In Focusไอเอ็มเอฟและเวิลด์แบงก์ ฟันธงเศรษฐกิจโลกฟื้นตัวช้า

ข่าวต่างประเทศ Wednesday October 10, 2012 15:46 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ต่างประสานเสียงออกมาในทำนองเดียวกับธนาคารโลกหรือเวิลด์แบงก์ถึงอาการป่วยของเศรษฐกิจโลกในปัจจุบันที่เปรียบได้กับคนป่วยที่พึ่งจะหายไข้ แต่ก็ยังไม่กลับมาแข็งแรงเหมือนเดิม มิหนำซ้ำยังอาจจะกลับมาป่วยหนักได้หากไม่รีบฟื้นฟู

IMF ระบุว่า การฟื้นตัวของเศรษฐกิจทั่วโลกจะอ่อนตัวลง เนื่องจากนโยบายต่างๆที่รัฐบาลแต่ละประเทศนำมาใช้นั้น ไม่สามารถฟื้นความเชื่อมั่นได้ โดยความเสี่ยงที่แนวโน้มเศรษฐกิจจะถดถอยนั้นมีอยู่มาก และยังมีมากขึ้นเรื่อยๆ

IMF ได้ปรับลดการประเมินการขยายตัวของเศรษฐกิจทั่วโลกในปีหน้าลงเหลือ 3.6% จากระดับ 3.9% ที่ได้มีการคาดการณ์ไว้ในเดือนก.ค. สำหรับการคาดการณ์ของการขยายตัวในปีนี้นั้น ถูกปรับลดลงมาอยู่ที่ 3.3% จากระดับ 3.5%

ทั้งนี้ อังกฤษเป็นหนึ่งในประเทศที่ถูกลดอันดับการคาดการณ์มากที่สุด โดย IMF คาดว่า เศรษฐกิจอังกฤษจะหดตัวลง 0.4% ในปีนี้ เมื่อเปรียบเทียบกับการคาดการณ์การขยายตัวในเดือนก.ค.ที่ 0.2% โดยในปีหน้า เศรษฐกิจอาจจะขยายตัว 1.1% ซึ่งเป็นตัวเลขที่ลดลงจากระดับการคาดการณ์ก่อนหน้านี้ที่ 1.4%

กระทรวงคลังอังกฤษชี้ว่า IMF ได้ย้ำถึงคำแนะนำที่ได้มีการให้ไว้ก่อนหน้านี้แล้วว่า จะต้องมีการดำเนินการเพื่อสร้างเสถียรภาพโดยอัตโนมัติ การผ่อนปรนนโยบายการเงิน และมาตรการเพื่อผ่อนคลายกระแสความเคลื่อนไหวของสินเชื่อ ซึ่งมาตรการเหล่านี้ล้วนเป็นสิ่งที่อังกฤษกำลังดำเนินการอยู่

เวิลด์แบงก์ชี้หนี้ยูโรโซนกระทบส่งออกเอเชีย

ธนาคารโลกเปิดเผยในรายงานแนวโน้มเศรษฐกิจว่า เศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชียตะวันออก ไม่นับรวมญี่ปุ่น จะขยายตัว 7.2% ในปี 2555 ลดลง 0.4% จากการคาดการณ์ที่เปิดเผยในเดือนพ.ค. และจะฟื้นตัวเล็กน้อยในปีหน้า

ธนาคารโลกระบุสาเหตุของการทบทวนปรับลดการขยายตัวของดัชนีผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ว่ามาจากการส่งออกที่ซบเซา ซึ่งเป็นผลจากวิกฤตหนี้ยูโรโซน

ธนาคารโลกระบุว่า อัตราการขยายตัวของจีดีพีในภูมิภาคเอเชียตะวันออกอาจฟื้นตัวสู่ระดับ 7.6% ในปี 2556 ขณะที่ความต้องการภายในประเทศที่คึกคักจะชดเชยการส่งออกที่อ่อนแอ ทั้งนี้จีดีพีของเอเชียตะวันออกขยายตัว 8.2% ในปี 2554

ธนาคารโลกยังได้เตือนถึงความเสี่ยงจำนวนมากสำหรับเศรษฐกิจภูมิภาคเอเชียตะวันออก โดยเฉพาะอย่างยิ่งความเสี่ยงจากวิกฤตหนี้ยูโรโซน ซึ่งธนาคารโลกระบุว่าอาจส่งผลให้การขยายตัวทางเศรษฐกิจลดลงกว่า 2% ในปีหน้า หากวิกฤตหนี้ยูโรโซนกลายเป็นภาวะความวุ่นวายทางการเงินขนานใหญ่

รายงานระบุว่า แม้ว่าโครงการซื้อพันธบัตรครั้งล่าสุดของธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) และคำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญเยอรมนีที่เห็นชอบกองทุนกลไกรักษาเสถียรภาพยุโรป (ESM) จะบ่งชี้ถึงความเสี่ยงที่ลดลงของวิกฤตที่รุนแรง แต่ความไม่แน่นอนยังคงมีอยู่

ทั้งนี้รายงานแนวโน้มเศรษฐกิจของธนาคารโลกครอบคลุมประเทศจีน อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ ไทย เวียดนาม กัมพูชา ฟิจิ ลาว มองโกเลีย พม่า ปาปัวนิวกินี หมู่เกาะโซโลมอน และติมอร์เลสเต

รายงานของธนาคารโลกยังเตือนว่า ยังคงมีความเสี่ยงจากภาวะชะลอตัวทางเศรษฐกิจจีนที่ชัดเจนมากกว่าที่คาดการณ์ในปัจจุบัน

การขยายตัวของเศรษฐกิจจีน ซึ่งอยู่ที่ 9.2% ในปี 2554 นั้น คาดว่า จะชะลอลงเหลือ 7.7% ในปีนี้ ซึ่งเป็นการปรับทวนลงจากการขยายตัว 8.2% ที่ประเมินไว้ในเดือนพ.ค. โดยมีสาเหตุจากการส่งออกที่ซบเซาและการขยายตัวด้านการลงทุนที่ลดลง

ธนาคารกลางกล่าวเสริมว่า แต่การขยายตัวอาจดีดขึ้นเป็น 8.1% ในปี 2556 จากมาตรการผ่อนคลายด้านสินเชื่อซึ่งออกโดยรัฐบาลจีน และการค้าโลกซึ่งคาดว่าจะขยายตัวขึ้น

มุมมองของ IMF ที่มีต่อการส่งออก

แม้ว่าประเทศที่พัฒนาแล้วจะมีอัตราการขยายตัวที่ค่อนข้างจะแข็งแกร่ง IMF ยังได้ปรับลดแนวโน้มการขยายตัวของประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ สำหรับในเอเชียนั้น แนวโน้มในระยะกลางและระยะยาวเรียกได้ว่า ความสดใสน้อยลงเมื่อเทียบกับประสิทธิภาพการขยายตัวในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา โดยการส่งออกที่ชะลอตัวลงนั้นเป็นผลมาจากความต้องการสินค้าที่ลดลงในประเทศแถบตะวันตก

โดยจีนซึ่งเป็นประเทศที่มีเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลกนั้น คาดว่า จะขยายตัว 7.8% ในปีนี้ ซึ่งเป็นตัวเลขที่ลดลงจากการคาดการณ์ก่อนหน้านี้ที่ 8% และ 8.2% ในปีนี้ นอกจากนี้ IMF ยังได้ปรับทบทวนการขยายตัวของอินเดียว่า จะขยายตัว 4.9% ในปีนี้ และ 6.1% ในปีหน้า

ทั้งนี้ ความต้องการที่อ่อนตัวลงส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของละตินอเมริกาด้วยเช่นกัน โดยความต้องการสินค้าภายในประเทศนั้นปรับตัวลง เนื่องจากรัฐบาลได้ใช้นโยบายคุมเข้ม ทาง IMF จีงได้ปรับลดคาดการณ์เศรษฐกิจบราซิลลงเหลือ 1.5% ในปีนี้ จากการคาดการณ์ก่อนหน้าที่ 2.5%

IMF ชี้กองทุน ESM เป็นกุญแจสำคัญในการแก้วิกฤตหนี้ และฟื้นฟูความเชื่อมั่น

IMF ชี้ถึงความสำคัญของกองทุน ESM ที่ได้มีการเปิดตัวไปเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา โดยระบุว่า การผนวกรวมนโยบายจัดเก็บภาษีและการใช้จ่ายทั่วทั้งยูโรโซนนั้นเป็นสิ่งที่จำเป็น เช่นเดียวกับมาตรการเพื่อริเริ่มกระบวนการของสหภาพการธนาคาร

IMF แนะว่า กองทุน ESM จะต้องเข้าไปแทรกแซงระบบธนาคาร และสนับสนุนประเทศต่างๆ ขณะที่ผู้นำของประเทศก็ต้องดำเนินการเพื่อให้เกิดความเป็นปึกแผ่นด้านเศรษฐกิจและการเงินอย่างแท้จริง

ทั้งนี้ นายฌอง คล็อด ยุงเกอร์ นายกรัฐมนตรีลักเซมเบิร์กและประธานกองทุน กล่าวว่า กองทุน ESM ถือเป็นความคืบหน้าครั้งประวัติศาสตร์ในการกำหนดอนาคตของสหภาพด้านการเงิน โดยกองทุนจะมีความสามารถในการปล่อยกู้ถึง 5 แสนล้านยูโร หรือ 6.50 แสนล้านดอลลาร์ภายในปี 2557

กองทุน ESM จะสามารถปล่อยกู้โดยตรงให้กับรัฐบาลต่างๆได้ แต่กองทุนก็ต้องซื้อตราสารหนี้ด้วยเช่นกัน เพื่อที่จะลดต้นทุนการกู้ยืมของประเทศที่มีหนี้สูงอย่างอิตาลีและสเปน

สำหรับในสหรัฐนั้น การขยายตัวยังคงขึ้นอยู่กับข้อตกลงเพื่อที่จะหลีกเลี่ยงภาวะหน้าผาการคลัง ซึ่งการลดการใช้จ่ายโดยอัตโนมัติและการขึ้นภาษีจะเริ่มมีผลในช่วงต้นปีหน้า หากผู้บริหารระดับนโยบายไม่สามารถตกลงกันได้เรื่องการชะลอมาตรการเหล่านี้ รวมถึงการเพิ่มเพดานหนี้ของสหรัฐ เศรษฐกิจของสหรัฐก็อาจจะหวนคืนสู่ภาวะถดถอย พ่วงด้วยผลกระทบที่รุนแรงต่อเศรษฐกิจทั่วโลก

หากมีการบรรลุข้อตกลง เศรษฐกิจสหรัฐก็จะขยายตัว 2.1% ในปีหน้า ซึ่งเป็นตัวเลขที่ลดลงจากการคาดการณ์เมื่อเดือนก.ค.ที่ 2.3% โดยในปีนี้ เศรษฐกิจขยายตัวสูงกว่าการคาดการณ์ โดยเศรษฐกิจขยายตัว 2.2% มากกว่าการคาดการณ์ที่ 2%

หนี้สินเรื้อรัง

IMF ระบุว่า การดำเนินการของรัฐบาลต่างๆยังไม่คืบหน้าเท่าไรนัก มาตรการเพื่อบรรเทาภาระหนี้สินที่เรื้อรังของภาคครัวเรือนนั้น ไม่สามารถแก้ปัญหาได้ ขณะที่การดำเนินการเพื่อเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับกรอบการกำกับดูแลแก่สถาบันการเงินและตลาดนั้น ยังเรียกได้ว่าอยู่ในลักษณะที่กระท่อนกระแท่น

แม้ว่า การสร้างฐานเงินทุนสำหรับธนาคารจะประสบผลสำเร็จ แต่ก็ไม่เพียงพอที่จะแก้ปัญหาการแบกรับความเสี่ยงที่สูงเกินไปในตลาดการเงินได้ IMF ได้เรียกร้องให้มีการดำเนินการมากกว่านี้ เพื่อบรรเทาปัญหาการว่างงานในระยะยาว โดยในประเทศที่พัฒนาแล้วนั้น การขยายตัวยังอยู่ที่ระดับต่ำเกินไปที่จะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญสำหรับปัญหาการว่างงาน

โดยอัตราว่างงานในสหรัฐนั้น ตกลงมาอยู่ที่ 7.8% เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นระดับต่ำที่สุดนับตั้งแต่เดือนม.ค. 2552 แต่ก็ยังสูงกว่าสถิติในช่วงเกือบ 20 ปีที่ผ่านมา ขณะที่อัตราว่างงานในยูโรโซนนั้น ยังอยู่ที่ระดับสูงเป็นประวัติการณ์ถึง 11.4% โดยสเปนและกรีซเป็นหนึ่งในสี่ของประเทศที่มีอัตราว่างงานสูงสุด

การที่หน่วยงานสำคัญทางเศรษฐกิจได้ออกมาเผยแพร่ทิศทางแนวโน้มของเศรษฐกิจ และมีส่วนทำให้ตลาดหุ้นพากันคอตกเป็นแถบๆนั้น แท้จริงแล้วทั้ง 2 หน่วยงานต้องการที่จะส่งสัญญาณให้เห็นถึงแนวโน้มที่จะเกิดขึ้น เพื่อให้ผู้มีส่วนรับผิดชอบทุกฝ่ายได้วางแผนและใช้มาตรการเพื่อให้เกิดเสถียรภาพทางเศรษฐกิจในที่สุด


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ