหรัฐอเมริกาประกาศมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณรอบที่ 3 (QE3) ซึ่งส่งผลดีต่อสภาพคล่องของเศรษฐกิจโลกโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ยอดจำหน่ายยานพาหนะในสหรัฐอเมริกาเดือนกันยายนนี้เพิ่มขึ้นร้อยละ 13 จากเดือนเดียวกันในปีก่อน และเพิ่มมากที่สุดนับตั้งแต่เดือนมีนาคม 2551

ในขณะเดียวกันปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจกลุ่มสหภาพยุโรปเริ่มชะลอตัว ประกอบกับอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของจีนเริ่มมีเสถียรภาพมากขึ้น ซึ่งส่งผลในเชิงบวกต่อทิศทางเศรษฐกิจโลก

อีกทั้งอุตสาหกรรมยานยนต์มีแนวโน้มฟื้นตัวตามภาวะเศรษฐกิจโลก, ประเทศผู้นำเข้าอาจจะเพิ่มการสต็อกยางในช่วงปลายปี เพื่อหลีกเลี่ยงการสั่งซื้อยางใช่วงฤดูยางผลัดใบ ซึ่งราคายางจะแพงกว่าปกติ

นอกจากนี้ ข้อตกลงของไตรภาคียางพาราประกอบด้วยไทย อินโดนีเซีย และ มาเลเซีย ในการออกมาตรการรักษาเสถียรภาพราคายางพาราด้วยการลดการส่งออก 3 แสนตัน เริ่มมีผลตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.ที่ผ่านมาและประเทศเวียดนามเป็นประเทศที่ 4 ตอบตกลงเข้าร่วมใช้มาตรการนี้ด้วย ก็เป็นปัจจัยสำคัญที่ผลดันให้ราคายางขยับตัวสูงขึ้น

ส่วนนโยบายแทรกแซงราคายางของรัฐบาลด้วยการอนุมัติงบประมาณที่ใช้ในโครงการรับซื้อยางจากเกษตรกรก้อนแรก 15,000 ล้านบาท และ อีก 30,000 ล้านบาท รวมเป็นเงินทั้ง 45,000 ล้านบาทนั้น มองว่าปัจจัยนี้ถือว่ามีผลต่อราคายางในทางจิตวิทยา และถือเป็นปัจจัยภายในที่ยังต้องรอการประเมินผลในระยะถัดไป

"ตอนนี้อาจจะเร็วไปที่จะประเมินผลจากมาตรการลดการส่งออกของไตรภาคียางพาราและนโยบายแทรกแซงราคายางของรัฐบาล แต่ประเด็นเหล่านี้มีผลทางจิตวิทยาอย่างมากต่อราคายาง" นายจารึก กล่าว

ทั้งนี้ นายจารึก กล่าวต่อว่า ถ้านำเงินงบประมาณที่จะใช้แทรกแซงราคายางมาใช้สร้างอุตสาหกรรมปลายน้ำเพื่อรองรับอุตสาหกรรมต้นน้ำเสียตั้งแต่ตอนนี้ ยังมีเวลาเตรียมตัวก่อนที่ AEC จะมีผลบังคับใช้

"ผมสนับสนุนเรื่องอุตสาหกรรมยางต้นน้ำและปลายน้ำอย่างมาก เพราะจะทำให้อุตสาหกรรมยางพาราของประเทศไทยพัฒนาอย่างยั่งยืน เกษตรกรไม่ต้องกังวลว่าอุปทานในตลาดโลกจะมีมากน้อยแค่ไหน ราคายางจะตกเมื่อไหร่" นายจารึก กล่าว

นายอภิชาติ จงสกุล เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กล่าวถึงการเดินหน้าแทรกแซงราคายางของรัฐบาลในขณะที่เศรษฐกิจโลกเริ่มฟื้นตัวมีความจำเป็นหรือไม่ว่า ต้องยอมรับว่าราคายางอ่อนไหวและผันผวนตามปัจจัยภายนอกและภายในอย่างมาก สังเกตจากหลังมีข่าวรัฐบาลประกาศแทรกแซงราคายางราคาก็เริ่มส่งสัญญาณปรับตัวดีขึ้นในทันที และการอนุมัติงบประมาณก็เพื่อใช้รับซื้อผลผลิตจากเกษตรกรในช่วงที่ราคาตกต่ำ ในเมื่อช่วงนี้ราคายางปรับตัวดีขึ้นแล้ว รัฐบาลก็อาจจะยังไม่จำเป็นต้องใช้งบประมาณตรงนี้ในทันทีแต่เก็บไว้ใช้ในยามจำเป็น

"ถ้ารัฐบาลประกาศยกเลิกมาตรการนี้บางทีราคายางอาจจะตกฮวบเลยก็ได้ มันเป็นเรื่องทางจิตวิทยา"นายอภิชาติ กล่าว

สำหรับสถานการณ์การผลิตยางพาราของโลก พบว่า มีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดยมีสัดส่วนการผลิตประมาณ 80% ของการผลิตยางของโลกมาจาก 5 ประเทศหลัก คือ ไทย อินโดนีเซีย มาเลเซีย อินเดีย และ เวียดนาม โดยประเทศไทยคิดเป็นประมาณ 30% ของการผลิตทั้งโลก อย่างไรก็ตามพบว่าประเทศที่เริ่มมีบทบาทเพิ่มมากขึ้นในระยะ 5 ปีที่ผ่านมาคือ ประเทศเวียดนาม ซึ่งมีสัดส่วนการผลิตเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยมีสัดส่วนการผลิตประมาณ 7.0% ในปี 2554 รวมทั้งกัมพูชาก็เป็นประเทศผู้ผลิตรายใหม่ที่ต้องจับตามอง

ทั้งนี้ คาดว่าหลังประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนเริ่มมีผลในปี 2558 ผลผลิตยางพาราของโลกจะเพิ่มขึ้นเป็น 13.8 ล้านตัน จากปัจจุบันที่อยู่ที่ประมาณ 11.0 ล้านตันต่อปี ดังนั้น มองว่าหากรัฐบาลจัดสรรงบประมาณเพื่อส่งเสริมยางพาราในอุตสาหกรรมปลายน้ำ เชื่อว่าจะทำให้คุณภาพชีวิตเกษตรกรผู้ปลูกยางพาราของประเทศไทยดีขึ้นอีก


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ